ล้ม‘พรบ.ประชามติ’ ส.ว.เดินเกม ยื่นศาลรธน.ตีความ

24 มี.ค. 2564 | 02:00 น.

“ร่างพรบ.ประชามติ” ส่อล้ม ส.ว. “สมชาย-วันชัย-คำนูณ” ชี้มีปัญหา เล็งยื่นศาลรธน.ตีความขัด ม.166 ปมเพิ่มอำนาจรัฐสภา-ภาคประชาชนเสนอเรื่องประชามติได้ เชื่อผ่านวาระ 3 ยาก

กรณีที่ประชุมรัฐสภามีมติให้แก้ไขเนื้อหามาตรา 9 ร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ โดยเพิ่มอำนาจรัฐสภาและภาคประชาชนสามารถส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) จัดทำประชามติได้ จากเดิมให้เป็นดุลยพินิจของ ครม.ฝ่ายเดียวนั้น กำลังมีความเคลื่อนไหวของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่จะส่งให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัยว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ และอาจทำให้ “ร่างพ.ร.บ.ประชามติ” ต้องถูกควํ่าลงไปหรือไม่?

อ้างขัดรธน.มาตรา 166

นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงเรื่องนี้โดยมองว่า อาจขัดกับมาตรา 166 ของรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจเหนือฝ่ายบริหาร ยิ่งถ้าให้ต้องทำประชามติทุกเรื่องตามที่ภาคประชาชนเข้าชื่อเสนอมา ก็อาจยิ่งมีปัญหา ถ้าต้องทำประชามติในทุกเรื่อง ก็ยิ่งไปกันใหญ่ 

“กำลังรอดูว่า ผลการแก้ไขเนื้อหามาตรา 9 ของกมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ จะไปกระทบกับเนื้อหามาตราอื่นๆ เช่น มาตรา 10-11 และมาตราอื่นๆ ถ้าแก้แล้วมีเนื้อหาไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ก็อาจไม่ต้องยื่นตีความ แต่ถ้าแก้แล้วมีเนื้อหาไปขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็จำเป็นต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ดูแนวโน้มแล้วคิดว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญ” นายสมชาย ระบุ

เมื่อถามว่าหากแก้ไขเนื้อหามาตรา 9 แล้ว ยังเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญ ส.ว.จะโหวตควํ่าร่าง พ.ร.บ.ประชามติ วาระ 3 ใช่หรือไม่ นายสมชาย ตอบว่า ยังมั่นใจว่าร่าง พ.ร.บ.ประชามติ จะผ่านวาระ 3 แต่ถ้าไม่ผ่านก็สามารถใช้ร่าง พ.ร.บ.ประชามติฉบับเดิมในการทำประชามติเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญได้

สำหรับรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร คณะรัฐมนตรีจะขอให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องใดอันมิใช่เรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลใดก็ได้ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

แก้ไขเกินกรอบรธน.

เช่นเดียวกับ นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ที่ยอมรับว่า มีความเป็นไปได้ว่าจะมีสมาชิกรัฐสภายื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความบทบัญญัติที่ถูกเพิ่มเติมเข้ามาในมาตรา 9 ของร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติที่รัฐสภามีมติให้แก้ไขเพิ่มสิทธิให้ รัฐสภาและภาคประชาชน สามารถเข้าชื่อร้องขอให้จัดทำประชามติได้ 

“เกรงว่าจะเป็นการแก้ไขเกินกรอบรัฐธรรมนูญ และหลักการร่างกฎหมายที่กำหนดไว้ หากรัฐสภาเห็นชอบให้บัญญัติเนื้อหาดังกล่าว อาจมีผลกระทบ ในชั้นนี้ได้พิจารณารายละเอียดแล้ว เชื่อว่าจะมีผู้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ” นายวันชัย ระบุ

 

คำนูณชี้ผ่านวาระ 3 ยาก

ด้าน นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภาอีกคน ชี้ว่า การแก้ไขมาตรา 9 ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ นั้น สมาชิกรัฐสภาบางส่วนและรัฐบาลเห็นว่า มีความขัดหลักการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจและขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 แม้เนื้อความในมาตรา 166 ตอนท้ายเขียนว่า ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่กฎหมายที่ออกมาควรทำหน้าที่เพียงขยายความ กำหนดขั้นตอนรายละเอียดในการปฏิบัติให้ชัดเจน ไม่ควรบัญญัติหลักการเกินกรอบรัฐธรรมนูญ 

กรณีนี้รัฐธรรมนูญกำหนดหลักการให้ ครม.มีอำนาจพิจารณาใช้ดุลพินิจตัดสินใจการจัดทำประชามติ แต่หากเนื้อหาที่แก้ไขไปบัญญัติให้รัฐสภาหรือประชาชนเข้าชื่อกันให้ครม.จัดการออกเสียงประชามติได้ อาจเป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญได้ ขณะนี้สำนักงานกฤษฎีกาอยู่ระหว่างปรับแก้มาตราต่อเนื่องจากมาตรา 9 ให้มีกรอบที่ไม่มัดมือ ครม.เกินไป กมธ.จะนัดพิจารณาวันที่ 1-2 เม.ย.นี้ เชื่อว่านอกจากจะพิจารณาเนื้อหาที่กฤษฎีกาเสนอแล้ว อาจมีข้อเสนอจาก กมธ.อาทิ ให้ชะลอการบังคับใช้มาตรา 9

“ส่วนตัวเชื่อว่าร่าง พ.ร.บ. ประชามติ ผ่านวาระ 3 ยาก อาจเกิดกรณีถามหาความรับผิดชอบด้วยการยุบสภา ซึ่ง ส.ส.ไม่ต้องการ ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องมีทางออกหลายวิธี เช่น เสนอร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขมาตรา 9 เป็นต้น” นายคำนูณ ระบุ

 

ล้ม‘พรบ.ประชามติ’  ส.ว.เดินเกม ยื่นศาลรธน.ตีความ

 

ชูศักดิ์ยันม.9 ไม่ขัดรธน.

ขณะที่ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ... รัฐสภาเห็นแตกต่างกับ ส.ว. โดยมั่นใจว่า สิ่งที่เสนอนั้นไม่เกินกรอบหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะมาตรา 166 มีความตอนท้ายระบุว่า “ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ดังนั้น การเขียนเนื้อหาไว้ในร่างพ.ร.บ.ประชามติ จึงไม่เกินกรอบรัฐธรรมนูญ  

อย่างไรก็ดี ตามเนื้อหาที่ตนเสนอนั้นน สุดท้ายต้องเป็นไปตามมติ ครม. ไม่ใช่การให้อำนาจบุคคล หรือ คณะบุคคลไปดำเนินการโดยสิทธิเด็ดขาด

“เมื่อรัฐสภามีมติ หรือ ประชาชนเสนอ ต้องไปสู่ครม.เมื่อไปถึงครม. เป็นสิทธิของครม.จะพิจารณา ซึ่งผมไม่เห็นว่าจะขัดแย้งกันยังไง ทั้งนี้เนื้อหาที่ผมเสนอนั้นเพื่อแก้ปัญหาที่ผ่านมาไม่มีกฎหมายให้ใช้ อย่าง กฎหมายประชามติ ปี 2552 ใช้ไม่ได้” 

นายชูศักดิ์ ยังยํ้าว่า ตนได้ศึกษาและทำการบ้านไว้เช่นเดียวกัน เพราะเนื้อหาร่างมาตรา 9 อยู่ในกรอบ ทั้ง 1. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และ 2. มติคณะรัฐมนตรี กรณีที่เสนอให้รัฐสภา และประชาชนเสนอได้นั้น เพื่อแก้ปัญหา เดดล็อกทางกฎหมาย 

“ส่วนตัวไม่กังวลอะไรต่อกรณีที่มีข่าวว่ากฤษฎีกาจะเสนอเงื่อนไข การบังคับใช้ ส่วนกรณีที่กรรมาธิการขอเวลาพิจารณาเนื้อหาและปรับแก้ไขนั้น ผมไม่ติดใจและเห็นว่ามีเหตุมีผล”

 

แก้ม.9 กระทบหลายมาตรา

ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ. ประชามติ จะทำให้ ส.ว.ไม่เห็นด้วยส่งผลให้การพิจารณาวาระ 3 ตกไปหรือไม่ ว่า ขออย่าให้คิดไปถึงขั้นนั้นล่วงหน้า เพราะการทำงานนั้นจะขึ้นอยู่กับกฤษฎีกาและกรรมาธิการ และยังมองว่า กรณีของมาตรา 9 นั้น ไม่เป็นปัญหามากนัก แต่ปัญหาต่อจากนั้น คือ การขอแก้มาตรา 9 จะไปผูกกับมาตรา 10, 11, 12, 13 และบทกำหนดโทษ 

ทั้งนี้ มองว่าที่สุดแล้วการพิจารณาในวาระ 3 ไม่ควรจะมีปัญหา แต่ก็ต้องติดตามเพราะยังคงมีอีก หลายมาตรา ที่อาจจะเป็นปัญหาได้ ในจำนวนทั้งหมด 17 มาตรา เช่น มาตราที่ว่าจะต้องมีประชาชน มาออกเสียงเท่าไหร่ถึงจะเป็นประชามติ เพราะต้องมองว่าจะเลือกให้เป็นเสียงกึ่งหนึ่ง หรือ 1 ใน 5 และ 2

ใน 3 การเป็นประชามติจะ ต้องใช้เสียงข้างมาก หรือจะต้องมีเสียง เท่าใด ซึ่งมาตราเหล่านี้มีความสำคัญ 

อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายประชามติเป็นร่างกฎหมายสำคัญ ที่เป็นกฎหมายปฏิรูป และเป็นร่างของรัฐบาล ซึ่งร่างจะผ่านหรือไม่ผ่าน ไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ

“ถ้ารัฐบาลเสนอวาระ 1 ไม่ผ่าน จะมีผู้กระทบ เช่น ต้องลาออก หรือยุบสภา เพราะนั่นแปลว่าสภาไม่ไว้วางใจ แต่การที่ร่างประชามติผ่านวาระที่ 1 ไปแล้ว และมีการแก้ไขถือเป็นเรื่องของกรรมาธิการ ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล ผลจึงแตกต่างกัน ไม่ใช่เรื่องของการไม่ผ่าน” รองนายกรัฐมนตรี ระบุ 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,664 หน้า 12 วันที่ 25 - 27 มีนาคม 2564