รถยนต์ฟื้น-ถุงมือไปต่อ ยางโลกส่อขาดยาว 2 ปี ชาวสวนเฮพุ่ง 60 บาท

11 มี.ค. 2564 | 21:15 น.

ผู้ว่าการยางฯชี้เทรนด์ยางพาราโลกจะขาดแคลนอีก 2 ปีนับจากนี้ ผลพวงอุตสาหกรรมรถยนต์-ถุงมือยางแย่งกันใช้ ขณะโรคใบร่วง ขาดแคลนแรงงานกรีด ทำซัพพลายหาย มั่นใจราคายางจากนี้ไม่ต่ำกว่า 60 บาทต่อ กก. วงการประสานเสียง ปัจจัยบวกอื้อ หนุนราคาพุ่งต่อ

 

สมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ(ANRPC) คาดการณ์ผลผลิตยางธรรมชาติโลกในปี 2563 ที่ผ่านมาจะลดลง 6.8% จากสถานการณ์ราคายางตกต่ำ สภาพอากาศผันผวน และปัญหาการระบาดของโรคใบร่วงจากเชื้อราในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย 

ส่วนความต้องการใช้ยางธรรมชาติของโลกในปี 2564 จะปรับเพิ่มขึ้น 8-10% จากทิศทางดังกล่าว วงการอุตสาหกรรมยางพาราของไทยได้สะท้อนความคิดเห็นในแง่มุมต่างๆ ส่วนใหญ่ระบุจะส่งผลในทางบวก

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์ผลผลิตยางพาราโลกในปี 2564 ต่อเนื่องถึงปี 2565 จะไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ โดยเห็นสัญญาณมาตั้งแต่ปลายปี 2563 ที่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยางธรรมชาติกลับมาดำเนินธุรกิจกันใหม่ และต่างเดินเครื่องกันเต็มกำลังการผลิต สอดคล้องกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์เศรษฐกิจ (จีดีพี) โลกปีนี้จะขยายตัวที่ 5.49% จากที่ติดลบ 3.50% ในปีที่แล้ว และคาดการณ์ยอดจำหน่ายรถยนต์ในปี 2564 อยู่ที่ประมาณ 53.13 ล้านคัน จะส่งผลให้มีความต้องการใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบในการผลิตยางล้อรถยนต์ และชิ้นส่วนประกอบเพิ่มขึ้น

ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) วางเป้าหมายการผลิตรถยนต์ของไทยปี 2564 ที่ 1.5 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 5.12% จาก 1.42 ล้านคันในปีก่อน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก 7.5 แสนคัน และขายในประเทศ 7.5 แสนคัน เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมถุงมือยางยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากอานิสงส์โควิดทำให้มีความต้องการใช้นํ้ายางข้นเป็นวัตถุดิบเพิ่มขึ้น โดยในปี 2564 คาดการณ์ความต้องการถุงมือยางของโลกจะอยู่ที่ระดับ 6 แสนล้านชิ้น ขณะที่สามารถขยายการผลิตรองรับได้ประมาณ 3.7 แสนล้านชิ้น

นายณกรณ์ กล่าวอีกว่า ผลผลิตยางธรรมชาติของโลกในปีนี้คาดยังมีน้อยกว่าความต้องการใช้ประมาณ 3 แสนตัน เป็นไปในทิศทางเดียวกับปี 2563 ที่มีผลผลิต 12.59 ล้านตัน จากความต้องการใช้ 12.81 ล้านตัน หรือน้อยกว่าความต้องการ 2.14 แสนตัน โดยจากข้อมูลของ ANRPC สาเหตุหลักมาจากการขาดแคลนแรงงานกรีดยาง จากผลกระทบสถานการณ์โควิดของประเทศผู้ผลิตยางหลักของโลกรวมทั้งมี “โรคใบร่วง” ระบาดและสภาพอากาศที่เปลี่ยน แปลงกระทบผลผลิต

ชาวสวนยางเฮ

นอกจากนี้จากที่ภาครัฐได้มีแนวทางแก้ปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในการส่งออกในหลายมาตรการ จากปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมา คาดจะส่งผลให้ราคายางแผ่นดิบ และยางแผ่นรมควันจะไม่ตํ่ากว่า 60 บาทต่อกิโลกรัมนับจากนี้

จากราคายางที่ปรับเพิ่มขึ้น ในส่วนของโครงการประกันรายได้ยางพาราระยะที่ 3 หรือปี 3 ยังมีความจำเป็นหรือไม่นั้น คงต้องพิจารณาสถานการณ์ราคายางพาราอีกครั้ง แต่เชื่อว่านโยบายพรรคประชาธิปัตย์ ยังคงเดินต่อเนื่อง เพื่อเป็นหลักประกันความเสี่ยง ให้กับชาวสวนยาง

ด้านนายชัยพจน์ เรืองวรุณวัฒนา นายกสมาคมนํ้ายางข้นไทย กล่าวว่า “ถุงมือยาง” เป็นตัวช่วยที่ทำให้นํ้ายางสดในเวลานี้ราคาพุ่งแรงแซงยางแผ่นดิบไปเรียบร้อยแล้ว และบางช่วงยังแซงยางยางแผ่นรมควัน หรือราคาเท่ากันด้วยซํ้า มองว่าราคายางจากนี้เป็นเทรนด์ขาขึ้นยาวไปถึงปีหน้า ปัจจุบันมณฑลไห่หนานของจีนและเวียดนามที่มีการปลูกยางได้ปิดกรีดแล้ว ส่งผลดีกับเกษตรกรไทยในภาคที่ยังไม่ได้ปิดกรีด

นายไชยยศ สินเจริญกุล นายกสมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า ปัจจัยบวกจากแนวโน้มความสำเร็จในการผลิตและฉีดวัคซีนโควิด-19 จะทำให้สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลกคลี่คลายลง นอกจากนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกดีขึ้น และทำให้จีนซึ่งเป็นผู้ใช้ยางพารารายใหญ่จะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น

“ความต้องการถุงมือยางโลกโต 25% ในปี 2563 และคาดปี 25645 จะโตอีก 20% จากโรคระบาดครั้งนี้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อโครงสร้างระยะยาวของความต้องการใช้ถุงมือยาง” 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,660 วันที่ 11 - 13 มีนาคม พ.ศ. 2564