จับตา “แล้ง” กระทบ 44 จังหวัด เสี่ยงขาดน้ำกินน้ำใช้

15 มี.ค. 2564 | 07:50 น.

“ประวิตร” สั่งจับตา 44 จังหวัด เร่งช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ขาดน้ำกิน น้ำใช้ คาดการณ์ฝนมาเร็ว เตรียมดัน 9 แผนรับฝนล่วงหน้า ทันที

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

 

วันที่ 15 มีนาคม 2564 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลัง เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2564  กล่าวว่า เนื่องจากยังเหลือช่วงเวลาในฤดูแล้งอีก 2 เดือน ได้แก่ เดือนมีนาคมและเดือนเมษายน ก่อนจะเข้าสู่ช่วงของฤดูฝน การประชุมในวันนี้จึงได้มีการติดตามสถานการณ์น้ำและการดำเนินงานตามมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 2563/64 ควบคู่ไปกับการพิจารณามาตรการรับมือในฤดูฝนปี 2564 ด้วย

 

“วันนี้ก็ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตามมาตรการตามมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 2563/64 อย่างรัดกุมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในช่วงปลายฤดูแล้ง นอกจากนี้ ที่ประชุมวันนี้ยังได้เห็นชอบมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2564 ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด 9 มาตรการรองรับสถานการณ์ฤดูฝน ปี 2564”

 

 

แผน-ผล รัยมือฤดูแล้งปี 63

 

ประกอบด้วย 1.การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม และฝนทิ้งช่วง 2.บริหารจัดการพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อใช้รองรับน้ำหลาก 3.ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ ขนาดใหญ่ – กลางและเขื่อนระบายน้ำ  4.ซ่อมแซม ปรับปรุง อาคารชลศาสตร์ /ระบบระบายน้ำ สถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน 5.ปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ  6. ขุดลอกคูคลอง กำจัดผักตบชวา

 

7.เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือในการ ให้ความช่วยเหลือ 8. สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ และ 9.การติดตามประเมินผล โดยมอบหมายให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบนำมาตรการไปจัดทำแผนปฏิบัติการ    เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

 

ด้าน นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า  จากการติดตามสภาพอากาศในช่วงต่อจากนี้  พบว่า เดือนมีนาคมนี้ ปริมาณฝนรวมบริเวณประเทศไทยส่วนใหญ่จะใกล้เคียงค่าปกติ ยกเว้นบริเวณภาคเหนือจะมีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 20 และภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะมีปริมาณฝนรวมต่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 10 ส่วนเดือนเมษายน คาดว่า ปริมาณฝนรวมจะสูงกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 20

 

“ที่ประชุมวันนี้ ได้ติดตามการดำเนินงานตามมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 2563/64 ซึ่งมีผลการดำเนินการที่สำคัญ อาทิ การเร่งเก็บน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ พบว่า ตั้งแต่ 1 พ.ย.63 -  28 ก.พ.64 กักเก็บได้เพิ่มขึ้น 2,947 ล้าน ลบ.ม.  2. การจัดหาแหล่งสำรองน้ำดิบเพื่อป้องกันผลกระทบในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ซึ่งพบว่า ในเขตการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ยังไม่มีสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ”

 

ขณะที่นอกเขต กปภ.  มีพื้นที่เฝ้าระวังขาดแคลนน้ำ 42 จังหวัด 22 อำเภอ 41 ตำบล พบว่ามีพื้นที่เฝ้าระวังเพิ่มอีก 2 จังหวัด ได้แก่ จ.เพชรบูรณ์ และ  จ.ลำปาง การจัดสรรน้ำฤดูแล้งจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ปัจจุบัน จัดสรรน้ำไปแล้วทั้งสิ้น 8,269 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 71% ตลอดทั้งฤดูแล้ง โดยจัดสรรน้ำเป็นไปตามแผน 15 แห่ง และจัดสรรน้ำเกินแผน 16 แห่ง”

 

แผนรับมือฤดูฝน ปี2564

 

ทั้งนี้ แผนงานโดยส่วนใหญ่หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการได้เป็นไปตามแผน ซึ่งที่ประชุมมีข้อห่วงใยในเรื่องแผนการวางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง พบว่า มีการปลูกทั้งในเขตและนอกเขตมากกว่าแผน 2.97 ล้านไร่ จากเป้าหมายทั้งประเทศ 8.88 ล้านไร่ ซึ่งได้เน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนในการจัดสรรน้ำด้วยที่ต้องควบคุมอย่างเคร่งครัดไม่ให้ส่งผลกระทบต่อน้ำต้นทุนฤดูฝน รวมถึงมาตรการเสริมที่จะไม่ให้ขยายพื้นที่เพาะปลูกต่อเนื่องด้วยเช่นกัน 

 

 

สำหรับการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ ที่ผ่านมาได้มีการติดตามทั้ง 4 แม่น้ำสายหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเค็มไม่ให้ส่งผลกระทบตลอดแล้งนี้ ซึ่งที่ประชุมยังได้พิจารณาเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาความเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะบริเวณสถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี ทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาว เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน พร้อมติดตามผลการดำเนินงานสิ่งกีดขวางทางน้ำทั่วประเทศ โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานจัดทำแผนการปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำก่อนเข้าสู่ฤดูฝนปีนี้ และรายงานให้ สทนช. ทราบเป็นระยะต่อไปด้วย