ปลัด ทส. สั่งเข้ม “แม่ฮ่องสอน –ตาก” ลดจุดความร้อน

08 มี.ค. 2564 | 09:21 น.

ปลัด ทส. สั่งเข้ม “แม่ฮ่องสอน –ตาก” ลดจุดความร้อนศกพ. แถลง17 จังหวัดภาคเหนือ สถานการณ์ปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง PM2.5 เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

วันที่ 8 มีนาคม 2564 นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ประชุมผ่านวีดีโอคอล กับ 5 จังหวัดภาคเหนือประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แม่ฮ่องสอน และตาก โดยย้ำให้ 5 จังหวัดติดตามและเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะจังหวัดแม่ฮ่องสอนและตาก ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีจุดความร้อนเกิดขึ้นมากที่สุด พร้อมสั่งการไปยังกรมป่าไม้และกรมอุทยาน สัตว์ป่าและพันธ์ุพืช ให้สวิงเจ้าหน้าที่ไปช่วยเหลือ

ส่วนจังหวัดอื่นๆ ก็อย่าชะล่าใจให้ปฏิงานอย่างเต็มที่ เน้นย้ำเจ้าหน้าในพื้นที่ดังกล่าวห้ามลาห้ามหยุด ให้เพิ่มมาตรการตรวจควันดำภายในเมือง เน้นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบทั้งสถานการณ์และการปฏิบัติตัวเรื่องสุขภาพอนามัย ทั้งนี้สถานการณ์ในปีนี้ดีกว่าปีก่อน 30%

ปลัด ทส. สั่งเข้ม “แม่ฮ่องสอน –ตาก” ลดจุดความร้อน

นายศิวัช พงษ์เพียจันทร์ โฆษกศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) แถลงสถานการณ์ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งพบปริมาณ PM2.5 เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหลักเกิดจากปัญหาการเผาในที่โล่งในพื้นที่ ด้วยสภาพอากาศที่แห้งทำให้เกิดการลุกลามของไฟได้ง่าย โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือตอนบน ประกอบกับสภาพอากาศและทิศทางของลมทำให้ภาคเหนือตอนบนเกิดการสะสมของฝุ่น PM2.5 โดย ศกพ. ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ PM2.5 อย่างใกล้ชิด

 

 

ปลัด ทส. สั่งเข้ม “แม่ฮ่องสอน –ตาก” ลดจุดความร้อน

 

นายศิวัช เปิดเผยว่า สถานการณ์จุดความร้อน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ จากดาวเทียม Suomi NPP ระบบ VIIRS บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2564 โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) : GISTDA พบว่าในอนุภูมิภาคแม่โขง พบจุดความร้อนมากที่สุดในประเทศเมียนมา 6,029 จุด ประเทศไทย 1,817 จุด และประเทศกัมพูชา 1,729 จุด ตามลำดับ สำหรับ 17 จังหวัดภาคเหนือ พบจุดความร้อนรวม รวม 1,505 จุด พบมากที่สุด จังหวัดแม่ฮ่องสอน 418 จุด ลำปาง 291 จุด และเชียงใหม่ 219 จุด และจากข้อมูลจุดความร้อนสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 7 มีนาคม 2564 พบจุดความร้อนรวม 40,669 จุด ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ตามการใช้ประโยชน์ที่ดิน พบจุดความร้อนในป่าอนุรักษ์ 16,564 จุด ป่าสงวนแห่งชาติ 15,646 จุด พื้นที่เกษตร 6,672 จุด พื้นที่ชุมชน 1,656 จุด และพื้นที่ริมทาง 131 จุด ตามลำดับ

ปลัด ทส. สั่งเข้ม “แม่ฮ่องสอน –ตาก” ลดจุดความร้อน

ขณะที่สถานการณ์ฝุ่นละออง ผลการตรวจวัด PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ ในวันที่ 8 มีนาคม 2564 ณ เวลา 12.00 น. ตรวจวัดได้ 24 - 329 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยพบค่าสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานรวม 13  พื้นที่ และพบค่าสูงสุดที่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตรวจวัดได้ 329 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และเมื่อวิเคราะห์สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 8 มีนาคม 2564 พบว่ามีจำนวนวันที่ฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน 64 วัน และมีค่าสูงสุด 325 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งพบที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยการคาดการณ์สภาพอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายผลกระทบของสภาพอากาศต่อการสะสมของฝุ่นละออง ในวันที่ 814 มีนาคม 2564 ลมที่พัดปกคลุมเป็นลมใต้ ตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมอ่อนมีการสะสมของฝุ่นอยู่ในระดับค่อนข้างมาก

 

 

ปลัด ทส. สั่งเข้ม “แม่ฮ่องสอน –ตาก” ลดจุดความร้อน

 

นายศิวัช กล่าวว่า การดำเนินงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลาง และในพื้นที่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในจังหวัดที่ได้เกิดปัญหาไฟป่าและจุดความร้อนจำนวนมาก ซึ่งได้มีการประสานระดมสรรพกำลัง อุปกรณ์เครื่องมือ ยานพาหนะ และอากาศยาน จากทั้งในและนอกพื้นที่มาสนับสนุนการเผชิญเหตุเพื่อเร่งควบคุมและดับไฟโดยเร็ว โดยเฉพาะในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ลำปาง และเชียงใหม่ ได้นำเฮลิคอปเตอร์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในการบินโปรยน้ำดับไฟในพื้นที่ป่า นอกจากนี้ในหลายจังหวัดได้มีการประกาศห้ามเผาโดยเด็ดขาดจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2564


 

พร้อมกับดำเนินมาตรการในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานทหาร ตำรวจ อาสาสมัคร จิตอาสา และประชาชน ในการลาดตระเวนเฝ้าระวังและป้องปรามการเผาและร่วมดับไฟในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดทำแนวกันไฟ ฝายชะลอน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า การทำกิจกรรมชิงเก็บ ลดเผา เพื่อนำเศษวัสดุมาใช้ประโยชน์และลดปริมาณเชื้อเพลิงในพื้นที่ พร้อมทั้งได้มีการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมืองดเผาในที่โล่งทุกกรณี และบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ฝ่าฝืนอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษ ได้เฝ้าระวังผลกระทบจากหมอกควันข้ามแดน ที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อ จังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และเชียงราย และจะเร่งประสานขอความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้านในการลดและควบคุมการเผาในที่โล่ง

ปลัด ทส. สั่งเข้ม “แม่ฮ่องสอน –ตาก” ลดจุดความร้อน

สำหรับข้อแนะนำแก่พี่น้องประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ในช่วงวันที่ 8 10 มีนาคม 2564 พื้นที่ภาคเหนือตอนบน ยังต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายสภาพอากาศมีความเร็วลมต่ำ ฝุ่นละอองสะสมได้มากขึ้น ประกอบกับยังคงพบจุดความร้อนจำนวนมาก และลมตะวันตกเฉียงใต้มีแนวโน้มพัดฝุ่นละอองเข้ามาสะสมเพิ่มเติม ศกพ. ยังคงขอให้ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และเตรียมความด้านสาธารณสุข พร้อมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่โดยสวมใส่หน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง เมื่อออกนอกบ้าน โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วย เด็ก ผู้สูงอายุ และสตรีมีครรภ์ นายศิวัช กล่าว