ส่องจุดยืน 4 พรรคการเมือง แก้รธน.รายมาตรา

26 มี.ค. 2564 | 01:30 น.

เป็นที่แน่นอนแล้วว่า พรรคการเมืองที่ยังต้องการ “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” จะเดินหน้าแก้ไขต่อ แต่ปรับแผนมาเป็นการแก้ไขแบบ “รายมาตรา” ภายหลัง “รัฐสภา” โหวตควํ่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ในวาระ 3 

พรรคที่เริ่มขยับและเตรียมการแล้ว คือ พรรคประชาธิปัตย์ โดย นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการกฎหมายพรรค ออกมาเปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ได้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมายพรรคจัดทำการยกร่างแก้ไขเป็นรายมาตรา ซึ่งข้อมูลทั้งหมดตั้งแต่เริ่มทำเรื่องแก้รัฐธรรมนูญมีครบถ้วนแล้ว โดยฝ่ายกฎหมายจะได้มีการนัดประชุมกัน เพื่อเริ่มทำเป็นต้นร่าง

โดยมีร่างเดิมที่ได้เตรียมไว้ก่อนหน้านี้แล้ว คือ มาตรา 256 และ มาตรา 272 และมีประเด็นเรื่องระบบเลือกตั้ง รวมไปถึงประเด็นการตรวจสอบถ่วงดุลในเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และเรื่องสิทธิชุมชน เป็นประเด็นเบื้องต้น โดยทำแยกเป็นรายฉบับ และไม่มีการแก้ไขในหมวด 1 และ หมวด 2 เมื่อดำเนินการเสร็จ จะนำเสนอหัวหน้าพรรคต่อไป ซึ่งฝ่ายกฎหมายคาดว่า จะเสร็จทันก่อนเปิดสมัยประชุมสามัญ

 

พปชร.เพิ่มสิทธิประชาชน

ด้านท่าทีของพรรคแกนนำรัฐบาลอย่าง พลังประชารัฐ (พปชร.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค ระบุถึงแนวทางว่าต้องเดินหน้าแก้ไขรายมาตรา ได้เตรียมการเรื่องนี้ไว้แล้ว โดยจะนำร่างแก้ไขรายมาตราเสนอต่อพรรคพปชร. พิจารณาเห็นชอบต่อไป คาดว่าจะเสนอได้ในสมัยการประชุมหน้า 

ส่วนประเด็นที่จะเสนอแก้ไข อาทิ การเพิ่มสิทธิเสรีภาพให้ประชาชน การเพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรม กรณีมีการฟ้องร้องที่เกี่ยวข้องกับชาวบ้านและชุมชน ก็สามารถจัดหาทนายความมาให้การช่วยเหลือในทางคดี รวมถึงให้ส.ส.สามารถติดต่อกับหน่วยงานราชการได้ เพื่อประโยชน์ในการช่วยเหลือประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมา ส.ส.ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้เวลาที่ชาวบ้านเดือดร้อน เพราะจะถูกมองว่าแทรกแซง 

 

ส่องจุดยืน 4 พรรคการเมือง แก้รธน.รายมาตรา

 

นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียด ในส่วนของการทำงานของสภาที่ยังมี ข้อติดขัดก็จะเสนอให้แก้ไข และบท บัญญัติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องงบประมาณนั้น เห็นควรใช้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2550 จะเหมาะสมกว่า เนื่องจากเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ 2560 มีความยุ่งยาก บัญญัติเนื้อหาค่อนข้างรัดกุมมากเกินไปจนเกิดอุปสรรคในการทำงาน ทั้งนี้ในเรื่องของระบบเลือกตั้งก็ต้องนำมาหารือด้วยว่า การจะใช้บัตร 2 ใบ มีความเป็นไปได้หรือไม่อย่างไร

ส่วนของบทเฉพาะกาลมาตรา 270 จากเดิมที่บัญญัติให้ส.ว.มีอำนาจหน้าที่ติดตามเสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศนั้น ต่อไปจะมีการเสนอให้รัฐสภาเป็นผู้มีอำนาจดังกล่าว โดยอาจจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมา 

 

 

พท.เล็งแก้ 4 ปม

ขณะที่ พรรคเพื่อไทย อยู่ระหว่างการนัดประชุมเพื่อมีข้อสรุป เบื้องต้น มีประมาณ 4 ประเด็นที่พรรคต้องการแก้ไข ประกอบด้วย 

1. การเเก้ไขมาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และให้เพิ่มเติมมาตรา 159 โดยการเลือกนายกฯ สามารถเลือกนอกบัญชีได้ แต่ต้องเป็น ส.ส. เท่านั้น เพื่อปิดทางนายกฯ คนนอก 2. แก้ไขมาตรา 270 ยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการปฏิรูปประเทศ และมาตรา 271 เกี่ยวกับการไม่เห็นชอบหรือแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมายฯ 3. การยกเลิกมาตรา 279 รองรับคำสั่งและการกระทำของ คสช. และ 4. การแก้ไขระบบเลือกตั้ง 

 

“ก้าวไกล”ยกเลิกส.ว.

ด้านพรรคก้าวไกล นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค ระบุว่า จะมีการเสนอแก้ไขเป็นรายมาตรา โดยจะเน้นประเด็นปิดสวิตช์ ส.ว. แต่ยังมองว่าเรื่องที่สำคัญและต้องทำให้เร็วที่สุด คือการทำประชามติ เพราะการแก้ไขรายมาตราอาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด จึงจำเป็นที่จะต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มากกว่า

ส่วนแนวทางของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า เมื่อแก้ทั้งฉบับทำไม่ได้ เราจะรณรงค์เพื่อให้เกิดการแก้ไขรายมาตรา ปลดเสาคํ้ายันอำนาจของกลุ่มอภิสิทธิ์ชนด้วยการยกเลิก ส.ว. คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงแก้ไขที่มาของกรรมการองค์กรอิสระ

 

 

ภท.แก้ม.256-ตั้งส.ส.ร.

ด้านท่าที พรรคภูมิใจไทย (ภท.) มีรายงานว่า ไม่มีแนวคิดที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยมีจุดยืนเดียวคือแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เปิดทางให้ตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาแก้รัฐธรรมนูญ โดยมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราไม่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหา การยกเลิกอำนาจ ส.ว. การแก้ไขระบบเลือกตั้ง และประเด็นอื่นๆ ควรเป็นอำนาจของ ส.ส.ร.

ทั้งหมดเป็นท่าทีและจุดยืนเบื้องต้นของแต่ละพรรคการเมือง ที่ยังต้อง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ และแนวโน้มจะเป็นเช่นไร ต้องติดตาม... 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,665 หน้า 10 วันที่ 28 - 31 มีนาคม 2564