ตำรวจเมียนมาหลายสิบนายหนีเข้าอินเดีย หลังฝ่าฝืนคำสั่งเบื้องบนที่ให้ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม

10 มี.ค. 2564 | 01:41 น.

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า มี เจ้าหน้าที่ตำรวจสัญชาติเมียนมา หลายสิบนาย ลักลอบออกนอกประเทศ ไปยังอินเดีย หลังจากพวกเขาปฏิเสธที่จะปฏิบัติตาม คำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ให้ลงมือใช้ความรุนแรง ปราบปรามบรรดาผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารในหลายเมืองของเมียนมา หรือแม้กระทั่งคำสั่ง “ยิงให้ตายไปเลย” ซึ่งพวกเขาทำไม่ได้ บางรายยื่นลาออกแล้วลักลอบหนีออกมาตามตะเข็บชายแดนเมียนมา-อินเดีย ขณะที่บางรายก็อพยพตัวเองหนีมาพร้อมด้วยสมาชิกในครอบครัว

เจ้าหน้าที่อาวุโสรายหนึ่งของอินเดียเปิดเผยข้อมูลว่า นับตั้งแต่มีรัฐประหารในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา มีชาวเมียนมาอพยพลี้ภัยเข้ามาในอินเดียราว 100 คนแล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นตำรวจและสมาชิกครอบครัวของพวกเขา หลายรายตัดสินใจปักหลักพักอาศัยที่เมืองจัมไพ จังหวัดมิโซรัม ซึ่งตั้งอยู่ติดชายแดนอินเดีย-เมียนมา อดีตนายตำรวจ 3 นายแสดงทั้งบัตรประชาชนและบัตรประจำตัวตำรวจให้ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ดูเพื่อยืนยันตัวตนของพวกเขา

ทา เพ็ง อดีตนายตำรวจวัย 27 ปี เปิดเผยว่าเขาได้รับคำสั่งให้ยิงผู้ชุมนุมในปฏิบัติการสลายการชุมนุมในเมืองกัมปัต ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา แต่เขาปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่ง เมื่อถูกถามอีกว่าจะยิงประชาชนหรือไม่ เขาตอบว่า ไม่ และได้ยื่นใบลาออก จากนั้นจึงพาครอบครัวหนีออกนอกประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่เลือกเดินทางเฉพาะในตอนกลางคืนเพื่อไม่ให้ถูกจับได้ เป็นเวลาถึง 3 คืนกว่าจะถึงเมืองชายแดนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย    

“ผมไม่มีทางเลือกอื่น” ทา เพ็ง ให้สัมภาษณ์ผ่านล่าม พร้อมระบุว่า มีเพื่อนตำรวจอีก 6 นายที่ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่สั่งให้ยิงประชาชนเมื่อวันที่ 27 ก.พ.   

ตำรวจเมียนมาหลายสิบนายหนีเข้าอินเดีย หลังฝ่าฝืนคำสั่งเบื้องบนที่ให้ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม

ตำรวจอินเดียที่สอบปากคำผู้อพยพซึ่งเป็นตำรวจหนีการปฏิบัติหน้าที่เหล่านี้ เปิดเผยว่า ส่วนใหญ่พวกเขาให้ปากคำว่า กระแสอารยะขัดขืนในเมียนมายังคงดำเนินไปอย่างแข็งแกร่ง มีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในหลายพื้นที่ พวกเขาได้รับคำสั่งให้ยิงประชาชน “ในสถานการณ์เช่นนั้น พวกเราไม่กล้าที่จะยิงประชาชนซึ่งมาชุมนุมประท้วงกันโดยสันติ” ส่วนหนึ่งของบันทึกการให้ปากคำระบุ

ตำรวจเมียนมาหลายสิบนายหนีเข้าอินเดีย หลังฝ่าฝืนคำสั่งเบื้องบนที่ให้ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม

ด้านสมาคมเพื่อการให้ความช่วยเหลือนักโทษการเมืองของเมียนมา ให้ข้อมูลว่า นับตั้งแต่ที่มีการประท้วงรายวันเพื่อแสดงการต่อต้านการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนโดยกองทัพเมียนมาเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา มีประชาชนถูกยิงเสียชีวิตขณะเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงแล้วมากกว่า 60 ราย และมีผู้ถูกกองทัพควบคุมตัวเอาไว้จำนวนกว่า 1,800 ราย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและหัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยในเมียนมา ที่ถูกยื่นฟ้องโดยกองทัพเมียนมาถึง 2 ข้อกล่าวหา และอาจต้องโทษจำคุกหากแพ้คดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: