‘เมียนมาเอฟเฟ็กซ์’ทุบค้าไทยหมื่นล้าน

30 มี.ค. 2564 | 10:25 น.

“เมียนมา” เอฟเฟ็กซ์ 2 เดือน ซัดส่งออกไทยวูบแล้วเหยียบหมื่นล้าน ชี้ยิ่งยื้อทำการค้าทรุดหนัก หลังทำกำลังซื้อวูบ โลจิสติกส์สินค้าไทยไปเมียนมามีอุปสรรค ขณะผลกระทบด้านลงทุนคาดหนักกว่า รอประเมินตัวเลข เตือนทุกฝ่ายไทยวางตัวให้เหมาะสม

รัฐประหารในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ผ่านมาเกือบ 2 เดือน สถานการณ์เพิ่มดีกรีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ ชาวเมียนมายังคงผละงานประท้วงทั่วประเทศ ทำภาคธุรกิจ โรงงานผลิตเป็นอัมพาต ต้องหยุดกิจการลงชั่วคราว ส่วนที่ยังเปิดดำเนินการก็ทำได้ไม่เต็มร้อย ทางกองทัพเมียนมามีการใช้กระสุนจริงในการปราบปรามผู้ประท้วง มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 400 คน และถูกจับกุมไปอย่างน้อย 3,000 คน และก่อนหน้านี้ยังลุกลามมีการเผาโรงงานของนักลงทุนจีนในเมียนมา 32 โรงงานมูลค่าความเสียหายหลายพันล้าน ล่าสุดเหตุการณ์ขยายวง กองทัพเมียนมามีการสู้รบกับชนกลุ่มน้อย สรุปสถานการณ์ ณ เวลานี้ยังไร้ทางออก จากไม่มีใครยอมถอย

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากเหตุการณ์ทำให้เวลานี้โรงงานผลิตสินค้าของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งรวมทั้งไทยหลายแห่งในเมียนมาต้องหยุดกิจการชั่วคราว ที่เปิดอยู่ก็ผลิตแค่บางส่วน เพราะขาดคนทำงาน และเพื่อสวัสดิภาพของนักธุรกิจหลายคนได้ขอเดินทางกลับมาตั้งหลักในไทยก่อน ขณะที่การค้าชายแดนไทย-เมียนมาเริ่มประสบความยากลำบากมากขึ้นในการส่งสินค้า จากเส้นทางโลจิสติกส์ถูกกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ หรือชนกลุ่มน้อยในเมียนมาที่สนับสนุนนางอองซาน ซูจี และฝ่ายประชาชน ตัดเส้นทางการลำเลียงเสบียงของกองทัพเมียนมา ทำให้หลาย ๆ เส้นทางมีอันตรายมากขึ้น และบางช่วงรถผ่านไม่ได้

เกรียงไกร  เธียรนุกุล

ส่วนการค้าภายในของเมียนมา จากที่มีพนักงาน/คนงานผละงานร่วมประท้วง ทำให้ห้างร้านต่าง ๆ ต้องปิดตัวลง หรือจำกัดเวลาในการเปิด-ปิด ทำให้การค้าขายต่าง ๆ ลดลง ซึ่งผู้ค้าสินค้าอุปโภค-บริโภคของไทยระบุยอดสั่งซื้อในภาพรวมตั้งแต่เกิดรัฐประการลดลง 30-40%

การค้าไทย-เมียนมามีมูลค่ามากกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี ที่ผ่านมาไทยส่งออกไปเมียนมาซึ่งส่วนใหญ่เป็นการค้าชายแดน โดยไทยมีมูลค่าการส่งออกไปเมียนมากว่า 1.1 หมื่นล้านบาทต่อเดือน หากยอดขายลดลง 30-40% สองเดือนก็เกือบ 1 หมื่นล้านบาท ส่วนความเสียหายด้านการลงทุนของไทยในเมียนมาที่มีภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไปเปิดดำเนินการกว่า 150 ราย ยังไม่สามารถประเมินมูลค่าที่ชัดเจนได้ แต่การที่ต้องหยุดกิจการชั่วคราวทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจทั้งการผลิต การทำตลาดในประเทศและส่งออก หากสถานการณ์ยังยืดเยื้อการลงทุนไทยและต่างชาติ รวมถึงการค้าชายแดนจะยิ่งได้รับความเสียหาย และท้ายที่สุดที่เสียหายมากที่สุดคือภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลกที่มีต่อเมียนมา”

นอกจากผลกระทบทางตรงต่อไทยข้างต้นแล้ว ผลกระทบทางอ้อมที่ต้องจับตาคือชาวเมียนมาหรือชนกลุ่มน้อยจำนวนมากที่หนีภัยสงคราม รวมถึงหนีภัยเศรษฐกิจในเมียนมาที่ชะลอตัวและไม่มีงานทำจะทะลักเข้าไทยจากมีชายแดนติดต่อกันยาวถึง 2,400 กิโลเมตรยากแก่การควบคุม อาจมีผลให้โรคโควิด-19 ในเมียนมาที่ยังไม่คลี่คลายมาแพร่ระบาดในไทยในรอบใหม่ได้ ขณะที่การจุดกระแส “ความรักชาติ” ของชาวเมียนมา และต่อต้านประเทศต่างๆ ที่ ให้การสนับสนุนรัฐบาลทหาร ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ทุกฝ่ายของไทยต้องวางตัวให้เหมาะสม ไม่เช่นนั้นอาจได้รับผลกระทบดังเช่นจีน และสิงคโปร์ได้

กริช  อึ้งวิฑูรสถิตย์

ด้านนายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา เผยว่า จากเหตุการณ์ที่ยังไร้ทางออกในเมียนมา ส่งผลให้เวลานี้นักธุรกิจไทยที่ได้รับวีซ่าธุรกิจในเมียนมาประมาณ 500 คน เดินทางกลับประเทศแล้ว 136 คน หากสถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้นคาดจะเดินทางกลับมาอีก ซึ่งคงต้องรอสถานทูตไทยในเมียนมาจะประกาศจัดเที่ยวบินกลับต่อไป

“สถานการณ์กระทบเศรษฐกิจเมียนมาติดลบ ถ้ายืดเยื้อไปก็จะติดลบมากขึ้น แต่มากน้อยแค่ไหนยังไม่มีใครประเมินได้ นอกจากนี้มีผลต่อ FDI ใหม่ไม่มีใครกล้าไปลงทุนในเมียนมาเวลานี้ ส่วนที่ลงทุนแล้วจะย้ายออกหรือไม่คงต้องรอดูสถานการณ์ต่อไป” 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,665 วันที่ 28 - 31 มีนาคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

สาละวินเดือด"เมียนมา"เอาคืนบินถล่มฐานที่ถูก"KNU"ยึด

เมียนมาหมิ่นเหม่เข้าสู่ภาวะกลียุค ใกล้เป็น "รัฐล้มเหลว" ที่ลุกโชน "ไฟสงครามกลางเมือง"

KNU รุกหนัก ยึดฐานทหารเมียนมาได้อีกรวม 2 ฐาน

วิกฤติในเมียนมา คือโอกาสของพ่อค้าไทย

“ย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์”แบกอ่วม อาหาร-เชื้อเพลิง “เมียนมา” ราคาพุ่ง