สถาปนิกต้องรู้ กฎกระทรวงออกแบบ"อาคารต้านแผ่นดินไหว"ใหม่

06 มี.ค. 2564 | 03:20 น.

ราชกิจานุเบกษาเผยแพร่กฎกระทรวงใหม่ การออกแบบอาคารต้านภัยแผ่นดินไหวรายประเภท จำแนกตามบริเวณพื้นที่ 3 ระดับความเสี่ยง

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ กฎกระทรวงใหม่ การออกแบบอาคารต้านแผ่นดินไหวรายประเภท จำแนกตามบริเวณพื้นที่ 3 ระดับความเสี่ยง  

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2564 ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138ตอนที่ 16 วันที่ 4 มีนาคม 2564 มีพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงนาม เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564  โดยกฎกระทรวงนี้ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สาระสำคัญของกฎกระทรวงฉบับนี้ คือ ให้ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ใช้บังคับอยู่เดิม และให้ใช้กฎกระทรวงฉบับใหม่เมื่อมีผลบังคับใช้ ซึ่งกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวเป็น 3 บริเวณ คือ

บริเวณที่ 1 พื้นที่เฝ้าระวัง เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าอาคารอาจได้รับผลกระทบด้านความมั่นคงแข็งแรงและเสถียรภาพเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ได้แก่ จังหวัดกระบี่ ชุมพร ตรัง นครพนม นครศรีธรรมราช บึงกาฬ ประจวบคีรีขันธ์ พิษณุโลก เพชรบุรี เลย สงขลา สตูล สุราษฎร์ธานี และหนองคาย 

บริเวณที่ 2  บริเวณที่มีความเป็นไปได้ว่าอาคารอาจได้รับผลกระทบทางด้านความมั่นคงแข็งแรงและเสถียรภาพในระดับปานกลาง เมื่อเกิดแผ่นดินไหว ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กำแพงเพชร ชัยนาท นครปฐม นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา พังงา ภูเก็ต ระนอง ราชบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี และจังหวัดอุทัยธานี 

บริเวณที่ 3 บริเวณหรือพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ว่าอาคารอาจได้รับผลกระทบทางด้าความมั่นคงแข็งแรงและเสถียรภาพในระดับสูงเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา แพร่ จัแม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย และจังหวัดอุตรดิตถ์

ทั้งนี้ กำหนดให้การออกแบบและคำนวณโครงสร้างอาคารแต่ละประเภท คำนวณให้อาคารสามารถรับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวที่ไม่ต่ำกว่าที่รัฐมนตรีกำหนด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคาร และกำหนดรายละเอียดอาคารประเภทต่าง ๆ  จำแนกตามบริเวณที่มีความเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวแตกต่างกันข้างต้น 

เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่การก่อสร้างอาคารในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวตามกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2550  ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบันที่พบว่า มีพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวในประเทศมากขึ้น และเทคนิคการก่อสร้างอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว มีความทันสมัย ส่งผลให้การก่อสร้างอาคารในเขตท้องที่การปกครองบางพื้นที่ที่ เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวที่ตรวจพบใหม่ไม่ต้องออกแบบและคำนวณโครงสร้างอาคารให้มีการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว สมควรกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวและกำหนดประเภทอาคารที่การออกแบบและคำนวณโครงสร้างอาคารให้มีการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวเพิ่มเติม รวมทั้ง ปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน และความคงทนของอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวใหม่ ให้มีความทันสมัยและมีความปลอดภัยแก่ประชาชนในการเข้าใช้อาครรมากยิ่งขึ้น 

ที่มา กฎกระทรวง กำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. ๒๕๖๔