เปิดมุมมอง 3 กูรู ‘การออกแบบโมเดลธุรกิจใหม่ให้ขับเคลื่อนอย่างยั่งยืน’

25 เม.ย. 2559 | 07:00 น.
จากสภาวะที่เศรษฐกิจโลกและประเทศไทยอยู่ในช่วงถดถอย จีดีพีทั้งในและต่างประเทศต่างพากันผันผวน ส่งผลกระทบวงกว้างต่อธุรกิจจำนวนมากเข้าขั้นวิกฤติ เนื่องจากนักลงทุนชะลอการใช้เงินมากขึ้น จนกระทั่งหลายแบรนด์หลายองค์กรต้องเร่งออกมาปรับแผนธุรกิจกันไม่เว้นแต่ละวัน ขณะที่นักธุรกิจหน้าใหม่ก็ไม่กล้าขยับตัวมากนักเพราะกลัวบอบช้ำหากลงทุนลงแรงมากกว่านี้ รวมไปถึงปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น ส่งผลให้กลุ่มคนรากหญ้าซึ่งเป็นฐานประชากรกลุ่มใหญ่ขาดรายได้ ซึ่งหากมองสภาวะภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้นั้นไม่แตกต่างจากปัญหาภัยแล้งที่รอวันที่ฝนตกลงมา เพื่อหล่อเลี้ยงธุรกิจให้เดินต่อไปได้อีกครั้ง

แต่ไม่ว่าประเทศไทยจะเผชิญกับปัจจัยใดก็ตาม การเพิ่มขีดความสามารถให้กับองค์กร ยังเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต้องเดินหน้า ล่าสุดบริษัท จาร์เค็น จำกัด บริษัทออกแบบระดับแถวหน้าของไทยที่มีเครือข่ายทั่วเอเชีย ร่วมกับบริษัท คอนซูรัส ประเทศสิงคโปร์ ที่มีประสบการณ์ในด้านเป็นที่ปรึกษาและพัฒนาองค์กรให้บริการลูกค้า 18 ประเทศทั่วโลก ร่วมกันจัดงานสัมมนาในหัวข้อ “การออกแบบโมเดลธุรกิจใหม่ให้ ขับเคลื่อนอย่างยั่งยืน” (How to Redesign Your Business for Sustainable Growth) เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันกับบริษัทคู่แข่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ทั้งก้าวข้ามผ่านวิกฤตต่างๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งจากภายในองค์กรและภายนอกองค์กร พร้อมทั้งเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจของคนไทยจากภายในสู่ภายนอกให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมี ดร.กุลเดช สินธวณรงค์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท จาร์เค็น จำกัด นายลอเรนซ์ ชอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอนซูรัส จำกัด และนายเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) มาเป็นผู้ชี้แนะ

[caption id="attachment_47290" align="aligncenter" width="403"] ลอเรนซ์ ชอง ลอเรนซ์ ชอง[/caption]

 แนะเพิ่มวิธีสร้างธุรกิจยั่งยืน

นายลอเรนซ์ ชอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอนซูรัส จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของเอเชียเริ่มจะถูกกลืนหายไป เนื่องจากคนเอเชียส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับคนตะวันตกมาก ดังนั้นจึงไม่อยากให้ธุรกิจในเอเชียมองข้ามอัตลักษณ์ที่ดีงามของประเทศตน ขณะเดียวกันก็อยากให้ทุกคนเปิดโลกให้กว้างขึ้น โดยเฉพาะองค์กรธุรกิจจากเดิมในอดีตองค์กรธุรกิจจะเน้นแค่การผลิตสินค้าเพิ่ม เพื่อต่อยอดรายได้ที่เข้ามามากขึ้น แต่ในปัจจุบันองค์กรจะมุ่งเน้นแค่เรื่องหารายได้อย่างเดียวไม่ได้ แต่ควรต้องคิดและหาวิธีสร้างธุรกิจให้อยู่อย่างยั่งยืน

“การทำธุรกิจให้เติบโตและยั่งยืน ไม่ควรคิดแต่เรื่องของการเพิ่มจำนวนเงินเพียงอย่างเดียว แต่ควรต้องใส่ใจสิ่งแวดล้อมรอบข้าง โดยเฉพาะกฎ 3 ข้อ คือ 1.มีความคิดสร้างสรรค์ 2.พัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพและทักษะที่ดีขึ้น 3.ปรับเปลี่ยนองค์กรให้ไปพร้อมกับโลกปัจจุบัน ขณะเดียวกันสิ่งที่สำคัญอีกหนึ่งประการ นั่นคือการเก็บข้อมูล(data) ทุกอย่างให้เป็นระบบ เพราะการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนข้อมูลคือสิ่งสำคัญในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาทุกด้าน”

 ชี้ธุรกิจไทยต้องเปิดใจกว้าง

แม้อัตลักษณ์จะเป็นสิ่งสำคัญของคนเอเชีย แต่ในขณะเดียวกันต้องไม่ปิดกั้น เปิดรับความคิดใหม่ๆ อาทิ เด็กรุ่นใหม่ และคนต่างชาติ ซึ่งปัจจุบันสามารถแบ่งตลาดเอเชียออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มตลาดใหญ่ เช่น ประเทศจีน และอินเดีย ซึ่งมีขนาดประเทศและจำนวนประชากรสูง ดังนั้นกลุ่มประเทศนี้จะมีความมั่นใจสูง เชื่อมั่นในความคิดการทำธุรกิจของประเทศตัวเอง จนทำให้เกิดข้อเสียเมื่อไปทำตลาดตะวันตกที่มีการแข่งขันสูงจะปรับตัวยาก 2.กลุ่มตลาดขนาดกลาง ได้แก่ เกาหลี ญี่ปุ่น ไทย เป็นต้น กลุ่มนี้จะมีประชากรราว 80-90 ล้านคน เป็นกลุ่มที่รักษาอัตลักษณ์ตัวตนได้ชัดเจน ดังนั้นกลุ่มประเทศเหล่านี้ต้องใช้ความเป็นอัตลักษณ์เป็นตัวปูทางเพื่อต่อยอด และต้องไม่ปิดกั้นกับสิ่งใหม่ๆที่จะเข้ามา 3.กลุ่มประเทศขนาดเล็ก เช่น สิงคโปร์ เป็นต้นจะขาดอัตลักษณ์ที่ชัดเจนแต่จะมุ่งเน้นเรื่องของนวัตกรรมที่ได้รับมาจาจากตะวันตกส่วนใหญ่

“ประเทศไทยจัดอยู่ในตลาดขนาดกลางของเอเชียที่มีทรัพยากรครบครัน อาทิ ทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรบุคคลที่เก่ง โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ซึ่งหากองค์กรใดที่เป็นรูปแบบธุรกิจครอบครัวควรที่จะเปิดใจกับเด็กกลุ่มนี้ให้มากขึ้น เพื่อต่อยอดธุรกิจให้ดีขึ้นเพราะหากองค์กรไม่เปิดใจ เด็กกลุ่มนี้จะวิ่งไปหางานต่างประเทศและมันสมองที่มีอยู่จะไหลออกไปหมด ขณะเดียวกันองค์กรต่างๆในประเทศต้องเปิดรับบุคลากรต่างชาติเข้ามาทำงานร่วมกับคนในองค์กรมากขึ้น เพื่อให้เกิดระบบการผสมผสานวัฒนธรรม (Mix Culture )และเกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่”

[caption id="attachment_47289" align="aligncenter" width="382"] ดร.กุลเดช สินธวณรงค์ ดร.กุลเดช สินธวณรงค์[/caption]

 หมั่นเอกซเรย์องค์กร

ดร.กุลเดช สินธวณรงค์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท จาร์เค็น จำกัด กล่าวว่า บางครั้งกลุ่มธุรกิจที่เชื่อมั่นว่าประสบความสำเร็จแล้วมักจะลืมตรวจสอบหรือเอกซเรย์องค์กรของตนเสมอ สิ่งสำคัญขององค์กรไม่ควรให้ความสำคัญเพียงแค่เรื่องของรายได้เพียงอย่างเดียว แต่ควรให้ความสำคัญกับบุคลากรที่ทำงานว่าเขาขาดอะไร ต้องการอะไร หรือเข้าใจงานชิ้นนั้นจริงหรือไม่ หรือลูกค้าเจ้าประจำหายไปบ้างหรือไม่อย่างไร ซึ่งผู้บริหารต้องลงไปตรวจตราด้วยตัวเอง หรือหากไม่สามารถตรวจสอบได้ก็ควรจะมีบุคคลกลางที่ทำหน้าที่โดยตรง เพราะจุดเล็กๆที่ผิดพลาดวันนี้อาจจะกลายเป็นจุดใหญ่ในวันข้างหน้าได้

“บางครั้งผมมองว่าประเทศไทย และธุรกิจไทยมีความพร้อมมากเกินไป ทั้งทรัพยากรบุคคล และธรรมชาติ ส่งผลให้ธุรกิจอยู่ในระบบ Comfort Zone หรือพฤติกรรมความกังวลน้อยจนเป็นข้อเสียให้ธุรกิจไทยไม่ตื่นตัวและไม่พร้อมไปเผชิญธุรกิจต่างประเทศ ดังนั้นธุรกิจไทยต้องปรับตัวและกล้าเสี่ยงไปยังตลาดต่างประเทศให้มากขึ้นเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อธุรกิจ อีกทั้งสิ่งสำคัญของการทำธุรกิจต้องคิดก่อนเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า 1 ก้าวเสมอ”

[caption id="attachment_47288" align="aligncenter" width="382"] เกรียงไกร กาญจนะโภคิน เกรียงไกร กาญจนะโภคิน[/caption]

 ทรัพยากรบุคคลคือสิ่งสำคัญ

นายเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในยุควิกฤตต้มยำกุ้ง ภาวะเศรษฐกิจแย่ ธุรกิจต่างๆขาดทุนและทยอยปิดตัวจำนวนมาก ขณะเดียวกันธุรกิจส่วนใหญ่จะเลือกแก้ปัญหาโดยการให้คนออก เนื่องจากเป็นต้นทุนFix cost แต่บริษัทอินเด็กซ์ฯเลือกจะไม่จ้างคนออก แต่จะไปเน้นการตัดต้นทุนของฟุ่มเฟือยแทน เช่น กาแฟ ชา ขนม ทุกเช้า รวมถึงรายได้พิเศษของบุคลากรที่มีตำแหน่งสูง เป็นต้น บริษัทตัดออกหมด แม้ดูภายนอกจะเป็นต้นทุนเล็กน้อยแต่นั่นคือต้นทุน

“เหตุการณ์ครั้งนั้นที่อินเด็กซ์ไม่เลือกจ้างคนออก เนื่องจากมองเห็นว่าหากคนที่ออกไปแล้วจะทำอะไรกิน อีกทั้งคนที่ถูกจ้างออกไปเกือบ 100% จะไม่กลับมาทำงานที่เดิมอีก และสิ่งที่สำคัญบริษัทมองว่าบุคคลากรเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของการทำงานจึงไม่เลือกจ้างคนออก และหลังจากที่วิกฤติดังกล่าวหายไปสภาพเศรษฐกิจเหมือนเดิม บริษัทกลับมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากในช่วงที่ว่างงานอินเด็กซ์จะเรียกพนักงานมาอบรมพัฒนาเสมอเพื่อรอวันที่วิกฤติคลี่คลาย”

 คิด 1 อย่างใช้ทั้งโลก

สำหรับช่วงเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญวิกฤติมาตลอด อาทิ การเมือง น้ำท่วม และภัยแล้ง ดังนั้นหากธุรกิจไทยคิดแค่ทำการตลาดหรือขายของแค่ในประเทศไทยคงจะลำบาก ดังนั้นธุรกิจต้องคิดให้กว้างขึ้น เช่น การคิดคอนเทนต์ขึ้นมา 1 ชิ้นต้องสามารถนำไปขายได้ทั่วโลก อีกทั้งการประกอบธุรกิจไม่ควรทำเพียงแค่ประเภทเดียว แต่ควรกระจายความเสี่ยงโดยการขยายกลุ่มสินค้า และขยายตลาดออกไปยังตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น และสิ่งที่สำคัญต้องอย่าหยุดคิดสิ่งที่สร้างสรรค์

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,151 วันที่ 24 - 27 เมษายน พ.ศ. 2559