ชงลดภาษีจูงใจรร.ปรับโฉม ทีเอชเอเสนอคลังลดหย่อน 2 เท่า/เพิ่มโทษจำคุกธุรกิจเถื่อน

25 เม.ย. 2559 | 04:00 น.
"ทีเอชเอ"พลิกแผนชงคลังออกมาตรการจูงใจทางภาษีนำค่าใช้จ่ายปรับปรุงโรงแรมหักลดหย่อนได้ 2 เท่าหลังเจอตอบีโอไอหนุนเฉพาะโรงแรมสร้างใหม่ หวังเร่งเจ้าของธุรกิจปรับโฉมห้องพักแจงดึงได้ 10 % เกิดการลงทุนราว 5 พันล้านบาททันที พร้อมจี้รัฐแก้พ.ร.บ.โรงแรม เพิ่มโทษโรงแรมเถื่อน จำคุก 3ปี ปรับเพิ่มเป็น 2 แสนบาท ส่วนกรณีลงโฆษณาปรับทันที 1 แสนบาท ตอกย้ำให้ขรก.-รัฐวิสาหกิจ ประชุม สัมมนา ในประเทศ ต้องเบิกค่าใช้จ่ายได้กับที่พักที่ถูกกฎหมายเท่านั้นเพื่อกระตุ้นให้เข้าสู่ระบบ

[caption id="attachment_47282" align="aligncenter" width="367"] สุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร สุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร[/caption]

นายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร อดีตนายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่าขณะนี้ทีเอชเอ ได้นำเสนอแนวคิดในการผลักดันให้รัฐบาลออกมาตรการจูงใจทางภาษี ให้ธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยที่จดทะเบียนดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมายสามารถนำค่าใช้จ่ายในกรณีที่มีการปรับปรุงโรงแรมมาใช้หักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เจ้าของธุรกิจโรงแรม ซึ่งปัจจุบันต้องถือว่าเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพที่จะลงทุนสูงตัดสินใจปรับปรุงโรงแรมในช่วงโลว์ซีซันนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานและทำให้เกิดเงินหมุนเวียนภายในประเทศ เพิ่มมากขึ้น

"แนวคิดนี้ได้นำเสนอผ่านไปยังนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งรมว.กอบกาญจน์ ก็เห็นแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการหารือกับทางกระทรวงการคลัง ว่าจะสนับสนุนมาตรการดังกล่าวได้หรือไม่ ขณะเดียวกัน ก็ยังนำเสนอแนวคิดนี้ผ่านไปยังคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวและไมซ์ในประเด็นเรื่องนโยบายกระตุ้นการลงทุนด้านการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มการลงทุนด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งในแผน ควิก วิน ด้านการท่องเที่ยวด้วย"

โดยประมาณการว่าจากสถิติของกระทรวงมหาดไทย พบว่าปัจจุบันมีโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย อยู่ที่ราว 5 แสนห้อง จากเดิมที่มีอยู่ 3.8 แสนห้อง ดังนั้นถ้ามาตรการทางภาษีดังกล่าวได้ความเห็นชอบจากรัฐบาล คิดเพียง 10% ของห้องพักที่มีการปรับปรุงหรือมีจำนวนห้องพัก 5 หมื่นห้อง ประเมินการลงทุนอยู่ที่ประมาณ 1 แสนบาทต่อห้อง นั่นหมายถึงจะทำให้เกิดการลงทุนในส่วนนี้ราว 5 พันล้านบาท นายสุรพงษ์กล่าว

" มาตรการนี้เดิมเคยคิดว่าจะนำเสนอผ่านไปยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ แต่ติดขัดเรื่องกฎหมายของบีโอไอ ที่ให้อำนาจการให้สิทธิประโยชน์ไว้เฉพาะโรงแรมที่ยื่นขอก่อสร้างใหม่เท่านั้น ซึ่งหากจะผ่านบีโอไอ ต้องมีการผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งต้องใช้เวลา แต่หากคลังสนับสนุนก็ใช้ประกาศอำนาจของกระทรวงการคลัง ก็จะสามารถดำเนินการได้ทันทีผ่านทางกรมสรรพากร"

นายสุรพงษ์ ยังกล่าวต่อว่า แนวคิดนี้นอกจากการจ้างแรงงานแล้วได้ประโยชน์แล้วยังมีการซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เช่น พรม วอลล์เปเปอร์ เข้ามาใช้อีก ซึ่งรัฐบาลก็ยังได้ในเรื่องของการจัดเก็บภาษีได้ด้วย ขณะที่สิ่งที่ผู้ประกอบการ จะได้รับก็คงเป็นเรื่องการสร้างแรงจูงใจให้โรงแรมที่มีแผนจะปรับปรุงอยู่แล้วในอีก 1 ปีหรือ 1 ปีครึ่งจากนี้ ร่นระยะเวลามาดำเนินการให้เร็วขึ้น หากสามารถนำค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มาหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าเป็นแรงจูงใจ

นอกจากนี้ สมาคม ยังมีการนำเสนอเรื่องผ่านไปยังคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ทั้งในส่วนของคณะทำงานด้านการปรับแก้ไขกฎหมายและกลไกภาครัฐ รวมถึงคณะทำงานด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวและไมซ์ เพื่อผลักดันมีการปรับแก้ไขกฎหมายโดยขอให้เพิ่มบทลงโทษสำหรับการประกอบการธุรกิจโรงแรมที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายซึ่งขอให้มีการเพิ่มโทษในมาตรา 59 ของ พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ.2547 จากเดิมที่มีการกำหนดบทลงโทษสำหรับโรงแรมที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องไว้ว่าต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ ขอแก้ไขโดยเพิ่มเป็นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1-3 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่น- 2 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนโทษปรับรายวันยังคงไว้เท่าเดิม

อีกทั้งยังเสนอให้มีการกำหนดบทลงโทษสำหรับโรงแรมเถื่อน ที่มีการดำเนินการโฆษณา และประชาสัมพันธ์โรงแรม ให้ปรับไม่เกิน 1 แสนบาทด้วย เพื่อให้หากตรวจสอบพบว่ามีการโฆษณาหรือนำเสนอขายโรงแรม ก็สามารถลงโทษได้ทันที ไม่ต้องรอจนครบองค์ประกอบการขายและรับเงินแล้ว จึงจะสามารถดำเนินคดีได้

[caption id="attachment_47283" align="aligncenter" width="365"] ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ[/caption]

ต่อเรื่องนี้นางศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมทีเอชเอ กล่าวว่า นอกจากการผลักดันให้รัฐบาลสนับสนุนมาตรการทางภาษี แก่โรงแรมที่ปรับปรุงแล้ว ยังได้นำเสนอให้รัฐบาลมีนโยบายที่จะดึงดูดให้โรงแรมที่ไม่ได้จดทะเบียนอย่างถูกต้อง ตามพ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ.2547 ให้เข้าสู่ระบบมากขึ้น ด้วยการขอให้การจัดประชุมสัมมนาในประเทศของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจต่างๆ ต้องใช้โรงแรมหรือที่พักที่มีการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย มีใบอนุญาตในการดำเนินธุรกิจ จึงจะสามารถเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายกับทางกระทรวงการคลังได้

"ปัญหาโรงแรมเถื่อนเป็นเรื่องที่สมาคมกังวลมากคือเรื่องของมาตรฐานด้านความปลอดภัย เพราะคนที่เข้าสู่ระบบถูกต้อง จะต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.โรงแรม และต้องมีการตรวจสอบการทำงานอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งจุดนี้ถือเป็นการควบคุมมาตรฐานบริการและความปลอดภัยในธุรกิจโรงแรม ขณะที่โรงแรมเถื่อนจะไม่มีเรื่องเหล่านี้ เป็นตัวควบคุมมาตรฐาน"

นอกจากนี้ยังเห็นว่าโรงแรมที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้อง ทำให้ประเทศชาติไม่ได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะไม่เพียงแต่จะเลี่ยงการจ่ายภาษีเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดปัญหาการตัดราคาค่าห้องพัก ดังนั้นแม้ในแต่ละปีประเทศไทยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามามาก อย่างปีนี้คาดการณ์ไว้ว่าน่าจะถึง 32 ล้านคน แต่ปัญหาคือรายได้ไม่ได้เติบโตสัมพันธ์กัน เพราะอัตราค่าห้องพักเฉลี่ยในธุรกิจโรงแรมไทย ถือว่าติดอันดับ 3 ในระดับต่ำที่สุดอาเซียน ทั้งที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวโตสูงสุดเป็นอันดับ 1

ต่างจากประเทศสิงคโปร์ ที่แม้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวน้อยกว่า แต่อัตราค่าห้องพักเฉลี่ยสูงมาก เทียบกับเมื่อปี 2557 อัตราค่าห้องพักเฉลี่ยของไทยจะอยู่ที่ 130 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคืน ส่วนที่สิงคโปร์ จะอยู่ที่เฉลี่ย 280 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคืน ซึ่งห้ามสร้างโรงแรมใหม่เหมือนที่สิงคโปร์หรือในอีกหลายประเทศ ไทยคงไม่สามารถห้ามได้ แต่ก็ควรให้ความสำคัญกับการวางนโยบายหรือออกมาตรการต่าง ๆ ที่จูงใจให้โรงแรมที่ไม่ถูกต้องหันกลับเข้าสู่ระบบให้ได้มากขึ้น นางศุภวรรณ กล่าวทิ้งท้าย

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,151 วันที่ 24 - 27 เมษายน พ.ศ. 2559