“SME คนละครึ่ง”เกาไม่ถูกที่คัน เสนอช่วยด้านภาษี-ลดดอกเบี้ย

13 มี.ค. 2564 | 07:00 น.

เอสเอ็มอีประสานเสียงโครงการ “SME คนละครึ่ง” ยังแก้ปัญหาไม่ตรงจุด แนะช่วยเหลือทางด้านภาษี และอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากเป็นต้นทุนประจำที่ต้องจ่าย  

รัฐบาลกำลังจะดำเนินโครงการ “SME คนละครึ่ง” ซึ่งเป็นมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จะช่วยเหลือค่าใช้ค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งให้กับเอสเอ็มอี (SMEs) ซึ่งคุณสมบัติของเอสเอ็มอี ต้องเป็นธุรกิจที่มีการยื่นชำระภาษีและขึ้นทะเบียนสมาชิกกับ สสว.  

ทั้งนี้ ลักษณะร่วมกันจ่ายกับ SME (Co-payment) มีสัดส่วนตั้งแต่ 50-80% สำหรับค่าใช้จ่ายในการขอทดสอบผลิตภัณฑ์ จดทะเบียนหรือขอใบรับรองมาตรฐานต่างๆ และการปรึกษาทางธุรกิจ เช่น มาตรฐานการบัญชี มาตรฐานสินค้าเกษตร (มกอช.) มาตรฐานอาหาร (อย.) โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดตัวโครงการ SMEs Co-payment ในกลางปีนี้  

ต่อมาตรการดังกล่าวนางสาวพชรวรรณ พุกบุญมี กรรมการผู้จัดการบริษัท โยเบลล่า อินเตอร์เทรด จำกัด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ความเห็นส่วนตัวมาตรการดังกล่าวยังเป็นการช่วยเหลือที่ไม่ตอบโจทย์เท่าใดนัก เพราะการยื่นขอมาตรฐานต่าง ๆ ใช่ว่าเอสเอ็มอีทุกรายจะต้องดำเนินการ หรือจะต้องดำเนินการทุกปี เช่น การยื่นขอมาตรฐาน อย. ไม่ได้จำเป็นต้องยื่นขอทุกปี แต่จะมีการต่ออายุตามรอบ เพราะฉะนั้นในปีที่ไม่ต้องดำเนินการเอสเอ็มอีก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากมาตรการ เป็นต้น

พชรวรรณ พุกบุญมี  

สำหรับมาตรการที่น่าจะตอบโจทย์เอสเอ็มอี และต้องการนำเสนอให้ภาครัฐดำเนินการน่าจะเป็นเรื่องการสนับสนุนทางด้านภาษี และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่า เพราะเป็นค่าใช้จ่ายที่เปรียบเสมือนต้นทุนทางธุรกิจที่เอสเอ็มอีมีความจำเป็นต้องจ่ายในทุกปี นอกจากนี้อาจช่วยเหลือเรื่องการขอสินเชื่อ โดยอาจจะไม่ต้องเป็นสินเชื่อใหม่ แต่ให้พิจารณาจากวงเงินสินเชื่อเดิม และเพิ่มวงเงินให้ เพื่อช่วยเหลือทางด้านสภาพคล่องที่มีปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  

“หากพูดกันตามความจริงเป็นจริงแล้วการขอมาตรฐาน อย. เองก็มีค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้สูงมากมายเท่าใดนัก อีกทั้งยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องยื่นขอทุกปีด้วย  หรือหากจะช่วยค่าใช้จ่ายในการขอทดสอบผลิตภัณฑ์ ในเวลานี้ก็ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมของการออกผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อทำตลาด เพราะด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ขณะที่ผู้บริโภคเองก็มีความระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย การออกผลิตภัณฑ์ใหม่จึงไม่น่าจะประสบความสำเร็จ” 

สอดคล้องกับความเห็นของนายณัฐวุฒิ เผ่าปรีชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท โจ-ลี่ แฟมิลี่ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายขนมเพื่อสุขภาพ แบรนด์ “เวล-บี” ซึ่งมองว่า การช่วยเหลือทางด้านภาษี เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) น่าจะเป็นการตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดีสำหรับเอสเอ็มอีในเรื่องของการลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ส่วนเรื่องของการปรับลดอัตราดอกเบี้ย หรือการให้วงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมนั้น แน่นอนว่าเป็นความต้องการของเอสเอ็มอี แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาในการออกมาตรการของรัฐบาลเป็นสำคัญ 

ส่วนการให้ความช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านการทำมาตรฐานทางบัญชีนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ควรจะสนับสนุน  เพราะเป็นส่วนสำคัญในการทำธุรกิจของเอสเอ็มอี อีกทั้งยังจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีได้ด้วย แต่ทั้งนี้ก็ต้องรอดูความชัดเจนของรัฐบาลด้วยว่า การจ่ายคนละครึ่งดังกล่าวจะครอบคลุมในส่วนใดบ้างจึงจะตอบได้ว่าเป็นการช่วยเหลือที่ตรงจุดหรือไม่ อย่างไร 

“หากถามว่าเป็นการเกาถูกที่คันหรือไม่ คำถามก็คือรู้หรือไม่ว่าคันตรงไหน หากยังไม่รู้ว่าคันส่วนใด แล้วเกายังไงก็ไม่ถูกจุด เพราะฉะนั้นก่อนที่จะออกมาตรการใดก็ต้องพิจารณาให้ชัดเจนด้วยว่าผู้ประกอบการกำลังมีปัญหาทางด้านใดในเวลานั้น”

ที่มา : หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,661 วันที่ 14 - 17 มีนาคม พ.ศ. 2564 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวดี! รัฐบาลเตรียมเปิด “SME คนละครึ่ง” ลดภาระค่าบริการทางธุรกิจ

ผุดโครงการ “SME คนละครึ่ง” ต่อลมหายใจผู้ประกอบการรายย่อย

หนี้เสีย SMEs แตะ 3 แสนล้าน