“ปริญญ์”แนะใช้"เทคโนโลยี"เร่งพัฒนาสินค้าเกษตรอินทรีย์

17 มี.ค. 2564 | 12:32 น.

“ปริญญ์”แนะใช้ "เทคโนโลยี"เร่งพัฒนาสินค้าเกษตรอินทรีย์ สร้างอาหารปลอดภัย หลังความนิยมพุ่ง

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจการเกษตร กระทรวงพาณิชย์ และที่ปรึกษานายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานเสวนา Food For Good : Best Practices and Lessons Learned ในหัวข้อ "Food for Good" โดยมีนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ดร.สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล นางสาวอรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ และ นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย คณะที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ นางสาวชมพูนุท นาครทรรพ คณะทำงาน รมว.กระทรวงพัฒนาสังคมฯ นางสาวศิริภา อินทวิเชียร ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก 

นายปริญญ์ กล่าวว่า ในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลายประเทศได้หันมาให้ความสำคัญกับความปลอดภัยกันมากขึ้น โดยเฉพาะกับเรื่องอาหาร ที่ต้องการความสะอาด ปราศจากเชื้อโรค และปรุงจากวัตถุดิบคุณภาพสูง จึงทำให้ "สินค้าเกษตรอินทรีย์" หรือ "สินค้าออร์แกนิค" ได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดเป็นโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจ 

                         “ปริญญ์”แนะใช้"เทคโนโลยี"เร่งพัฒนาสินค้าเกษตรอินทรีย์          

 

                     Food for Good
 

เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจและผลิตภัณฑ์ออแกนิกซ์ สำหรับประเทศไทยนั้น รัฐบาลไทยได้ตั้งเป้าหมายการพัฒนาด้วย GDP (Gross Domestic Product) ซึ่งอาจจะต้องทบทวน เพราะออร์แกนิคเป็นเรื่องของคุณภาพ ที่ไม่อาจวัดได้ด้วยตัวเลขเชิงปริมาณเพียงอย่างเดียว ควรจะต้องเพิ่มตัวชี้วัด อื่น ๆ เช่น สิ่งแวดล้อม ฝุ่น PM 2.5 มาตรฐานด้านสุขภาพ มาตรฐานการศึกษา คุณภาพเงินเดือน ค่าครองชีพ ฯลฯ เข้าไปด้วย เพื่อมองการพัฒนาในระยะยาวมากยิ่งขึ้น ด้วยการทำให้ประเทศมีสินค้าออร์แกนิคอย่างยั่งยืน เพราะสินค้าออร์แกนิคนอกจากจะดีต่อสุขภาพแล้ว ยังจะช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และเศรษฐกิจของประเทศได้ อีกทั้งยังดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย 

โดยเริ่มด้วยการจัดตั้งชุมชนเกษตรอินทรีย์ เพื่อทำให้เกษตรกรได้เรียนรู้การเพาะปลูก การดูแล การเก็บเกี่ยวผลผลิต ตลอดจนการรู้จักนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ประกอบอาชีพ เช่น นำบล็อกเชนมาติดตามการเจริญเติบโตของพืช วิเคราะห์การให้น้ำ เป็นต้น 

ในขณะที่ภาครัฐต้องทำหน้าที่ช่วยประชาสัมพันธ์ ขยายตลาด และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยเหลือเกษตรกรด้วย อย่างเช่นที่กระทรวงพาณิชย์ได้นำบล็อกเชนมาใช้ตรวจสอบย้อนกลับผลผลิตออร์แกนิค ผ่านเว็บไซต์ tracethai.com เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค ว่าจะได้บริโภคอาหารคุณภาพอย่างแท้จริง การร่วมกับสตาร์อัพผู้ประกอบการเพื่อสังคม (social entrepreneur) ในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีกับภาคการเกษตร เช่น โดรน เพื่อช่วยให้เกษตรกรทำงานง่ายขึ้น รวมถึงช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรก้าวสู่การทำตลาดแบบอีคอมเมิร์ซ (E-commerce) ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจเกษตร (Agribusiness) กำลังทำอยู่ ซึ่งถือเป็นงานใหญ่ในการบูรณาการระหว่างการศึกษา ความสามารถทางดิจิทัล และความฉลาดทางอารมณ์เข้าด้วยกัน 

                                            Food for Good                                        

"ทั้งหมดนี้คือความท้าทายของรัฐบาล ในการร่วมกันสร้างสังคมแห่ง Food for Good ซึ่งหวังว่าในอนาคตจะมีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรมากขึ้น และมีการปรับกฎหมายให้รองรับการทำงานของทุกภาคส่วน เพื่อร่วมพัฒนาวัฎจักร (Ecosystem) ของอุตสาหกรรมการเกษตรในระยะยาว และทำให้ไทยเป็นผู้นำด้านอาหารของโลก สามารถสร้างคน ผลิตสินค้าคุณภาพที่มีความปลอดภัยได้อย่างยั่งยืน" นายปริญญ์ ระบุ