ดับฝัน ‘ทำเลทอง’เสือใหญ่ "ต่อขยายรถไฟฟ้า"สายสีเหลือง จ่อไปไม่ถึง 

06 มี.ค. 2564 | 19:00 น.

ปัจจุบันมีรถไฟฟ้าหลายเส้นทางอยู่ระหว่างก่อสร้าง ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวกมากขึ้น แต่สำหรับโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายเหลือง ช่วงแยกรัชดาภิเษก-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน เชื่อมโยงส่วนต่อขยายสายสี เขียว ช่วงหมอชิต-คูคต  แม้จะมีระยะทางสั้นๆ แต่กลับเป็นประเด็นร้อนไม่แพ้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และหากไม่สามารถขยายเส้นทางได้ อาจมีผลทำให้ทำเล “เสือใหญ่” ย่านศาลรัชดาภิเษก ลดความร้อนแรงลงได้ 

ที่ผ่านมาบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทอีสเทิร์น บางกอก โมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง ได้เสนอลงทุนโครงการดังกล่าวเองทั้งหมด โดยเพิ่ม วงเงิน 3,779 ล้านบาท ซึ่งเป็นงานก่อสร้างและเวนคืนที่ดิน ระยะทาง 2.6 กิโลเมตร (กม.) พร้อมแบ่งรายได้เพิ่มในกรณีที่ปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเมื่อถึงจุดที่กำหนดส่วนแบ่งให้กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

ขณะเดียวกัน การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ต้องการให้  EBM ชดเชยให้ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน MRT กรณีที่การต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่งผลกระทบต่อรายได้และผู้โดยสารของ MRT สายสีน้ำเงิน ทั้งนี้ BTS ยืนกรานมาโดยตลอดว่าจะไม่ขอเกี่ยวข้องในกรณีชดเชยรายได้ให้กับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เนื่องจาก BEM ไม่ใช่คู่สัญญาของบีทีเอส 

ดับฝัน ‘ทำเลทอง’เสือใหญ่ "ต่อขยายรถไฟฟ้า"สายสีเหลือง จ่อไปไม่ถึง 

ล่าสุดนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าผลการเจรจาโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเหลือง ช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน ระหว่าง รฟม. กับบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ EBM ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนโดยกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (บีทีเอส-ซิโนไทยฯ-ราชกรุ๊ป) เป็นผู้รับสัมปทานว่า เนื่องจากทาง EBM ได้ทำหนังสือถึงรฟม.โดยยืนยันชัดเจนว่า ไม่สามารถรับภาระค่าชดเชยรายได้จากผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยาย ช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน ตามที่บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ทำหนังสือถึงรฟม. ขอให้เจรจากับ EBM 

“ทั้งนี้บอร์ดรฟม.ได้มอบหมายให้รฟม.ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องชดเชยเพิ่มเติมให้แก่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน MRT เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ดในครั้งถัดไป เราต้องประมาณการในส่วนที่ต้องรับภาระค่าชดเชยตามที่ BEM เรียกร้อง เพื่อประกอบการพิจารณา ส่วนจะมีการเจรจาเพิ่มเติมกับ EBM หรือไม่ขึ้นอยู่กับมติบอร์ดรฟม.เป็นผู้พิจารณา”

ที่ผ่านมา รฟม.เคยศึกษาเบื้องต้นแล้วพบว่า เมื่อเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยายในปีแรก จะส่งผลกระทบต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดยผู้โดยสารจะลดลงประมาณ 9,000 คนต่อวัน ขณะที่รายได้หายไปประมาณ 180,000 บาทต่อวัน และผู้โดยสารรวมถึงรายได้จะลดลงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปีสุดท้ายของสัมปทานผู้โดยสารจะหายไปประมาณ 30,000 คน รายได้หายไปประมาณ 600,000 บาทต่อวัน ทั้งนี้ตามสัญญาระบุว่าจะต้องเจรจาให้ได้ข้อยุติก่อนเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ภายในเดือน ก.ค.2565 

ฟากนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหารบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ในฐานผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทอีสเทิร์น บางกอก โมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรณีที่รฟม.จะศึกษาในส่วนที่ต้องชดเชยรายได้ให้กับ BEM นั้น ทาง BTS มองว่าคงต้องรอดูผลการศึกษาในครั้งนี้จากรฟม.ก่อน เนื่องจากที่ผ่านมารฟม.ให้ BEM เป็นผู้ศึกษาที่ต้องชดเชยรายได้เองหากมีการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเหลือง ช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน

“หากรฟม.จะเจรจาโดยยึดผลการศึกษาล่าสุดนั้นเราคงต้องดูเงื่อนไขของรฟม.ก่อนว่าเป็นอย่างไร หลังจากนั้นจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมอีกครั้ง แต่เรายืนยันจุดยืนเดิม คือไม่ชดเชยรายได้ให้กับ BEM เพราะโครงการฯนี้ เราเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด 100%”

 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการ (บอร์ด) สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยาย ช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึง แยกรัชโยธิน ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยให้รับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป เบื้องต้นในส่วนของผลการศึกษาความเหมาะสมฯ พบว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยายฯ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและการให้บริการรถไฟฟ้าแก่ประชาชน

โดยการเพิ่มศักยภาพของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ในการรองรับการเดินทางเชื่อมต่อของผู้โดยสารเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายหลักได้มากถึง 4 สาย ได้แก่ รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว อีกทั้งยังเพิ่มศักยภาพการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ให้สามารถเข้าถึงโครงข่ายรถไฟฟ้าเพื่อเดินทางเข้าเมืองได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเดินทางบนแนวถนนรัชดาภิเษกที่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น และเป็นที่ตั้งของหน่วยงานต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม สำนักงานศาลยุติธรรม ศาลอาญา สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการ ศาลแขวงพระนครเหนือ ศาลอุทธรณ์ ศาลแพ่ง เป็นต้น 

ทั้งนี้คงต้องจับตาดูว่าโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเหลืองมีแนวโน้มที่จะก่อสร้างตามเส้นทางสายหลักได้หรือไม่ และจะได้ข้อสรุปในรูปแบบใด ถือเป็นอีกโครงการที่ประชาชนยังรอคอยคำตอบ 

ที่มา : หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41  ฉบับที่ 3,659 วันที่ 7 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2564