คดีตุกติกขาย ‘ยูดริงค์ ไอไดรฟ์’ อุทาหรณ์ ‘สตาร์ทอัพไทย’

28 มี.ค. 2564 | 12:45 น.

คดีตุกติกขาย ‘ยูดริงค์ ไอไดรฟ์’ อุทาหรณ์ ‘สตาร์ทอัพไทย’ : คอลัมน์ห้ามเขียน หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,665 วันที่ 28 - 31 มีนาคม 2564 โดย...พรานบุญ

กระฉ่อนไปทั้งวงการสตาร์ทอัพ และธุรกิจเทคคอมพานีในเมืองไทยในขณะนี้ ไม่มีอะไรครึกโครมกว่ากระแสข่าวนี้อีกแล้ว!

29 มีนาคม 2564 บรรดาคนหนุ่มสาวที่นิยมสร้างตัวเองผ่านบริษัทเทคโนโลยี บรรดาสตาร์ทอัพในเมืองไทยต้องจับตามองกันด้วยความระทึกใจ และต้องใส่ใจเป็นกรณีศึกษาในเรื่องการขายกิจการ การฮุบกิจการของสตาร์ทอัพ ที่คาดหวังว่าจะสร้างธุรกิจให้เติบใหญ่ แต่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะ “แย่งขายกิจการกัน” ของหุ้นส่วน...

คดีนี้ศาลอาญากรุงเทพใต้ ที่มีผู้พิพากษา 2 ท่านคือ “สมชาย พฤกษ์ชัยกุล-นนทพัทธ์ อัศวก้องเกียรติ” พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ “สิ-สิรโสมย์ บริสุทธิ์สุวรรณ์” ที่ฟ้อง “พีท-จิรายุ พิริยะเมธา” เป็นจำเลยที่ 1 “ปรางค์-อภินรา ศรีกาญจนา” ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า มีน้ำหนักให้รับฟังได้ คดีโจทก์มีมูล จึงให้ประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณาตาม พรบ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับหห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ตามคดีดำหมายเลข อ2772/2562 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563

ศาลจึงมีคำสั่งให้สอบปากคำให้การจำเลยทั้งสอง นัดตรวจพยานหลักฐานของคู่ความ และนัดไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ในวันที่ 29 มีนาคม 2564 เวลา 09.00 น.

ศาลสอบปากคำพบว่า การขายยูดริงค์ ไอไดรฟ์ออกไปในราคา 3 ล้านบาท แก่ บริษัท เอเชียพลัส แอสซิสแตนซ์ จำกัด ในขณะที่โจทก์ประเมินว่าน่าจะมีมูลค่า 50 ล้านบาท น่าจะเป็นการขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาท้องตลาดตามที่ควรจะเป็น

จำเลยที่ 2 คือ “ปรางค์-อภินรา ศรีกาญจนา” นอกจากเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการของ บริษัท ยูดริงค์ ไอไดรฟ์ แล้วยังเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด ที่มีบิดาเป็นประธานกรรมการบริหาร อันส่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงในลักษณะการมีส่วนได้ส่วนเสีย และจำเลยทั้งสองมีการตกลงทำสัญญาขายทรัพย์สินยูดริงค์ ไอไดรฟ์โดยไม่มีการเรียกประชุมผู้ถือหุ้น

พรานฯ ได้รับฟังเรื่องราวจากกระจิบ กระจาบ พิราบตัวน้อย ยันทนายความนักดื่มที่ใช้บริการคนขับรถ ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “คดีนี้มีแค่ยอมไกล่เกลี่ย-ต้องโทษฉ้อโกงตามกฎหมายอาญา” ของทายาทตระกูลดังเลยทีเดียวละขอรับนายท่าน

นักดื่มอาจเข้าใจเรื่องราว แต่ชาวบ้านอาจไม่เข้าใจคดีความสตาร์ทอัพที่กระฉ่อนเมือง พรานฯจะพาไปดูหนังดัง “ยูดริงค์ ไอไดรฟ์” U DRINK I DRIVE ธุรกิจ startup แพล็ตฟอร์มชื่อดังของประเทศไทยที่ “สายดื่ม” ทุกคนต้องรู้จัก ในนามพี่ “สูทสีฟ้า” ธุรกิจให้บริการพนักงานขับรถ ไปขับรถของคุณเพื่อพาคุณและรถกลับบ้านอย่างปลอดภัย ซึ่งถือเป็นแพล็ตฟอร์มดิจิทัลในการให้บริการผู้คนที่ตอบโจทย์ตรงจุดเจ้าแรกๆ ในปี 2557 ยุคบุกเบิกสตาร์ทอัพของเมืองไทยเลยก็ว่าได้ 

ผู้ริเริ่มไอเดียสุดบรรเจิดนี้ไม่ใช่ใคร เกิดจากโปรเจกต์ปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ของเพื่อนซี้ 2 คน “สิ-สิรโสมย์ บริสุทธิ์สุวรรณ์” กับ “มุ้งมิ้ง-ณิชมน วิริยะลัมภะ” สาวใสวัย 24-25 ปี ทั้งสองคนคว้าปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาด้วยเกรดเฉลี่ย 3.90 และ 4.00...เรียกว่า เกียรตินิยมดีมากทั้งคู่

ตอนเริ่มต้นมีหุ้นส่วนอยู่หลายคน ต่อมาหุ้นส่วนบางคนได้ขายหุ้นออกไป และ “ปรางค์-อภินรา ศรีกาญจนา” ทายาท “จุลพยัพ ศรีกาญจนา” เจ้าของบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด ก็ซื้อหุ้นและได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ U DRINK I DRIVE ในราคาต้นทุน และเข้ามาเป็นหุ้นส่วนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
 

ระยะแรกยูดริงค์ ไอไดรฟ์ ถือว่า เป็นธุรกิจ startup ดาวรุ่งพุ่งแรงอย่างมาก ชื่อคุ้นหู บริการตรงใจผู้คนที่ไม่ต้องการโดนตรวจจับ “เมาแล้วขับ” จากตำรวจที่ตั้งด่านยามราตรีทุกตรอกซอกซอยยันถนนใหญ่ไปทั่วบ้านทั่วเมือง

อัตราค่าโดยสารก็ไม่แพง 0-5 กม. แรกอยู่ที่ 500 บาท และทุกๆ 5 กม. เพิ่มขึ้น 50 บาท สูงสุดคือ 50 กม. ราคา 1,500 บาท ให้บริการเฉพาะในกรุงเทพและปริมณฑล

ระยะต้นผลตอบรับไม่ดีนัก แต่ผู้บริหารที่นำทัพในตอนนั้นคือ สิ-สิรโสมย์ กับ มุ้งมิ๊ง-ณิชมน ร่วมกันทำงานหามรุ่งหามค่ำจนสามารถทำให้กิจการเติบโตขึ้นมาจากคนใช้บริการหลักสิบคนต่อเดือน กลายเป็น 6,000-8,000 เที่ยวต่อเดือนได้ภายในระยะเวลาไม่นานนัก รายได้เริ่มเป็นกอบเป็นกำ แม้จะยังขาดทุนอยู่

จะว่าไปธุรกิจสตาร์ทอัพไม่ใช่เรื่องง่ายในการ “หาเงิน” แต่เป็นเรื่อง “โอกาสในอนาคต” เพราะการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคจากเมาแล้วขับ ให้กลายเป็นเมาแล้วเรียกใช้บริการ U DRINK I DRIVE ผ่านแอพลิเคชั่น หรือโทรศ์พท์ไปเรียก “พี่สูทฟ้า” มาขับให้ ซึ่งปกติแล้วแทบทุก startup เจอเหมือนกันคือ บริษัทขาดทุนต่อเนื่องติดต่อกันหลายปี จนกว่าจะถึงจุดที่สร้างกำไรได้ แต่หากบริษัทยังมียอดผู้ใช้บริการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ก็ยังถือว่าเป็นบริษัทที่มีอนาคตในมุมมองของนักลงทุน 

GRAB ที่ปัจจุบันทำธุรกิจแบบเดียวกันกับยูดริงค์ ไอไดรฟ์ คือตัวอย่าง บริษัทขาดทุนต่อเนื่องปีนึงเป็นพันล้านบาท แต่ก็ยังดำเนินธุรกิจมาได้ แถมยังมีการเติบโตอยู่ตลอดเวลา และยังเป็นบริษัทที่เนื้อหอมในหมู่นักลงทุน

ระยะทางความอึด และจำนวนผู้ใช้บริการจะเป็นจุดเปลี่ยนในการสร้างมูลค่าทางธุรกิจในอนาคต...แต่ยูดริงค์ ไอไดรฟ์ ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน ต้องเผชิญมหากาพย์แห่งความขัดแย้งของหุ้นส่วนที่ชวนเป็นอุทาหรณ์ startup 

เริ่มต้นเมื่อต้นปี 2561-2562 เมื่อมีนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศสนใจติดต่อร่วมลงทุน....ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสทองของสตาร์ทอัพปรางค์-อภินรา ได้เข้ามาเป็นกรรมการ โดยอ้างว่า เพื่อความคล่องตัวของบริษัท ด้วยความเชื่อใจ ไม่ได้สงสัยอะไรของ “สิ-มุ๊งมิง” จึงยอมให้ ปรางค์-อภินรา เข้ามาเป็นหนึ่งในกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม หลังจากที่ ปรางค์-อภินรา ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามใน บริษัท ยูดริงค์ ไอไดร์ฟ สิ-สิรโสมย์ ก็ถูกตัดขาดจากการบริหารบริษัท แม้จะเป็นกรรมการอยู่ก็ตาม

ปรางค์-อภินรา เริ่มต้นด้วยการกู้ยืมเงินจากบิดาของตัวเอง (นายจุลพยัพ ศรีกาญจนา) จำนวน 700,000 บาท กระจิบกระจาบพิราบน้อยต่างบอกว่า ไม่มีการประชุมกรรมการแต่อย่างใด 

แม้ “สิ-สิรโสมย์” จะยังดำรงตำแหน่งกรรมการอยู่ แต่ก็ไม่มีอำนาจอะไร เพราะ “ปรางค์-อภินรา กับ พีท-จิรายุ” ตัดเธอออกไปจากสารบบการมีส่วนร่วมในการบริหาร 
 

แล้วฟ้าก็ผ่าเปรี้ยงเข้าใจกลางดวงใจของบรรดาสตาร์ทอัพอย่าง “สิ-มุ๊งมิง” ช่วงพฤษภาคม 2561 ปรางค์-อภินรา และ พีท-จิรายุ ตกลงขายขายทรัพย์สินทั้งหมดของบริษัทออกไปในราคาแค่ 3 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขผูกมัดว่าจะได้เงินอีก 17 ล้านบาท

หากมีผู้ใช้บริการจาก 6,000 เที่ยว เพิ่มเป็น 18,000 เที่ยว ภายใน 1 ปี แม้ สิ-สิรโสมย์ จะมีความเห็นคัดค้านอย่างเต็มที่ แต่แพ้เสียงใหญ่หลังจากนั้น สิ-สิรโสมย์ ผู้ทำวิทยานิพนธ์ด้วยตัวเองในเรื่องนี้ก่อนแปลงออกมาเป็นธุรกิจก็ได้ถูกตัดขาดการรับรู้ในทุกๆทาง แม้กระทั่งการลงนามสัญญาขายกิจการ เธอก็ไม่ได้รับรู้ใดๆ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการฟ้องร้องคดี

การขายหุ้นครั้งนี้ของ ปรางค์-อภินรา และ พีท-จิรายุ แทบไม่ต่างจากการเลิกกิจการ เพราะบริษัทจะไม่เหลือทรัพย์สินใดๆ แอพพลิเคชั่น เครื่องหมายทางการค้า อุปกรณ์สำนักงาน โต๊ะ เก้าอี้ ผ้าม่าน ขายหมด

จึงเกิดคำถามขึ้นว่าในฐานะผู้ถือหุ้น หรือเจ้าของกิจการ การขายทรัพย์สินออกไปหมดบริษัทเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์กับบริษัทและผู้ถือหุ้นจริงหรือไม่ แม้กระทั่งตัว ปรางค์-อภินรา และ พีท-จิรายุ ในฐานะผู้ถือหุ้นได้ประโยชน์อะไรจากการขายครั้งนี้ แล้วตัวบริษัท U DRINK I DRIVE จะไปประกอบกิจการอะไรต่อ เพราะทั้ง 3 คน จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นอยู่ในบริษัทร้างที่ไม่เหลือทรัพย์สินใดๆให้ประกอบกิจการต่อไปแล้ว

30 ธันวาคม 2563 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้มีคำสั่งประทับฟ้องคดีที่ สิรโสมย์ บริสุทธิ์สุวรรณ์ เป็นโจทก์ฟ้อง อภินรา ศริกาญจนา และจิรายุ เกี่ยวกับการ นำทรัพย์สินและกิจการของ บริษัท ยูดริ้งค์ ไอไดรฟ์ไปขาย อันเป็นความผิดตาม ตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ซึ่งทำให้ อภินรา และจิรายุ ได้ตกเป็นจำเลย และต้องประกันตัว ภายในวันที่ 29 มีนาคม 2563 ซึ่งเป็นวันนัดสอบคำให้การจำเลย

คดียูดริงค์ ไอไดรฟ์กำลังเป็นกรณีศึกษาที่สตาร์ทอัพต้องติดตามด้วยความระทึกในฤทัย!