ชงมาตรการผ่อนคลาย 3 ระยะเสนอ ศบค.ชุดใหญ่ 15 มี.ค.นี้

08 มี.ค. 2564 | 07:11 น.

ศบค.ชุดเล็กเตรียมเสนอมาตรการ “ผ่อนคลาย 3 ระยะ” เข้าที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ 15 มี.ค.นี้ จ่อขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉินถึง 31 พ.ค.

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงวันนี้ (8 มี.ค.) ว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก มีการพิจารณาหลายเรื่อง โดยเมื่อวันที่ 5 มีนาคม กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้วางแผนประชุมคณะกรรมการร่วมกันในหลายภาคส่วน ทบทวนมาตรการต่างๆ ให้สอดคล้องกับ สถานการณ์โควิด-19 เตรียมพร้อมการสอบที่กำลังจะเริ่มในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน (อ่านข่าว: ศธ.ประสานสาธารณสุข เตรียมความพร้อม "ฤดูกาลสอบ" ปลอดโควิด)

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือเรื่องการกำหนด มาตรการผ่อนคลายอื่นๆ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อนำเสนอต่อ ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่กำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 15-19 มีนาคมนี้  แบ่งออกเป็นระยะๆ ได้แก่

ระยะแรก 1 เมษายน 2564 เสนอมาตรการผ่อนคลายที่สอดคล้องกับสถานการณ์และจำนวนผู้ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั้งประเทศ  โดยในวันที่ 1 เมษายนนี้ อาจพิจารณาปรับสีพื้นที่แต่ละจังหวัด ไปจนถึงหารือมาตรการกักตัวของผู้เดินทางจากต่างประเทศ และพิจารณาประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 แต่จะยังคงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อไว้ โดยอาจจะเสนอใช้ในระยะที่ 2 คือ วันที่ 1 มิถุนายน เป็นต้นไป

 ระยะที่ 2 คือวันที่ 1 มิถุนายน และ ระยะที่ 3 คือช่วงวันที่ 1 ตุลาคม ทั้งนี้ ยังจะต้องมีการหารือรายละเอียดมาตรการผ่อนคลายเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ ในวันที่ 15-19 มีนาคม

ผู้ช่วยโฆษกศบค.กล่าวต่อไปว่า ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2564 วันนี้ จะมีการพิจารณาเกี่ยวกับการกักตัวผู้เดินทางจากต่างประเทศที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย ว่าจะมีการกักตัวอย่างไร หรือนานแค่ไหน เพราะหากได้รับวัคซีนแล้ว ก็ควรจะมีการดูแลต่างจากผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ขณะเดียวกันคนไทยเองก็ได้รับวัคซีนมากขึ้น ทำให้มีภูมิคุ้มกันมากขึ้น ก็จะมีการผ่อนคลายมาตรการกักตัวผู้เดินทางจากต่างประเทศตามไปด้วย

ส่วนประเด็นเกี่ยวกับ “วัคซีนพาสปอร์ต” ที่กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการต่างประเทศ หารือกันว่า หากในอนาคตมีการเปิดประเทศ วัคซีนพาสปอร์ตก็จะเป็นเครื่องแสดงว่า บุคคลผู้นั้นได้รับวัคซีนแล้ว สามารถเดินทางเข้าประเทศได้ตามมาตรการที่แต่ละประเทศกำหนด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เรายังต้องรอวัคซีนพาสปอร์ตซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ที่จะออกโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งระหว่างที่รอมาตรฐานโลกอยู่นี้ เราสามารถออกเป็นประกาศนียบัตรวัคซีน (Vaccination Certificate) ว่าได้รับวัคซีนถูกต้องตามมาตรฐานของ WHO และพร้อมปรับเปลี่ยนให้ตรงกับมาตรฐานโลกทันทีเมื่อมีออกมา

 

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า “นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำเรื่องของการกระจายวัคซีน แผนต่างๆ การผ่อนคลายที่จะเกิดขึ้น ต้องสอดคล้องกับแผนการกระจายวัคซีนที่ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความร่วมมือของพี่น้องประชาชน และยังเน้นย้ำเรื่องเมืองเศรษฐกิจ เมืองท่องเที่ยว จะได้รับการกระจายวัคซีนเป็นที่แรกๆ นอกจากบุคลากรทางการแพทย์ การตีความบุคลากร “ด่านหน้า” นั้นอาจจะรวมถึงตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ศุลกากร ตำรวจ ทหาร ไม่เฉพาะเจ้าหน้าที่ภาครัฐ แต่ยังมีพลเรือนบางส่วนที่ถือเป็นบุคคลเสี่ยง โดยอาจจะทำงานอยู่ในสถานกักกัน พื้นที่เสี่ยง ดูแลผู้ป่วย ดูแลจุดคัดกรองที่สนามบิน เป็นต้น รวมทั้งผู้มีโรคประจำตัว บุคคลเหล่านี้ควรจะต้องเป็นบุคคลกลุ่มแรก ๆที่ได้รับวัคซีน

“อย่างไรก็ตาม วัคซีนเป็นอาวุธที่ช่วยลดอัตราการป่วย อัตราการตาย แต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อ ดังนั้น จึงยังจำเป็นที่ทุกคนต้องรักษาสุขอนามัยส่วนตัว และปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง”  

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

วัคซีนโควิด ดันต่างชาติเที่ยวไทย ลุ้นแตะ 2 ล้านคนสิ้นปีนี้

ศธ.ประสานสาธารณสุข เตรียมความพร้อม "ฤดูกาลสอบ" ปลอดโควิด

ยอดติดเชื้อโควิด 8 มี.ค.64 รายใหม่ 71 หายป่วยเพิ่ม 33 สะสม 26,441 ราย

ผุด “วัคซีนพาสปอร์ต” เตรียมเปิดประเทศ บอร์ดโรคติดต่อเคาะ 8 มี.ค.นี้