คดีประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มโมฆะ

09 มี.ค. 2564 | 11:55 น.

รฟม.เดินหน้าชี้แจงคดีรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังศาลปกครองสั่งจำหน่ายคดีประมูลรอบแรก เหตุล้มประมูลโครงการฯ เล็งขายซองทีโออาร์ เม.ย.นี้

 

 

นายภคพงศ์  ศิริกันทรมาศ  ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) หลังจากรฟม. ได้ออกประกาศยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ล่าสุดรฟม. ได้ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า

เหตุแห่งการฟ้องคดี รวมถึงเหตุแห่งการพิจารณาเกี่ยวกับการขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองไม่มีอยู่ต่อไป และคดีนี้ไม่ได้เป็นคดีที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ การพิจารณาคดีต่อไปไม่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งอนุญาตให้คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ และ รฟม. ถอนอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ และ รฟม. ได้ยื่นคำร้องชี้แจงข้อเท็จจริงและขอให้จำหน่ายคดีต่อศาลปกครองกลาง และศาลปกครองกลางได้มีคำสั่ง ฉบับลงวันที่ 5 มีนาคม 2564 จำหน่ายคดีในข้อหาที่ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยให้เหตุผลว่า

 

 

 

เหตุแห่งการฟ้องคดีตามคำขอที่ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งพิพาทหมดสิ้นไป ไม่มีเหตุที่จะให้ศาลต้องมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพื่อออกคำบังคับตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ต่อไปอีก และศาลยังได้มีคำสั่งให้ คำสั่งศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ที่ให้ทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 สิ้นผลบังคับลงไปด้วย

ขณะเดียวกันรฟม. ได้ออกประกาศการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนประกอบการพิจารณาจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสาร RFP และร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 โดยในส่วนของหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชนนั้น รฟม. เห็นว่า จำเป็นต้องคำนึงถึงสภาพพื้นที่เส้นทางโครงการฯ ที่เอกชนผู้ร่วมลงทุนต้องดำเนินการด้วยเทคนิคก่อสร้างที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุด

จึงกำหนดวิธีประเมินคะแนนด้านเทคนิคและคุณภาพควบคู่คะแนนด้านผลตอบแทนและการลงทุน (Price-Performance) ซึ่งสอดคล้องกับประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง รายละเอียดของร่างประกาศเชิญชวนฯ ร่างเอกสาร RFP และสาระสำคัญของร่างสัญญาฯ พ.ศ. 2563 โดยในข้อ 4(8) ที่ให้กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกที่ให้ระบุหลักเกณฑ์และวิธีการตัดสินเป็นคะแนนในทุกด้านทั้งด้านคุณภาพและด้านราคา 

 

 

 

นอกจากนี้การรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน เป็นเพียงการรวบรวมความเห็นของเอกชนเพื่อนำมาใช้ประกอบในการปรับปรุงร่างประกาศเชิญชวนฯ ร่างเอกสาร RFP และร่างสัญญาฯ ตามที่ รฟม. เห็นสมควร โดยคำนึงถึงความสำเร็จของโครงการเป็นสำคัญ เท่านั้น เพื่อที่ รฟม. จะนำร่างประกาศเชิญชวนฯ ร่างเอกสาร RFP และร่างสัญญาฯ รวมถึงผลการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว เสนอคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบตามหน้าที่และอำนาจในมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ต่อไป


สำหรับ กระบวนการเปิดประมูลโครงการฯ รอบที่ 2 โดยเริ่มประกาศการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนประกอบการพิจารณาจัดทำร่างประกาศเชิญชวนร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน ระหว่างวันที่ 2-16 มีนาคม 2564 ประกาศเชิญชวนและเปิดขายเอกสารประกวดราคา ในเดือนเมษายน 2564 เอกชนจัดทำข้อเสนอในการประมูลโครงการ ภายในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2564 หรือประมาณ 60 วัน รฟม.ประเมินข้อเมินข้อเสนอของเอกชนและได้ตัวผู้รับจ้าง ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 และเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการเจรจาหลังจากได้ผู้รับจ้างแล้ว ภายในเดือน สิงหาคม 2564 และคาดว่าจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-สุวินทวงศ์ ในปี 2567 และรถไฟฟ้าสายสีสัมตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในปี 2569  

ทั้งนี้กรณีที่เปิดประมูลใหม่คาดว่าจะทำให้ล่าช้าจากกำหนดการเดิม ประมาณ 1 เดือน ซึ่งดีกว่าเมื่อเทียบกับรอให้คดีสิ้นสุด ที่ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการกว่า 1 ปี ขณะเดียวกัน สาเหตุที่รฟม. เปิดรับฟังความคิดเห็นใหม่ โดยยึดข้อเสนอด้านเทคนิค 30 คะแนน ด้านราคา 70 คะแนน เพราะรฟม. เล็งเห็นว่าเกณฑ์ดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อโครงการและรฟม. มากที่สุด หากกรณีที่เอกชนต้องการใช้เกณฑ์การประมูลเดิม ทางรฟม. จะต้องนำเกณฑ์ดังกล่าวเสนอต่อบอร์ด ม.36 เช่นกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับบอร์ดม.36 เป็นผู้พิจารณาเห็นชอบร่างประกาศเชิญชวนร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (อาร์เอฟพี) ถ้าเอกชนเสนอเพียงรายเดียว ตาม พ.ร.บ. สามารถเจรจาได้ตามปกติ