น่าห่วงรับวัคซีนโควิดแล้ว คนไทยละเลย‘ชีวิตวิถีใหม่’

12 มี.ค. 2564 | 07:10 น.

น่าห่วงรับวัคซีนโควิดแล้ว คนไทยละเลย‘ชีวิตวิถีใหม่’ : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,661 หน้า 5 วันที่ 14 - 17 มีนาคม 2564

ประเทศไทยเริ่มมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และได้ฉีดให้ประชาชนในลำดับถัดไป แต่หลายคนก็ยังสงสัยในเรื่องของวัคซีนดังกล่าว

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า สสส.เป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการอำนวยการจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารสุข (สธ.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การยูนิเซฟประเทศไทย และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ในการสร้างความเข้าใจเรื่องวัคซีน โดยสร้างการรับรู้ประชาชนให้มีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจ และรู้วิธีปฏิบัติตัวในการรับบริการวัคซีนและหลังรับวัคซีน ซึ่งสสส.ทำหน้าที่พัฒนากลไกการสื่อสาร “วัคซีนเพื่อสังคมไทย สู้โควิด” จึงได้จัดทำ ชุดข้อมูลความรู้ 2 ประเด็น คือ 1. การทำงานของวัคซีนในการป้องกันโรคข้อมูลชุดถามตอบข้อสงสัยของประชาชน และ 2. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคต้องทำควบคู่กับชีวิตวิถีใหม่

สสส.ได้สำรวจความคิดเห็นต่อการรับวัคซีนไวรัสโควิด-19 เกี่ยวกับความเข้าใจเรื่องวัคซีน ผ่านการทำแบบสอบถามจำนวน 1,017 คน พบว่า ส่วนใหญ่ 62.9% พร้อมเข้ารับวัคซีน มี 27.1% ไม่แน่ใจ และ 9.9% ไม่ต้องการฉีดวัคซีน 

ที่น่าสนใจคือ พบว่า 24% ยังเข้าใจผิด/ไม่แน่ใจ ว่าฉีดวัคซีนแล้วไม่มีโอกาสติดเชื้อโควิด และ 33% เข้าใจผิดว่าฉีดวัคซีนโควิดแล้ว หากติดเชื้อจะไม่แพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่น

 

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์

 

ที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อรับวัคซีนแล้วคนไทยอาจจะมีแนวโน้มลดการปฏิบัติแบบ “ชีวิตวิถีใหม่” หรือ New Normal ทั้งการเว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ ทั้งๆ ที่หลังฉีดวัคซีนยังจำเป็นต้องเคร่งครัดในการใช้ชีวิตแบบชีวิตวิถีใหม่ 

เนื่องจากวัคซีนในปัจจุบันมีประสิทธิภาพลดความรุนแรงของอาการป่วย แต่ยังมีโอกาสติดเชื้อได้ ขณะเดียวกัน 40% กลัวผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน แต่ 75% ไม่รู้จักหมายเลข 1422 และ 1669 เพื่อสอบถามผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน 

 

ขณะที่ นางสาวสุพัฒนุช สอนดำริห์ ผอ.สำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สสส. ระบุว่า สสส.รณรงค์สื่อสารสังคมให้ช่วยกันยกระดับป้องกันโควิด-19 โดยทำ การศึกษาพฤติกรรมคนไทย เพื่อปรับปรุงพัฒนาชุดข้อมูลสื่อสาร โดยเฉพาะโจทย์สร้างความเข้าใจกับประชาชนเรื่องวัคซีนที่เป็นเรื่องใหม่ ได้รับความร่วมมือจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย ใน การให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนที่ถูกต้อง 

ตอกยํ้ากับสังคมว่า วัคซีนทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรค สร้างความรู้ความเข้าใจถึงอาการข้างเคียง หรือผลไม่พึงประสงค์ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการรับวัคซีน รวมถึงการดูแลตนเอง ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการรับวัคซีน 

 

ที่สำคัญต้องกระตุ้นให้คนไทยแม้รับวัคซีนแล้ว ยังต้องดูแลสุขภาพให้แข็งแรงในชีวิตวิถีใหม่ คือ เว้นระยะห่าง ล้างมือสวมหน้ากากอนามัย โดยได้ผลิตสื่อประชา สัมพันธ์ครอบคลุมทุกช่องทางการสื่อสาร ทั้งสปอตทางโทรทัศน์ สื่อเสียง โปสเตอร์ วิดีโอ สื่อออนไลน์ โดยในการสื่อสารเรื่องโควิด ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา สสส.ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน อาทิ สื่อโทรทัศน์ สื่อจอภาพเคลื่อนไหว จอในสนามบิน รวมทั้งสื่อรถไฟฟ้า รถประจำทาง และโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยไม่ได้คิดมูลค่าเป็นการมุ่งการทำงานเชิงรุกเพื่อร่วมเผยแพร่สื่อที่เป็นประโยชน์สู่ส่งคมไทย

“หลังรับวัคซีน คือ ต้องดูแลร่างกายให้แข็งแรงก่อนฉีดวัคซีน ฉีดแล้วต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ผู้ป่วยโรคที่ควรฉีดวัคซีนก่อน เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วน เบาหวาน มะเร็ง กลุ่มผู้สูงอายุ หรือกลุ่มที่ไม่สามารถรับวัคซีนได้ เช่น ผู้มีอาการแพ้ส่วนประกอบของวัคซีน สตรีมีครรภ์ เด็กตํ่ากว่า 18 ปี ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง เหล่านี้เรามีการทำข้อมูลรอบด้าน ถูกต้องและชัดเจน” นางสาวสุพัฒนุช ระบุ