“บิ๊กแพ็กเกจ” ความหวัง ฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจ

27 มี.ค. 2564 | 23:00 น.

“บิ๊กแพ็กเกจ” ความหวัง ฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจ : คอลัมน์ฐานโซไซตี ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3665 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 28-31 มี.ค.2564 โดย... ว.เชิงดอย

+++ งัดมาตรการออกมาเป็นชุดใหญ่ เพื่อ “ฟื้นฟูธุรกิจ” ช่วยเหลือ ผู้ประกอบการธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบพิษของเชื้อโรคโควิด-19 ล่าสุด “รัฐบาลลุงตู่” โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 23 มี.ค.2564 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบตามที่ กระทรวงการคลัง โดย อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้เสนอมาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจ ประกอบไปด้วย 2 มาตรการ มาตรการแรก เป็นมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 250,000 ล้านบาท โดยกำหนดกลไกการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่มีพื้นฐานดี แต่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ให้เข้าถึงสินเชื่อในอัตราที่เหมาะสม ผ่านกลไกการลดความเสี่ยงด้านเครดิตของภาครัฐ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มดังกล่าว สามารถประคับประคองธุรกิจและรักษาการจ้างงาน รวมทั้งปรับธุรกิจเพื่อให้สอดรับกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากการระบาดของโควิดคลี่คลายลง  

+++ สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มีสินเชื่อกับสถาบันการเงิน แต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท สามารถขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 30% ของวงเงินสินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562 หรือ ณ วันที่ 28 ก.พ.2564 แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า แต่ต้องไม่เกิน 150 ล้านบาท และสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแห่งหนึ่งแห่งใด ณ วันที่ 28 ก.พ.2564 สามารถขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท โดยสถาบันการเงินจะคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรกของสัญญา และเฉลี่ยไม่เกิน 5% ต่อปี ในช่วง 5 ปีแรกที่สถาบันการเงินได้รับแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูกำหนดให้มีกลไกค้ำประกันสินเชื่อดังกล่าว เพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ประกอบธุรกิจ ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี ภาระชดเชยค้ำประกันสูงสุด 40% ของวงเงินสินเชื่อภายใต้โครงการ ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันโดยเฉลี่ยไม่เกิน 1.75% ต่อปี และรัฐบาลชดเชยค่าธรรมเนียมดังกล่าวโดยเฉลี่ยไม่เกิน 3.5% ต่อปี ตลอดสัญญา ขณะที่ กระทรวงมหาดไทย จะลดหย่อนค่าธรรมเนียมการจดจำนองหลักทรัพย์ค้ำประกันจากการดำเนินการตามมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู เหลือ 0.01% เพื่อลดภาระให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ

+++ ไปดู มาตรการที่ 2 เป็นการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิซื้อทรัพย์สินนั้นคืนในภายหลัง หรือที่เรียกว่า มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ หรือ โกดังหนี้ วงเงิน 100,000 ล้านบาท มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้นี้ สนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่ต้องรับภาระต้นทุนทางการเงินเป็นการชั่วคราว และไม่ถูกบังคับให้ขายทรัพย์สินหลักประกันในราคาต่ำกว่าสภาพความเป็นจริง (Fire Sale) ให้แก่กลุ่มทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งมีโอกาสกลับมาดำเนินธุรกิจโดยใช้ทรัพย์สินหลักประกันเดิมได้ภายหลังการระบาดคลี่คลายลง โดยให้สถาบันการเงินรับโอนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันของผู้ประกอบธุรกิจ หรือ เจ้าของทรัพย์สินหลักประกันที่โอนทรัพย์สินหลักประกัน เพื่อชำระหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจที่มีเงินกู้ที่มีอยู่กับสถาบันการเงิน และมีข้อตกลงให้สิทธิซื้อทรัพย์สินหลักประกันนั้นกลับคืนในภายหลังตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ “แบงก์ชาติ” กำหนด

+++ ทั้งนี้ รวมถึงราคาที่ผู้ประกอบธุรกิจ หรือ เจ้าของทรัพย์สินหลักประกันซื้อทรัพย์สินนั้นคืนจากสถาบันการเงิน โดย ธปท.จะสนับสนุนแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำให้สถาบันการเงิน เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถขายทรัพย์สินคืนให้ผู้ประกอบธุรกิจ หรือเจ้าของทรัพย์สินรายเดิม ในราคาที่ไม่สูงจนเกินไป นอกจากนี้ สถาบันการเงินสามารถให้ผู้ประกอบธุรกิจ หรือ เจ้าของทรัพย์สินเช่าทรัพย์สินนั้น ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในช่วงระยะเวลามาตรการ โดยกระทรวงการคลังจะยกเว้นภาระภาษีอากร ที่เกิดขึ้นจากการตีโอนทรัพย์ตามมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้สำหรับสถาบันการเงินผู้ให้กู้ และผู้ประกอบธุรกิจผู้กู้หรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกัน นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยจะลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนจากผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกัน ให้สถาบันการเงิน และจะลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนองในกรณีที่ซื้อทรัพย์สินนั้นคืน จากสถาบันการเงินเพื่อลดภาระให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ

+++ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง บอกว่า ทั้ง 2 มาตรการนี้มีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี โดย ครม.สามารถขยายระยะเวลามาตรการออกไปได้อีก 1 ปี ในกรณีที่มีความจำเป็นและมีวงเงินเหลืออยู่ และ ครม.สามารถอนุมัติให้เกลี่ยวงเงินระหว่างมาตรการได้ ซึ่งกระทรวงการคลังเชื่อมั่นว่าการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ ครม.มีมติเห็นชอบจะสามารถยกระดับการช่วยเหลือฟื้นฟูให้ครอบคลุมผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ทุกกลุ่มได้อย่างตรงจุดและเพียงพอ รวมถึงมีความยืดหยุ่น ทำให้ภาครัฐสามารถปรับปรุงเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยกฎหมายจะเป็นกลไกหลักของภาครัฐในการรักษาการจ้างงาน ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ สามารถป้องกันปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจในระบบสถาบันการเงินได้

+++ จากมาตรการช่วยเหลือ “ภาคธุรกิจ” หันไปดูการช่วยเหลือประชาชนทั่วไปที่ยังคงได้รับผลกระทบจาก “พิษโควิด-19” ที่ยังระบาดไม่เลิก จนประชาชนยังไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้เหมือนเดิม แน่นอนมาตรการที่ประชาชน พ่อค้า แม่ค้า ระดับ “รากหญ้า” ชื่นชอบที่สุด หนีไม่พ้น “โครงการคนละครึ่ง” กระทรวงการคลัง โดย กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) บอกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบโครงการ “คนละครึ่ง เฟส 3ซึ่งจะไม่ได้ต่อโครงการทันทีที่จบ เฟส 2 ในสิ้นเดือนมี.ค.นี้ แต่คาดว่าโครงการจะออกมาได้หลังจากที่ “โครงการเราชนะ” และ “ม.33 เรารักกัน” สิ้นสุดในช่วงเดือนพ.ค.2564 โดย “ผู้ได้รับสิทธิรายเดิม” อาจไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ เนื่องจากมีข้อมูลในแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” อยู่แล้ว

+++ ผอ.สศค. บอกว่า เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจยังมีอยู่ถึงช่วงเดือนพ.ค.นี้ ซึ่งในช่วงก่อนเม็ดเงินจะหมด ก็ต้องมาสรุปอีกครั้งเพื่อให้มีเม็ดเงินออกมาดูแลเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยจะใช้งบประมาณจาก “พ.ร.ก.กู้เงิน” ในก้อนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีวงเงินเหลืออยู่กว่า 2 แสนล้านบาท

+++ ไปปิดท้ายกันที่ “ข่าวดี” ของผู้ใช้รถ ใช้ทางด่วน เพราะ ครม.อนุมัติให้ยกเว้น “ค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์” เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 อำนวยความสะดวกการเดินทาง แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ลดภาระค่าครองชีพของประชาชน รวมทั้งลดการใช้พลังงานของประเทศ โดยให้ยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร(ถนนกาญจนาภิเษก) ตอน บางปะอิน-บางพลี และตอนพระประแดง-บางแค ช่วงพระประแดง-ต่างระดับบางขุนเทียน ตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันที่ 9 เม.ย. ถึงเวลา 24.00 น. ของวันที่ 16 เม.ย.2564 …ขึ้นทางด่วนฟรี เป็นเวลา 8 วัน...