จับมือ สหรัฐอเมริกา ยกระดับฝีมือแรงงานไทยสู่มาตรฐานสากล

18 มี.ค. 2564 | 10:51 น.

รมช.แรงงาน หารือร่วม รักษาการอุปฑูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย บูรณาการการพัฒนาฝีมือแรงงานไทยสู่มาตรฐานในระดับสากล เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก

วันที่ 18 มีนาคม 2564 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน หารือร่วมกับ Mr.Jim Wayman รักษาการอุปฑูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ในประเด็นการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อพัฒนาแรงงานให้มีทักษะฝีมือให้ได้มาตรฐานในระดับสากล และส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบกิจการให้มีความสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยมีนางสาวจิราภรณ์ ปุณณฤทธิ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และผู้แทนจากส่วนงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการหารือ ณ ห้องแสงสิงแก้ว ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน

จับมือ สหรัฐอเมริกา ยกระดับฝีมือแรงงานไทยสู่มาตรฐานสากล

ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน มีภารกิจในการพัฒนาศักยภาพคนทำงานทุกระดับให้มีผลิตภาพแรงงานสูง สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ที่เป็นส่วนหนึ่งในกลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ นอกจากนี้ กพร. ยังมีบทบาทในการพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ส่งเสริมการทดสอบมาตรฐานและแข่งขันฝีมือแรงงาน และการออกหนังสือรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ พัฒนาระบบและรูปแบบการพัฒนากำลังแรงงาน การพัฒนาศักยภาพแรงงานและผู้ประกอบกิจการ

จับมือ สหรัฐอเมริกา ยกระดับฝีมือแรงงานไทยสู่มาตรฐานสากล

ตลอดจนประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และสร้างเครือข่ายการพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งได้ดำเนินการพัฒนาฝีมือแรงงานในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้กลุ่มแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ โดยปรับรูปแบบตามความเหมาะสม อาทิ การอบรมผ่านระบบออนไลน์ เพื่อให้ภารกิจของ กพร. สามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องและเกิดประโยชน์สูงสุด

จับมือ สหรัฐอเมริกา ยกระดับฝีมือแรงงานไทยสู่มาตรฐานสากล

รมช.แรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า การหารือในวันนี้เป็นการแบ่งปันประสบการณ์ของกระบวนการพัฒนาฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตลอดจนการพัฒนาครูฝึก หลักสูตร สื่อการสอน วัสดุ เครื่องมือ อุปกรณ์การฝึก การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ การพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงานที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกา รวมถึงความร่วมมือด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานด้วย เพื่อนำไปสู่การบูรณาการการทำงานร่วมกัน และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศต่อไป