กยท.ทุบพ่อค้า กดราคา เล็งขยายโครงการชะลอขายยางต่อ

20 มี.ค. 2564 | 05:50 น.

ประธานบอร์ด “กยท.”  ทุบพ่อค้า กดราคายาง เล็งขยายโครงการชะลอการขายยาง ผลิตยางก้อนถ้วยแห้ง ทั่วประเทศ หลังนำร่องภาคเหนือประสบความสำเร็จ ฟันกำไรอื้อ

การยางแห่งประเทศไทย  (กยท.) โดย นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) นำผู้บริหารและสมาชิกเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก 300 กว่าราย ลงพื้นที่จังหวัดน่าน เพื่อศึกษาดูงาน ความสำเร็จการดำเนินโครงการชะลอการขายยางของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางเขตภาคเหนือ

 

ประพันธ์ บุณยเกียรติ

 

นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากที่การยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. ได้จัดให้มีโครงการชะลอการขายยางเขตภาคเหนือ ปีงบประมาณ 2564 และกำหนดให้ การยางแห่งประเทศไทยเขตภาคเหนือ เป็นพื้นที่นำร่องโครงการฯ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงปัจจุบัน และสามารถดำเนินการจนประสบผลสำเร็จ มีสถาบันที่เข้าร่วมโครงการและได้รับสินเชื่อแล้วจำนวน 5 สถาบัน ปริมาณยางก้อนถ้วยแห้ง DRC 75% จำนวน 15,447.50 ตัน คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 85,730,472 บาท

 

“ความสำเร็จที่เกิดขึ้น คือสามารถชะลอปริมาณผลผลิตยางพาราออกสู่ตลาด และลดความผันผวนราคายางพาราให้มีเสถียรภาพ รวมทั้งเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง มีสภาพคล่องทางการเงินในระหว่างรอการขายผลผลิต อีกทั้งยังทำให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรมีความสามารถในการประกอบอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรสวนยางและสถาบันเกษตรกร ขณะเดียวกันยังส่งผลให้สถาบันเกษตรกรมีความเข้มแข็ง มีอำนาจในการต่อรองราคายางก้อนถ้วย “

 

สุขทัศน์ ต่างวิริยกุล

 

นายประพันธ์ กล่าวว่า ที่น่าสนใจอีกประการคือ สามารถลดมลภาวะเป็นพิษ ที่เกิดจากน้ำยางก้อนถ้วยเปียก ทั้งกลิ่นที่เหม็น และน้ำยางที่รั่วไหลลงพื้นถนนระหว่างขนส่งไปขาย ทำให้ถนนลื่นและอาจเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งหลังเปลี่ยนทำยางก้อนถ้วยแห้ง ช่วยลดปัญหาได้ และยังทำให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต จากยางก้อนถ้วยเปียกเป็นยางก้อนถ้วยแห้ง อย่างเป็นรูปธรรม

 

ทาง กยท.ได้วางเป้าหมายขยายโครงการฯ ไปจนถึงปี 2565 โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการทำยางก้อนถ้วย จะมีการขยายไปสู่พื้นที่เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก และเพิ่มชนิดยางประเภทต้นน้ำในโครงการ ได้แก่ น้ำยางสด ยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควัน เพื่อขยายพื้นที่เป้าหมายไปทั่วประเทศ

 

ขณะที่นายศุภชัย แข่งขัน  ผอ.การยางจังหวัดน่าน เปิดเผยว่า จังหวัดน่านมีพื้นที่กรีดยาง 290,698 ไร่ มีผลผลิตยางก้อนถ้วยเปียก 24,000 ตันต่อปี  โดยมีเกษตรกรชาวสวนยาง นำร่องเข้าโครงการชะลอการขายและเปลี่ยนมาทำยางก้อนถ้วยแห้ง ระหว่างเดือนต.ค 2563 -กพ.2564 ร้อยละ 30 จากเกษตรกรชาวสวนยางทั้งจังหวัดน่าน ได้ผลผลิต 4,000 ตัน มูลค่า 160 ล้านบาทโดยคาดว่าในปีนี้จะมีเกษตรกรชาวสวนยางเข้าร่วมโครงการชะลอการขายยาง เปลี่ยนมาทำยางก้อนถ้วยแห้งเพิ่มอีกร้อยละ 60