กพท.เปิดเงื่อนไข 12 ข้อสำหรับผู้โดยสารแวะ"เปลี่ยนลำ"ในไทย

03 มี.ค. 2564 | 22:00 น.

กพท.แนะแนวปฏิบัติ 12 ข้อสำหรับผู้โดยสารไฟล์ทบินระหว่างประเทศ ที่เข้ามาเปลี่ยนลำหรือทรานซิทในไทย ย้ำสิ่งที่ต้องมีคือเอกสารใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าไม่มีเชื้อโควิดและกรมธรรม์ประกันภัย

ตามประกาศจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)เรื่อง เงื่อนไขในการอนุญาตให้อากาศยานทำการบินเข้าออกประเทศไทย (ฉบับที่ 5) สำหรับอากาศยานทำการบินในเที่ยวบินระหว่างประเทศที่มีผู้โดยสารถ่ายลำหรือเปลี่ยนลำ (Transit/Transfer Flight) โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป ซึ่งสอดคล้องตามมติที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19 ) (ศบค.) ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 โดยให้ยึดถือแนวทางปฏิบัติ ดังนี้ 


1. อนุญาตให้อากาศยานทำการบินในเที่ยวบินระหว่างประเทศที่มีผู้โดยสารถ่ายลำหรือเปลี่ยนลำ (Transit/Transfer Flight) ได้เฉพาะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ


2.ผู้โดยสารต้นทางจะต้องมีเอกสาร 


- ใบรับรองแพทย์ (Fit to Fly Health Certificate)
- ใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าไม่มีเชื้อโควิด –19 (Medical certificate with a laboratory result indicating that COVID – 19 is not detected) โดยวิธี RT-PCR
- กรมธรรม์ประกันภัย (Insurance) ที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาล รวมทั้งกรณีโรคโควิด – 19 ในระหว่างอยู่ในราชอาณาจักร 100,000 USD

 

3.กำหนด Sealed route โดยจัดพื้นที่เฉพาะสำหรับผู้โดยสารที่เดินทางมาถึงท่าอากาศยานไม่ให้ออกนอกพื้นที่ที่กำหนดบริเวณ Concourse E ดังนี้


ก. ให้ผู้โดยสารลงจากเครื่องเข้า Gate E10 ผ่านกระบวนการตรวจค้นเพื่อรักษาความปลอดภัย และขึ้นเครื่องที่ Gate E9 หรือขึ้นรถบัสไปหลุมจอดระยะไกล (Remote Parking Stand) โดยไม่ให้ปะปนกับผู้โดยสารอื่น

ข. กรณีเที่ยวบินมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น Gate E5, E7 และ E8 จะเปิดให้บริการเพิ่มเติม และให้ดำเนินการเช่นเดียวกับ ก.

ค. กรณีที่เที่ยวบินเกิดปัญหาทางเทคนิคและต้องลงจอด ให้ดำเนินการเช่นเดียวกับ ก. หรือ ข.

 

ในกรณีที่ Concourse E อยู่ในระหว่างการซ่อมแซมปรับพื้นผิวลานจอดอากาศยาน ให้ใช้ Concourse F โดยดำเนินการ ดังนี้

 

ก. ให้ผู้โดยสารลงจากเครื่อง เข้า Gate F6 ผ่านกระบวนการตรวจค้นเพื่อรักษาความปลอดภัย และขึ้นเครื่องที่ Gate F5 หรือขึ้นรถบัสไปหลุมจอดระยะไกล (Remote Parking Stand) โดยไม่ให้ปะปนกับผู้โดยสารอื่น

ข. กรณีเที่ยวบินมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น Gate F1, F2, F3 และ F4 จะเปิดให้บริการเพิ่มเติม และให้ดำเนินการเช่นเดียวกับ ก.

ค. กรณีที่เที่ยวบินเกิดปัญหาทางเทคนิคและต้องลงจอด ให้ดำเนินการเช่นเดียวกับ ก. หรือ ข.

4.การรอในพื้นที่ Transit/Transfer ต้องจัดระยะห่างระหว่างผู้โดยสาร และเน้นย้ำให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา รวมถึงจัดให้มีเจลแอลกอฮอล์ความเข้มข้นไม่น้อยกว่า 70%


5.เจ้าหน้าที่ที่เข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ Transit/Transfer จะต้องส่วมใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ทุกครั้ง


6.มีจุดให้บริการอาหารและเครื่องดื่มในพื้นที่รอ Transit/Transfer ที่จัดไว้เป็นสัดส่วน และมีการจัดการดูแลความเรียบร้อยในช่วงระยะเวลาการใช้บริการ

 

7.มีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค (Disinfection) พื้นที่และอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ ตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
 

8.กำหนดเวลา Transit/Transfer ไม่เกิน 12 ชม. ทั้งนี้ หากเกิน 12 ชั่วโมง ด้วยเหตุผลใดๆ เจ้าหน้าที่สายการบินต้องนำผู้โดยสารออกจาก Gate E9 โดยทางรถบัส ไปพักคอยที่ Gate D3 และ D4  


9.ไม่มีการตรวจคัดกรองและไม่มีบริการการตรวจแล็ป COVID-19 ทางห้องปฏิบัติการ ณ จุด Transit/Transferที่ท่าอากาศยาน 


10.กรณีตรวจพบผู้โดยสารมีอาการหรือมีไข้ ให้สายการบินที่รับขนผู้โดยสารเข้ามาเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ


11.หลีกเลี่ยงประเทศต้นทางที่มีความเสี่ยงสูงในการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)


12.ผู้ดำเนินการเดินอากาศต้องจัดส่งแผนการทำการบิน Transit/Transfer มายังสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และศูนย์ควบคุมปฏิบัติการเขตการบิน (AOCC) ทสภ. ล่วงหน้า 24 ชั่วโมง ก่อนทำการบิน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"สายการบิน"เฮ caat คลายล็อกให้บริการอาหาร บนเครื่องบิน"ได้แล้ว

นักบิน “การบินไทย”โพสต์เศร้าใจหาย "เริ่มต้นใหม่ ในวัย 50 ปี"