อุตสาหกรรมน้ำมันไม้กฤษณาไทย ก้าวที่ท้าทายภายใต้ “ความเสี่ยง”

28 มี.ค. 2564 | 02:53 น.

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย เขียนบทความเรื่อง "อุตสาหกรรมน้ำมันไม้กฤษณาไทย ก้าวที่ท้าทายภายใต้ความเสี่ยง" ดังนี้

อุตสาหกรรมน้ำมันไม้กฤษณาไทย ก้าวที่ท้าทายภายใต้ “ความเสี่ยง”

“ไม้กฤษณา”เป็นไม้เศรษฐกิจของอาเซียนและเอเซียเพราะปลูกมากในประเทศอินเดีย มาเลเซีย ฮ่องกง ออสเตรเลีย สปป.ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม แต่ละประเทศเรียกชื่อแตกต่างกันไป เช่น มาเลเซียและอินโดนีเซียเรียกว่า “Gaharu” ญี่ปุ่นเรียก “Jinko”  เยอรมันเรียก “Adlerholz” จีนเรียก “Chen Xiang”  ตะวันออกกลางเรียก “Oodh” และอินเดียเรียก “agra”

ในอดีตหลายพันปีก่อนน้ำมันกฤษณาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์แผนโบราณในหลายประเทศ เช่น Ayurveda (อินเดีย แก้ผมร่วงและโรคผิวหนัง) Unani (ตะวันออกกลางและมุสลิม) Tibetan (ธิเบต) Sufi (ตะวันออกกลาง) และจีน (ทำยา) โดยอินโดนีเซีย มาเลเซีย และอินเดียเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกมากที่สุดในโลก 

ส่วนประเทศไทยมีการปลูกมากที่สุดในจังหวัดตราด มีสัดส่วนร้อยละ 70 ที่เหลือปลูกในจังหวัดภาคตะวันออกและภาคใต้ รายงานจากกรมวิชาการเกษตร จังหวัดตราด พบว่าปี 2561 จังหวัดตราดปลูกใน 6 อำเภอ (จาก 7 อำเภอ) จำนวน 4.3 พันไร่ โดยปลูกมากในอำเภอเมือง บ่อไร่ และเขาสมิง

สำหรับมูลค่าของอุตสาหกรรมน้ำมันกฤษณาของไทยยังไม่มีการประเมินอย่างเป็นทางการ แต่มีการประเมินจากผู้ประกอบการบางท่านบอกว่า 5 แสนล้านบาท ผมประเมินว่าไม่น่าจะถึง ผมประเมินว่า “น่าจะต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท”

ไม้กฤษณาเป็นไม้เนื้ออ่อน ปลูกไปหลาย ๆ ปีก็จะไม่สามารถนำไปแปรรูปเพื่อเป็นเฟอร์นิเจอร์ได้ เว้นเสียแต่เราเอาไปทำร้ายไม้โดยการเจาะรู ผลิตภัณฑ์ไม้กฤษณาที่สามารถสร้างเงินได้ออกเป็น 3 ส่วนคือ 1.ชิ้นไม้ (wood chip) เพื่อให้กลิ่นหอมในบ้าน นิยมในประเทศตะวันออกกลาง 2.น้ำมันไม้กฤษณาใช้สำหรับอุตสาหกรรมน้ำหอม 3.ผงไม้กฤษณาใช้ทำธูปหอม

อุตสาหกรรมน้ำมันไม้กฤษณาไทย ก้าวที่ท้าทายภายใต้ “ความเสี่ยง”

สำหรับตลาดแบ่งออกเป็น 3 ตลาดสำคัญคือ 1.ตลาดตะวันออกกลาง ได้แก่ ซาอุอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ โอมาน และอิสราเอล ซึ่งนิยมนำน้ำมันหอมกฤษณาเพราะน้ำมันไม้ศักดิ์สิทธิ์ ใช้ประกอบในพิธีกรรมต่างๆ รวมทั้งใช้ทาตามตัวเพื่อป้องไรทะเลทราย และมีคุณสมบัติป้องกันแมลงกัดต่อย รวมทั้งบำรุงผิวอีกด้วย สำหรับกลิ่นน้ำมันกฤษณาที่ตลาดตะวันออกกลางต้องการแบ่งออกเป็น 2 กลิ่นคือ กลิ่นไม่ฉุน ซึ่งคนรุ่นใหม่ในประเทศอาหรับจะชอบ ส่วนกลิ่นสตรองหรือฉุนมาก คนมีอายุก็จะชอบ

2.ตลาดประเทศยุโรป ที่เอาไปเป็นหัวเชื้อใส่ในน้ำหอมยี่ห้อแบรนด์ดัง ๆ และ 3. ตลาดเอเซีย ญี่ปุ่น และไต้หวันเพื่อนำไปทำเครื่องสำอาง ใบไปทำชา ไปทำธูปหอม และโลชั่นทาผิว เป็นต้น

ผลผลิตไม้กฤษณาสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนที่ 1 เป็นเนื้อไม้ เรียกว่า “ไม้สีดำ” เนื้อหนามีน้ำมันมาก เป็นไม้ที่เจาะไว้ 10-12 ปีขึ้นไป แกะเนื้อไม้ออกมาตัดเป็นชิ้นสี่เหลี่ยม 2 นิ้ว ใช้จุดไฟ มีกลิ่นหอม ไม่แสบตา เป็นสินค้าเกรดพรีเมี่ยมราคาสูง 500,000 บาท/กก. ถ้าเป็นเกรดซูเปอร์พรีเมี่ยม ราคา 850,000 บาท/กก. ส่วนที่ 2 เนื้อไม้ที่นำไปกลั่นน้ำมัน นำเนื้อไม้ไปผ่า ตากแดด นำมาบด หมักและต้ม กลั่นในกระบวนการสกัดน้ำมัน ซึ่งน้ำมันที่ได้มากน้อยขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ทำแผลทิ้งไว้ ถ้า 10 ปีขึ้นไปจะได้น้ำมันมากและคุณภาพดี เกรดพรีเมี่ยมราคา 300,000-400,000 บาท/กก. และสุดท้ายเป็น ผลิตภัณฑ์ต่อยอด ใช้ส่วนผสมของน้ำมันกฤษณาในสบู่ น้ำมันนวด ครีม สบู่น้ำมันหอมไม้กฤษณา สบู่กฤษณาน้ำนมข้าวหอมมะลิ สบู่กฤษณาเพียวคาร์บอน สบู่ขัดผิว ครีมเซรั่ม แชมพูสมุนไพร ครีมนวดผม น้ำมันนวดสมุนไพร บรรเทาปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ สเปรย์ฉีดเท้า และฉีดรักแร้ ซึ่งในขณะ มีผลิตภัณฑ์เกือบ 40 ชนิด

สำหรับราคาของน้ำมันกฤษณา เมื่อ 2 ปีที่ผ่านราคาน้ำมันกฤษณามีราคาสูงมากอยู่ที่ 3 แสนบาทต่อ กก. หรือโตร่า (Tora) ละ 3,000-4,000 บาท โดย 1 โตร่าเท่ากับ 12 ซีซี (1 กก. เท่ากับ 86 โตร่า) ปี 2563 โควิดทำให้ราคาน้ำมันกฤษณาลดลงเหลือ 1,100 บาทต่อโตร่า สำหรับปี 2564 ราคา “ยังต้องลุ้นต่อไป” แต่จะไม่กลับไปสู้เท่าก่อนโควิดแน่นอน ทำให้เหลือกิโลละ 136,000 บาทเท่านั้น

อุตสาหกรรมน้ำมันไม้กฤษณาไทย ก้าวที่ท้าทายภายใต้ “ความเสี่ยง”

อย่างไรก็ตามมี 3 ประเทศขณะที่ผลักดัน “อุตสาหกรรมไม้กฤษณาครบวงจร” เพื่อสร้างรายได้กับประเทศคือ อินโดนีเซีย (ปลูก 400 อำเภอทั้งประเทศส่วนใหญ่อยู่ในเกาะสุมาตรา) มาเลเซีย (ปลูกเกือบทุกรัฐทั้งเพนนินซูลา ซาราวักและซาบาร์) และอินเดีย (รัฐ 7 สาวน้อย โดยเฉพาะรัฐอัสสัม) โดยมาเลเซียได้ประกาศว่าจะเป็นศูนย์กลางการซื้อขายไม้กฤษณาของอาเซียน จากเดิมที่มีการซื้อขายกันที่สิงคโปร์

แต่ปัจจุบันอินเดียให้ความสำคัญกับการผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจเห็นได้จากการประกาศแผน “Assam Agrawood Promotion Policy 2020” โดยเมื่อปลายปี 2020 รัฐอัสสัมซึ่งเป็นเมืองหลวงไม้กฤษณา มีการตั้ง Assam Agra International Centre ที่เมือง Golaghat เพื่อช่วยเกษตกรและผู้ประกอบการครบวงจร ทำการค้าแบบ B2B ส่งเสริมวิจัย ห้องสมุด และงานแสดงสินค้า

ซึ่งอินเดียมีนโยบายในการผลักอุตสาหกรรมไม้กฤษณาดังนี้ 1. ให้เงินทุนแก่ภาคเอกชนและเกษตรกร 50% และหน่วยงานราชการ 100% ในยกระดับคุณภาพและพัฒนาเมล็ดพันธุ์และต้นอ่อนไม้กฤษณา 2.เพิ่มประสิทธิภาพการปลูกให้ 500 ต้นต่อไร่ (ประเทศไทยปลูก 400 ต้น/ไร่) และแจกพันธุ์ฟรี ครัวเรือนละ 10 ต้น 3.ส่งเสริมมีการรวมตัวของเกษตรกรและกลุ่มเอกชนเพื่อขยายพื้นที่ปลูก และเงินอุดหนุนแปลงละ 500 รูปี จนถึง 10 ปี 4.ทำเป็นเกษตรผสมผสานกับไร่ชา 5.ควบคุมปริมานการให้น้ำมันกฤษณาตั้งแต่เดือนตุลาคม ถึง เมษายน ของแต่ละปี

อุตสาหกรรมน้ำมันไม้กฤษณาไทย ก้าวที่ท้าทายภายใต้ “ความเสี่ยง”

6.ให้แรงจูงใจในการแปรรูปโรงงานขนาดเล็กตั้งแต่ 25-1,000 กก. ให้การสนับสนุนโรงงานและเครื่องจักรและเงินอุดหนุน 50% 7.ตั้ง The International Agarwood Trade Centre (IATC) ที่เมือง Golaghat รัฐอัสสัม เพื่อเป็นตลาดซื้อขาย 8.เงินอุดหนุนวิจัย 100% และ 9.ส่งเสริมการส่งออก โดยการสนับสนุนงานและไปร่วมแสดงสินค้า รวมทั้งให้การสนับสนุนการค้าออนไลน์ 50%

สถานการณ์อุตสาหกรรมไม้กฤษณาของไทยอยู่ “ภายใต้ความเสี่ยงทั้งภายในและนอกประเทศ” หากประเทศไทยต้องการให้อุตสาหกรรมไม้กฤษณาสร้างรายได้และการจ้างงาน 1.ต้องสร้างองค์กรหลักที่เป็นตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการ เกษตรและผู้ที่เกี่ยวข้องที่ทำไม้กฤษณา เพราะปัจจุบันนอกจากมีสมาคมการค้าน้ำมันไม้กฤษณาแล้ว ในจังหวัดต่างๆ ของไทยก็ยังมีวิสาหกิจชุมชนที่ทำเรื่องไม้และผลิตกฤษณาอีกมาก ซึ่งก็จะเหมือนกับสินค้าเกษตรอื่นๆ ของไทย ทีมีหลากหลายตัวแทน การนำเสนอปัญหาก็จะไปในคนละทิศละทาง อาจจะตั้งเป็น “สภาอุตสาหกรรมน้ำมันไม้กฤษณา” หรือ “สถาบันการพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมันไม้กฤษณาครบวงจร”

2.ต้องมียุทธศาสตร์การพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำมันกฤษณาของไทยเพื่อกำหนดทิศทาง 3.ผลักดันและอำนวยความสะดวกในการส่งออกไปตลาดต่างประเทศทุกรูปแบบ 4.ตลาดกลางซื้อขายผลิตภัณฑ์ไม้กฤษณา เพื่อให้ราคาเป็นตามกลไลตลาด