กทท.แจงข่าวจับกุมเครื่องชั่งที่"ท่าเรือแหลมฉบัง"

23 มี.ค. 2564 | 09:02 น.

กทท.แจงข่าวจับกุมเครื่องชั่งที่ท่าเรือแหลมฉบัง

 

จากกรณีข่าวคดีการจับกุมเครื่องชั่งตวงวัดท่าเรือแหลมฉบัง ไม่ได้มาตรฐานและไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้เครื่องชั่งตวงวัดที่ติดตรึง ซึ่งมีพิกัดกำลังตั้งแต่ 30 เมตริกตันขึ้นไป และมีส่วนชั่งน้ำหนักเป็นระบบดิจิทัล (เครื่องชั่งรถยนต์) ซึ่งปรากฏเป็นข่าวทางสื่อออนไลน์ นั้น

พลเรือเอกโสภณ วัฒนมงคล ประธานกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย  นายชนินทร์ แก่นหิรัญ กรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบเครื่องชั่ง บริเวณประตูตรวจสอบ 3 ในวันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม 2563 เวลา 13.00 น. พร้อมด้วย ร้อยตำรวจตรีมนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง ผู้บริหารท่าเรือแหลมฉบัง ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง และเจ้าหน้าที่ชั่งตวงวัด กระทรวงพาณิชย์ ร่วมลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบเครื่องชั่ง

โดยได้มีการนำรถบรรทุกสิบล้อติดตั้งเครนพร้อมตุ้มน้ำหนักของศูนย์ชั่งตวงวัดชลบุรี หมายเลขทะเบียน 82-8521 นนทบุรี ซึ่งเป็นรถคันเดียวกับที่ได้นำมาสอบเทียบเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 โดยครั้งนี้ได้นำมาทดสอบเครื่องชั่ง ณ ประตูตรวจสอบ 3 จำนวน 2 ช่องทาง คือ ช่องทาง 3F และ 3H สรุปได้ดังนี้

 

กทท.แจงข่าวจับกุมเครื่องชั่งที่"ท่าเรือแหลมฉบัง"

 

เจ้าหน้าที่ชั่งตวงวัด ได้ทำการทดสอบโดยนำรถบรรทุกสิบล้อติดตั้งเครนพร้อมตุ้มน้ำหนัก ที่มีน้ำหนักรวม 23,030 กิโลกรัม ขึ้นชั่งน้ำหนักบนแท่นชั่งช่อง 3และแสดงน้ำหนัก 23,030 กิโลกรัม ซึ่งตรงกับน้ำหนัก 23,030 กิโลกรัมที่ปรากฏในจอของระบบเครื่องชั่ง และเปรียบเทียบกับการใช้เฉพาะตุ้มน้ำหนักจำนวน 20 ตุ้ม ตุ้มละ 500 กิโลกรัม รวมเป็น 10,000 กิโลกรัม วางบนแท่นชั่ง ซึ่งตรงกับน้ำหนัก 10,000 กิโลกรัมที่ปรากฏในจอของระบบเครื่องชั่งเช่นกัน อย่างไรก็ตาม รถบรรทุกสิบล้อติดตั้งเครนไม่ได้กำหนดอยู่ในตารางรายการน้ำหนักหักลบในระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมยานพาหนะผ่านท่าของท่าเรือแหลมฉบัง ที่ได้รับความเห็นชอบให้ใช้จากศูนย์ชั่งตวงวัดชลบุรีตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา โดยระบบจะกำหนดเพียงรถบรรทุกสิบล้อที่ใช้บรรทุกตู้สินค้าโดยเฉลี่ยกำหนดค่ามาตรฐานไว้ที่ 8,000 กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งไม่ตรงกับน้ำหนักรถบรรทุกสิบล้อติดตั้งเครนซึ่งมีน้ำหนัก 13,030 กิโลกรัม ซึ่งน้ำหนักเฉพาะตัวรถบรรทุกสิบล้อทั้งสองแบบมีน้ำหนักต่างกันจากการติดตั้งเครนและอุปกรณ์ประกอบ ฝากระบะด้านข้างและด้านหลังทำให้น้ำหนักคลาดเคลื่อนกับรถบรรทุกที่อยู่ในระบบจัดเก็บของการท่าเรือฯ อยู่ประมาณ 5,000 กิโลกรัม ซึ่งเจ้าหน้าที่ชั่งตวงวัดได้รับทราบข้อมูลแล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อได้เปรียบเทียบกับรถบรรทุกมาตรฐานของบริษัทผู้ผลิตจะมีน้ำหนักเพียง 7,050 กิโลกรัมเท่านั้น

สำหรับแท่นชั่งช่อง 3H เจ้าหน้าที่ชั่งตวงวัด ได้ทดสอบการชั่งน้ำหนักรถบรรทุกสิบล้อติดตั้งเครนพร้อมตุ้มน้ำหนักที่ชั่งไว้เดิมในช่อง 3F ปรากฎว่า น้ำหนักที่แสดงผลคลาดเคลื่อนไปจากเดิม 23,030 กิโลกรัมเป็น 27,000 กิโลกรัม และในส่วนของรถบรรทุกสิบล้อปกติที่มีน้ำหนัก 7,690 กิโลกรัม น้ำหนักที่แสดงคลาดเคลื่อนไปเป็น 8,970 กิโลกรัม ซึ่ง บริษัท

เอ๊กซิเจน จำกัด เป็นผู้รับจ้างบำรุงรักษาซ่อมแซมแก้ไขและตรวจสอบเครื่องชั่งน้ำหนักประตูตรวจสอบของท่าเรือแหลมฉบัง ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่ใต้แท่นชั่งน้ำหนัก 3H พบว่ามีน้ำท่วม ขังจากฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับบริษัทฯ

ไม่สามารถสูบน้ำออกจากใต้แท่นชั่งได้ ซึ่งประธานกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย  สั่งการให้บริษัทฯ ดำเนินการสูบน้ำออกโดยด่วนและเร่งตรวจสอบสภาพใต้แท่นชั่ง และเมื่อบริษัทฯ ได้สูบน้ำออกเรียบร้อยแล้ว บริษัทฯ ได้ทำการตรวจสอบพบว่าโหลดเซลล์มีการติดตั้ง 6 ตัวครบถ้วนตามจำนวน และสภาพอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ มีความครบถ้วนและติดตั้งตรงตามตำแหน่งที่ติดตั้งไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547

               

 

 

ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวโดยสรุปว่าเครื่องชั่งทั้ง 4 เครื่องที่ถูกระงับใช้โดยสำนักงานชั่งตวงวัดนั้น เป็นเครื่องชั่งที่ใช้ชั่งสำหรับสินค้าขาออกนอกประเทศ ซึ่งเป็นไปตามภาค 3 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 โดยน้ำหนักรวมที่ได้รับจากเครื่องชั่ง (Gross Weight) ของรถบรรทุกตู้มีสินค้าที่ได้จากเครื่องชั่งจะไม่สามารถแก้ไขผลน้ำหนักรวมที่ได้รับจากเครื่องชั่ง (Gross Weight) รวมทั้งไม่สามารถแก้ไข วัน เวลา และสถานที่ทำการชั่งที่แสดงไว้ได้

                                 โดยน้ำหนักรวมที่ได้รับจากเครื่องชั่ง (Gross Weight) ดังกล่าว เมื่อประมวลเข้ากับระบบหักลบน้ำหนักตัวรถตามประเภทรถ (Vehicle Type) ซึ่งได้รับคำรับรองให้ใช้จากศูนย์ชั่งตวงวัดชลบุรีมาตั้งแต่ปี 2547 เพื่อให้ได้ข้อมูลเฉพาะส่วนน้ำหนักสินค้าตามที่กรมศุลกากรต้องการ ซึ่งข้อมูลที่ได้นี้เป็นเพียงข้อมูลประกอบส่วนหนึ่งเท่านั้นที่กรมศุลกากรจะนำไปใช้ในการประมวลผลผ่านระบบ NSW ของกรมศุลกากร เพื่อประโยชน์ในการตัดบัญชีใบกำกับการขนย้ายสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Matching) ผ่านระบบ NSW ของกรมศุลกากรดังกล่าว ซึ่งกระบวนการนี้เป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการสอบทานภายใต้การบังคับใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือตามข้อกำหนดของ IMO (International Marine Organization) ทั้งนี้ ข้อมูลส่วน ประเภทรถ (Vehicle Type) ดังกล่าว มิได้มีผลกระทบต่อจำนวนภาษีที่ผู้ส่งออกได้ชำระไว้ก่อนหน้า (หากมี) กับกรมศุลกากรแต่อย่างใด กรณีจึงไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น นอกจากนี้ ท่าเรือแหลมฉบังก็ไม่ได้ใช้ และ/หรือ ไม่ไดมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ข้อมูลน้ำหนักที่ชั่งได้จากเครื่องชั่งไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนในการนำไปคิดคำนวณภาษี ค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการใดๆ โดยท่าเรือแหลมฉบังมีเพียงการเรียกเก็บค่าบริการในการอำนวยความสะดวกจากรถขนส่งสินค้าทุกคันที่วิ่งผ่านท่าเรือแหลมฉบังซึ่งเป็นค่าบริการในอัตราคงที่และไม่ได้แปรผันตามข้อมูลน้ำหนักที่ชั่งได้ ด้วยเหตุนี้ผลการชั่งน้ำหนักที่แตกต่างหรือเบี่ยงเบนไปจากค่ามาตรฐานไม่ว่าจะมากหรือน้อยเพียงใดก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อผลประโยชน์หรือส่วนได้เสียที่ท่าเรือแหลมฉบังจะได้รับแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ ท่าเรือแหลมฉบังรวมถึงพนักงานของท่าเรือแหลมฉบังจึงไม่มีเหตุผลหรือแรงจูงใจไม่ว่าทางใดๆ ที่จะกลั่นแกล้ง และ/หรือ จงใจที่จะต้องทำให้น้ำหนักของเครื่องชั่งแตกต่างหรือคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง หรือเรียกรับผลประโยชน์ตามที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้

ในทางปฏิบัติ หากผลการเปรียบเทียบดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อนกว่าที่ระบบศุลกากรยอมรับได้ ระบบจะสั่งให้ไปทำการเอ็กซเรย์ (X-ray) ซึ่งผู้ขับรถบรรทุกจะต้องนำตู้สินค้าดังกล่าวไปทำการเอ็กซเรย์ (X-ray) ก่อนที่จะนำตู้สินค้าไปส่งให้ท่าเทียบเรือปลายทางก่อนขึ้นเรือต่อไป หากตู้สินค้าดังกล่าวไม่ได้ทำการเอ็กซเรย์ (X-ray) ก็จะถูกท่าเทียบเรือปลายทางปฏิเสธการขนถ่ายขึ้นเรือ ซึ่งระบบดังกล่าวมีการสอบทานกันหลายขั้นตอนอยู่แล้ว หากกรณีระบบของศุลกากรแสดงว่าตู้สินค้าดังกล่าวมีความถูกต้องก็จะสั่งให้ผ่านไปขนถ่าย ณ ท่าเรือต่อไปได้

 

กทท.แจงข่าวจับกุมเครื่องชั่งที่"ท่าเรือแหลมฉบัง"

อนึ่ง การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้จัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการซ่อมทำเครื่องชั่งที่ชำรุดมาโดยตลอด โดยในปีงบประมาณ 2564 ได้รับจัดสรรจำนวน 1,100,000 บาท เพื่อซ่อมทำเครื่องชั่งที่ชำรุดจำนวน 1 ประตู ขณะนี้อยู่ระหว่างสรรหาตัวผู้รับจ้าง นอกจากนี้ ท่าเรือแหลมฉบังได้ขออนุมัติหลักการเพื่อจัดสรรงบลงทุนในการจัดหาทดแทนเครื่องชั่งแบบ Static ทั้งหมดรวม 7 เครื่อง ขณะนี้อยู่ในระหว่างนำเสนอคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทยและสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณา