“พาณิชย์”มั่นใจไตรมาส2 ส่งออกไทยฟื้นตามศก.โลก

25 มี.ค. 2564 | 09:04 น.

“พาณิชย์”มั่นใจไตรมาส2 ส่งออกไทยฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก ทั้งปียังมองขยายตัว4% ขณะที่เดือนกุมภาพันธ์ยังติดลบ 2.59% แต่มูลค่าพลิกกลับมาแตะ2หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ภาพรวม 2 เดือนแรกของปี 2564 การส่งออก มีมูลค่า 39,925.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 1.16%

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า  การส่งออกไทยจากนี้มีทิศทางที่ดีขึ้น เชื่อว่าจะขยายตัวได้ดีในช่วงไตรมาส 2 ของปีและจะเติบโตมากในเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน 2564 พร้อมกันนี้  เป้าหมายการส่งออกยังคงมองที่ 4% ซึ่งหากจะส่งออกได้ตามเป้าหมายการส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 20,080 ล้านดอลลาร์สหรัฐ   สินค้าเด่นที่จะดันการส่งออกไทยโต  เช่น  ถุงมือยาง  สินค้าอิเล็กทรอนิกส์  มันสำปะหลัง  อาหารสัตว์  ผลไม้  เป็นต้น

“พาณิชย์”มั่นใจไตรมาส2  ส่งออกไทยฟื้นตามศก.โลก

โดย มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีมูลค่า 20,219.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 2.59% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน กลับมามีมูลค่าแตะ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่  2.87% สะท้อนการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจดีขึ้น

“พาณิชย์”มั่นใจไตรมาส2  ส่งออกไทยฟื้นตามศก.โลก

ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 20,211.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 21.99% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 7.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ทำให้ภาพรวม 2 เดือนแรกของปี 2564 การส่งออก มีมูลค่า 39,925.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบที่ 1.16% การนำเข้า มีมูลค่า 40,120.73 ขยายตัวที่ 6.77% ขาดดุล 195.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออก มาจากภาวะฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น หลังจากหลายประเทศสามารถแจกจ่ายวัคซีนต้านโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองเร็วขึ้น  ภาคการผลิตเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ การฟื้นตัวของภาคการผลิตส่งผลให้ความต้องการวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพิ่มสูงขึ้น สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลก (Global Manufacturing PMI) ที่ปรับตัวดีขึ้นเหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และสูงสุดในรอบสามปี

“พาณิชย์”มั่นใจไตรมาส2  ส่งออกไทยฟื้นตามศก.โลก

อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยระยะต่อไปคาดว่าจะได้รับปัจจัยบวกจาก 1.การกระจายวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพในหลายภูมิภาค ทำให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของคู่ค้าสูงขึ้น 2. แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ด้วยเม็ดเงินมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ช่วยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก 3.ราคาน้ำมันดิบเพิ่มสูงขึ้น แตะระดับ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลบวกต่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง และ 4. ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าในช่วงไตรมาสแรก

 

สำหรับแผนส่งเสริมการส่งออกในปี 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้วางเป้าหมายการส่งออก 3 ด้าน ได้แก่ 1.การส่งออกทั้งปีขยายตัวที่ 4 % 2.จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าเกษตรและอาหาร (6.64%) สินค้านิวนอร์มอล ( 6.81%) อุตสาหกรรมหนัก (3.76%) แฟชั่น (2.36%) เป็นต้น 3. จัดกิจกรรมร่วมกับแพลตฟอร์มพันธมิตรออนไลน์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกา อาเซียน และจีน ภายใต้วิสัยทัศน์ "เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด" เพื่อผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก

สำหรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร เพิ่ม 7% ขยายตัว 3 เดือนต่อเนื่อง โดยสินค้าที่ขยายตัวเพิ่ม เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพิ่ม 46.6% ผัก ผลไม้สดแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 42.9% ยางพารา เพิ่ม 22.9% อาหารสัตว์เลี้ยง เพิ่ม 20.7% สิ่งปรุงรสอาหาร เพิ่ม 3.4% แต่น้ำตาลทราย ลด 35.5% อาหารทะเลแช่แข็งกระป๋องและแปรรูป ลด 10.9% ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ลด 7.6% ข้าว ลด 4.9%  ทางด้านตลาดส่งออก มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยตลาดหลัก เพิ่ม 10.1% จากการเพิ่มขึ้นของญี่ปุ่น 6.5% สหรัฐฯ เพิ่ม 19.7% และสหภาพยุโรป 15 ประเทศ เพิ่ม 0.2% ตลาดศักยภาพสูง ลด 5.2% เช่น อาเซียนเดิม 5 ประเทศ ลด 17.3% CLMV ลด 4.2% ฮ่องกง ลด 36.7% ไต้หวัน ลด 2.5% แต่จีน เพิ่ม 15.7% อินเดีย เพิ่ม 8.9% เกาหลีใต้ เพิ่ม 10.9% ตลาดศักยภาพระดับรอง เพิ่ม 7.3% เช่น ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 18.3% ทวีปแอฟริกา เพิ่ม 16.3% ลาตินอเมริกา เพิ่ม 14% แคนาดา เพิ่ม 0.8% แต่ตะวันออกกลาง ลด 9.9% สหภาพยุโรป 12 ประเทศ ลด 2.2% และตลาดอื่นๆ ลด 87.5% เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ลด 93%