ฟื้นเศรษฐกิจไทย ช้าแต่“ต้องยั่งยืน”

26 มี.ค. 2564 | 23:00 น.

ฟื้นเศรษฐกิจไทย ช้าแต่“ต้องยั่งยืน” : บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3665 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 28-31 มี.ค.2564

ที่ประชุมคณะกรรมการทางการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุด 24 มี.ค. 2564 มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง พร้อมกับปรับลดประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปี 2564 เติบโต 3% ลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ 3.2%

กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิม จากนักท่องเที่ยวลดลงและการระบาดรอบใหม่ แต่ได้รับปัจจัยหนุนจากการส่งออกและมาตรการรัฐที่ออกมาเพิ่มเติม แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากการกระจายวัคซีน รวมทั้งการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ทำให้คนยังระมัดระวังการเดินทางข้ามพื้นที่ ความกังวลนี้กลับมากระตุกการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจให้ชะลอลง เป็นปัจจัยเสี่ยงซึ่งต้องจับตาใกล้ชิดทั้งในและต่างประเทศ

ขณะที่เมื่อดูลงไปในรายละเอียด การฟื้นตัวยังไม่กระจายอย่างทั่วถึง โดยการส่งออกเริ่มกลับมาขยายตัวโดยเฉพาะในกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แต่การบริโภคภายในยังจำกัดอยู่ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน ขณะที่สินค้าชิ้นใหญ่หรือเพื่อการลงทุนยังฟื้นช้า ภาคที่อยู่อาศัยยังไม่ขยับ สะท้อนความไม่เชื่อมั่นในอนาคตของประชาชน ขณะที่การลงทุนของเอกชนก็ยังไม่กลับมา เนื่องจากยังมีสต๊อกคงค้างสูง

เมื่อเทียบกับภูมิภาคถือว่าไทยฟื้นตัวช้า ส่วนหนึ่งมาจากไทยพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวในสัดส่วนค่อนข้างสูงกว่า 11% ของจีดีพี จึงได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศอื่น คาดว่าการที่เศรษฐกิจจะขยายตัวกลับเข้าสู่ระดับปกติก่อนมีโควิด-19 ในช่วงปลายปี 2562 จะใช้เวลาประมาณ 2 ปีครึ่ง หรือภายในกลางปี 2565 ดังนั้น การกระตุ้นยังเป็นเรื่องจำเป็น และการฟื้นฟูในระยะข้างหน้าเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเข้มแข็ง   

ฉากทัศน์เศรษฐกิจนี้ของกนง.ยังไม่รวมมาตรการฟื้นฟูล่าสุดของรัฐในการวิเคราะห์ โดยที่ประชุมครม.เมื่อ 23 มี.ค.2564 อนุมัติ “บิ๊กแพ็กเกจ” เพื่อดูแลภาคธุรกิจ 2 มาตรการ คือ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู วงเงิน 250,000 ล้านบาท และมาตรการ พักทรัพย์พักหนี้100,000 ล้านบาท และการอนุมัติโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 ขยายอีก 2 ล้านสิทธิ์ หนุนการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ  

ขณะที่นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ศึกษาการขยายโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 และเตรียมเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบการระบาดเชื้อโควิด-19 กลุ่มตกค้าง คือ ข้าราชการพนักงานรัฐวิสาหกิจชั้นผู้น้อย ในชื่อโครงการ เราผูกพันโดยจะพิจารณาหลังสงกรานต์ เป็นต้น  

นอกจากการช่วยเติมกำลังซื้อให้คน ประคองตัวผ่านช่วงวิกฤติโควิด-19 แล้ว มาตรการเยียวยาและฟื้นฟูถัดจากนี้ไปควรต้องเจาะกลุ่มให้มากขึ้น และเพื่อปรับเชิงโครงสร้าง อาทิ มาตรการเพิ่มเติมเพื่อขับเคลื่อนภาคอสังหาริมทรัพย์ กระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน เช่น เพิ่มลดหย่อนภาษีค่าใช้จ่ายลงทุนด้านดิจิทัล เป็นต้น เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ค่อยฟื้นตัวแต่ยั่งยืน ในสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ที่ยังมีโอกาสปะทุตลอดเวลา