ราคาน้ำมันดิบปรับลดต่อ จากความหวังอุปสงค์น้ำมันชะลอตัว

18 มี.ค. 2564 | 02:14 น.

ราคาน้ำมันดิบปรับลดต่อ จากความหวังอุปสงค์น้ำมันชะลอตัว และปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯปรับเพิ่ม

หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมัน 18 มีนาคม 2564

ราคาน้ำมันดิบปรับลดต่อ จากความหวังอุปสงค์น้ำมันชะลอตัว

- ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์ปรับลดต่อ หลังตลาดกังวลอุปสงค์น้ำมันดิบชะลอตัว จากการประกาศประกาศระงับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของ AstraZeneca ของหลายประเทศในยุโรป เนื่องจากผลข้างเคียงรุนแรงอื่นที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งการระงับการฉีดวัคซีนในครั้งนี้ จะส่งผลให้แผนการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในยุโรปดำเนินไปอย่างล่าช้า และกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน

- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ(EIA) รายงานตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 2.4 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 มี.ค. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 4 สัปดาห์ ในขณะน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันที่ 472,000 บาร์เรล และ 255,000 บาร์เรล ตามลำดับ

- ราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากการที่สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ออกรายงานประจำเดือน มี.ค. 64 ปรับเพิ่มการคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันดิบโลกในปีนี้เพียงเล็กน้อยที่ 5.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม อุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกจะยังไม่กลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนกว่าจะถึงปี 2566

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากปริมาณการนำเข้านำมันเบนซินที่เพิ่มขึ้นของมาเลเซีย สิงคโปร์และตะวันออกกลาง

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบดูไบ จากความต้องการน้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้นในยุโรป อย่างไรก็ตามอุปทานน้ำมันดีเซลในเอเชียยังคงอยู่ในระดับสูง

ที่มา : บมจ.ไทยออยล์

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบติดต่อกันเป็นวันที่ 4 เมื่อคืนนี้ (17 มี.ค) หลังสหรัฐเปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 4 นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยลบจากการที่หลายประเทศในยุโรปยังคงใช้มาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 20 เซนต์ หรือ 0.3% ปิดที่ 64.60 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 39 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 68.00 ดอลลาร์/บาร์เรล