กพท.จัดกลุ่มสถานะการเงินธุรกิจการบินชี้8สายอยู่ระดับอันตราย

11 มี.ค. 2564 | 12:25 น.

คณะกรรมการการบินพลเรือน สั่งกพท.ประสานอย.ฉีดวัคซีนโควิดให้บุคคลากรการบิน เตรียมเปิดทำการบินระหว่างประเทศ ทั้งจัดกลุ่มเช็คสถานะทางการเงินของสายการบินชี้8สายอยู่ระดับอันตราย

การประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ครั้งที่ 3/2564 นายศักดิ์สยาม  ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานกรรมการการบินพลเรือน ที่ประชุม กบร. ได้พิจารณาเรื่องสำคัญต่าง ๆ รวมทั้งได้สั่งการให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เร่งรัดดำเนินการงานที่ยังคงค้างเป็นจำนวนมากให้แล้วเสร็จโดยเร็วต่อไป โดย กบร. มีมติในเรื่องดังต่อไปนี้

เรื่องที่ 1  ประธานกรรมการการบินพลเรือนได้มีข้อสั่งการให้ กพท. ดำเนินการในเรื่องที่สำคัญ ดังนี้

1. ให้ กพท. ประสานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อจัดให้มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่บุคลากรทางการบินซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานที่ต้องสัมผัสและใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวที่เดินทางทางอากาศเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเปิดทำการบินระหว่างประเทศและเพื่อให้ประเทศไทยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจผ่านระบบการขนส่งทางอากาศได้

2. ให้ กพท. จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่าง กพท. กับภาคอุตสาหกรรมการบิน (Industry Conference) และกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ต่าง ๆ เพื่อเป็นการบูรณาการการทำงานด้านการบินพลเรือนทุกภาคส่วนให้เกิดประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

กพท.

 เรื่องที่ 2   กบร. ให้ความเห็นชอบการปรับปรุงเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ (ใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือน) แบบมาตรฐาน 3 ประเภท ได้แก่       

1.เงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือน ประเภทการขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์แบบประจำมีกำหนด

2. เงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือน ประเภทการขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์แบบไม่ประจำ และ

3.เงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือน ประเภทการทำงานทางอากาศเพื่อใช้เป็นเงื่อนไขมาตรฐานแนบท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนสำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตทุกรายและเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายที่มีการปรับปรุงและสถานการณ์ปัจจุบัน

เรื่องที่ 3   กบร. ให้ความเห็นชอบการทบทวนองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการใน กบร. เพื่อให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของ กบร. ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 รวมทั้งเพื่อให้ครอบคลุมตามนโยบายด้านต่าง ๆ ที่กำหนด รวมถึงนโยบายสากลขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)

อีกทั้งเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานที่รวดเร็ว ลดขั้นตอนต่าง ๆ ที่ซ้ำซ้อนมีความเป็นระบบ มุ่งเน้นทั้งด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถของประเทศ  ทั้งนี้ ในการทบทวนดังกล่าว ได้มีการกำหนดคณะอนุกรรมการการอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือน ซึ่งเป็นการควบรวมคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการที่มีอยู่เดิมเพื่อลดขั้นตอนและความซ้ำซ้อนให้เกิดประสิทธิภาพและความคล่องตัวเพิ่มมากขึ้น

กบร.

เรื่องที่ 4  กบร. มีมติรับทราบผลการรวบรวมข้อมูลผลการประกอบกิจการประจำปี 2562 และการจัดกลุ่มตามระดับสุขภาพทางการเงินของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนประเภทการขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์แบบประจำ (สายการบินของไทยซึ่งขนส่งผู้โดยสาร) โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ

(1) ระดับอันตราย จำนวน 8 บริษัท

(2) ระดับเฝ้าระวัง จำนวน 3 บริษัท

 (3) ระดับปลอดภัย (ไม่มี) รวมทั้ง กบร. ได้เห็นชอบแนวทางในการกำกับผู้ได้รับใบอนุญาตฯ ในแต่ละกลุ่ม ได้แก่ กรณีที่อยู่ในระดับอันตราย สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) จะเชิญผู้ได้รับใบอนุญาตฯ เข้ามาชี้แจงรายละเอียดและทำแผนฟื้นฟูธุรกิจ ภายในเดือนมีนาคม 2564  เพื่อประเมินสถานะทางการเงินว่าจะสามารถอยู่รอดได้หรือไม่ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า

รวมทั้งเพื่อวิเคราะห์ปัญหาและแนวทางแก้ไข เพื่อร่วมกันหารือทางออกและจัดการกับปัญหาได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ หากผู้ได้รับใบอนุญาตฯ ไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ กพท. จะดำเนินการ ไม่พิจารณาจัดสรรเส้นทางบินเพิ่มเติม  ไม่อนุญาตให้จัดหาอากาศยานเพิ่มเติม และการจำกัดระยะเวลาในการจำหน่ายบัตรโดยสารล่วงหน้าเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้โดยสารในอนาคต

ส่วนกรณีที่อยู่ในระดับเฝ้าระวัง กพท. จะสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตฯ ส่งข้อมูลการคาดการณ์สถานะทางการเงินในช่วง 12 เดือนข้างหน้า พร้อมข้อสมมติในการคาดการณ์ และ กพท. ดำเนินการตรวจสอบความสมเหตุสมผลของข้อสมมติที่สำคัญกับแหล่งข้อมูลจากหน่วยงานทั้งภายในและภายนอก กพท.

นอกจากนั้น กบร. ได้สั่งการ ให้ กพท. ศึกษาและทบทวนแบบจำลองการจัดกลุ่มตามระดับสุขภาพทางการเงินของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนเพื่อให้มีแบบจำลองที่เหมาะสมที่สุดกับบริบทของประเทศไทย

เรื่องที่ 5  กบร. มีมติรับทราบผลรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID - 19 ค่าโดยสารเส้นทางภายในประเทศตามที่ กพท. รายงาน ซึ่งจากการรายงานผลดังกล่าว พบว่า จำนวนผู้โดยสารจากต่างประเทศที่ไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ ส่งผลให้ต้นทุนต่อผู้โดยสารที่สายการบินต้องแบกรับปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก จนทำให้สายการบินจำเป็นต้องปรับเพิ่มค่าโดยสาร อย่างไรก็ตาม สายการบินจำเป็นต้องปรับลดค่าโดยสารสูงสุดลงเพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อของกลุ่มผู้โดยสารในประเทศไทย 

นอกจากนั้น ผลของมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน (Excise Tax) สรุปผลได้ว่ามาตรการการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเป็นการช่วยลดต้นทุนผันแปร (Variable Cost) ให้กับสายการบิน อันจะเป็นการช่วยพยุงให้สายการบินดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่ไม่ส่งผลต่อความสามารถในการลดค่าโดยสารได้

เนื่องจากสายการบินต้องรับภาระต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) รายการอื่น ๆ ในขณะที่จำนวนผู้โดยสารยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ และการกำหนดราคาค่าโดยสารมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ เช่น ฤดูกาล อุปสงค์ ระยะเวลาการจองล่วงหน้า เป็นต้น

โดยสรุปแล้ว สาเหตุที่สายการบินไม่สามารถลดค่าโดยสารให้ต่ำลงได้อีก เนื่องจาก (1) จำนวนผู้โดยสารภายในประเทศและจากต่างประเทศลดลง (2) จำนวนเที่ยวบินลดลง (3) การขาดสภาพคล่องของสายการบิน และ (4) ภาระต้นทุนคงที่ (Fixed Cost)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ยกเลิกไลเซ้นท์บิน“นกสกู๊ต”ไฟเขียวซีเคียวริตี้การบินพลเรือนแห่งชาติ

ต่อลมหายใจสายการบิน กบร.ไฟเขียว 6 มาตรการเยียวอุ้มธุรกิจ

ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศ ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์สายการบิน "นกสกู๊ต"

8 แอร์ไลน์ ดาวน์ไซซ์องค์กร นกสกู๊ตปิดกิจการ

กพท.ออกประกาศแนวปฏิบัติสำหรับผู้โดยสารเปลี่ยนลำ