KKP Research ประเมินศักยภาพการท่องเที่ยวไทย 5 ด้าน

01 มี.ค. 2564 | 08:55 น.

KKP Research ประเมินศักยภาพการท่องเที่ยวไทย 5 ด้าน ได้แก่ 1. การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ 2.การท่องเที่ยวเชิงอาหาร 3. การท่องเที่ยวราตรีที่ปลอดภัย 4.การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และ 5. การท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม

 

KKP  Research โดย  เกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ว่า การท่องเที่ยวไทยมีสัญญาณชะลอตัวนับตั้งแต่ปี2559 ก่อนโควิดแล้ว ตามแนวโน้มนักท่องเที่ยวจีนที่หันไปท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น ( KKP Research ,พลิกท่องเที่ยวไทย ให้ฟื้นได้อย่างทรงพลัง :ตอนที่ 1) ในตอนนี้ (พลิกท่องเที่ยวไทย ให้ฟื้นได้อย่างทรงพลัง ตอนที่ 2 ) มองสถานการณ์โควิดสะท้อนความเสี่ยงและโอกาสของการท่องเที่ยวใน 4มิติ และประเมินศักยภาพการท่องเที่ยวไทยมีความสามารถที่จะเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวใน 5ด้านได้แก่ 1. การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ 2.การท่องเที่ยวเชิงอาหาร 3. การท่องเที่ยวราตรีที่ปลอดภัย  4.การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และ 5. การท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม

KKP Research ประเมินศักยภาพการท่องเที่ยวไทย 5 ด้าน

1. การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ (Medical and Wellness Tourism) หลายปีที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นการขยายตัวของเทรนด์สุขภาพ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และจำนวนของคนวัยเกษียณที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ที่ผ่านมาการท่องเที่ยวในเชิงสุขภาพขยายตัวเป็น 2 เท่าของการท่องเที่ยวทั่วไปในตลาดโลก ซึ่งไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นผู้นำในด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในเอเชีย โดยมีดัชนีการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอยู่ที่ลำดับ 17 จาก 46 ประเทศทั่วโลก จากการจัดอันดับของ The International Healthcare Research Center ในปี 2020-2021 ประกอบกับที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2010-2019 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไปที่เดินทางเข้าประเทศไทย ขยายตัวกว่า 15% ต่อปี และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 22% ของนักท่องเที่ยวที่มาไทยทั้งหมด (รูปที่ 8)

KKP Research ประเมินศักยภาพการท่องเที่ยวไทย 5 ด้าน

 

นอกจากนี้  ไทยยังมีความโดดเด่นในด้านการแพทย์ โดยประเทศไทยมีจำนวนโรงพยาบาลเอกชนมากกว่า 1,000 แห่ง และมีสถานพยาบาลกว่า 61 แห่ง ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน Joint Commission International (JCI) จากสหรัฐฯ ซึ่งมีจำนวนสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ลำดับของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย ยังถือว่าต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ในทวีปเอเชียที่มีจำนวนสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองจาก JCI น้อยกว่า อาทิ สิงคโปร์ (อันดับ 1 ของโลก) 7 แห่ง, ญี่ปุ่น (3) 31 แห่ง, ไต้หวัน (16) 13 แห่ง เป็นต้น (รูปที่ 9) จึงสะท้อนโอกาสที่ไทยจะสามารถยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ต่อไปได้อีกในอนาคต

KKP Research ประเมินศักยภาพการท่องเที่ยวไทย 5 ด้าน

2. การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Culinary Tourism) รายได้จากการท่องเที่ยวไทยทั้งหมดกว่า 20% มาจากค่าใช้จ่าย

ด้านอาหาร และการท่องเที่ยวเชิงอาหารถือเป็นหนึ่งในมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยมาหลายยุคหลายสมัย ซึ่งประกอบกับทิศทางอุตสาหกรรมในอนาคตของไทยที่ทาง KKP Research เคยเสนอไปในบทความชุดก่อนหน้านี้ อย่าง

F-A-T-E (ดู KKP Research เศรษฐกิจไทยกลับไม่ได้ไปไม่ถึง หากไม่พึ่งเทคโนโลยี) อุตสาหกรรมและธุรกิจบริการด้านอาหารของไทยจึงมีศักยภาพที่จะเติบโตได้ดี และมีศักยภาพในการดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีความชื่นชอบในอาหารไทย โดยการแสวงหาความเป็นเอกลักษณ์ในแต่ละท้องถิ่นเพื่อนำมาต่อยอดสู่การท่องเที่ยวเชิงอาหาร ตัวอย่างจาก ไร่ไวน์ในอิตาลี ฝรั่งเศส หรือสหรัฐอเมริกาที่มีกำหนดพื้นถิ่นเพาะปลูก (Appellation of Origin) และส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวได้ หรืออาหารประจำถิ่นญี่ปุ่น อาทิ ชาเขียวของเมืองอูจิ ทาโกยากิของโอซากา หรือพิซซ่าญี่ปุ่นของฮิโรชิมา ที่เป็นที่รู้จักและสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวไปยังสถานที่ท่องเที่ยวแหล่งใหม่ได้ โดยไทยมีจุดแข็งในด้านพันธุ์ข้าว (สามารถพัฒนาเป็นกิจกรรมโฮมสเตย์เพื่อสร้างรายได้เสริม) สมุนไพร (เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ) อีกทั้งรูปแบบการรับประทานอาหารประจำภาค (เช่น ขันโตกในภาคเหนือ) ที่มาเสริมสร้างประสบการณ์นักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

3. การท่องเที่ยวราตรีที่ปลอดภัย (Safe Nightlife Tourism) ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในสิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมายังประเทศไทยคือการเป็นเมืองท่องเที่ยวที่น่าตื่นเต้นและไม่มีวันหลับไหล หรือสามารถเที่ยวได้ทั้ง 24 ชั่วโมง และไทยก็มีมูลค่าของเศรษฐกิจกลางคืนค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทั้งที่วัดได้จริงและไม่สามารถประเมินได้ และครอบคลุมตั้งแต่ตลาดนัดกลางคืน ตลาดโต้รุ่ง อาหารริมทาง ไปจนถึงสถานบันเทิงต่าง ๆ ล่าสุดในปี 2019 CNN จัดอันดับให้กรุงเทพฯ เป็น 1 ใน 11 เมืองท่องเที่ยวยามค่ำคืนที่ดีที่สุดของโลก อย่างไรก็ตาม หนึ่งในปัญหาสำคัญของการท่องเที่ยวราตรีของไทยคือความกังวลเรื่องของความปลอดภัย ซึ่งภาครัฐควรมีแนวทางและมาตรการพัฒนาเศรษฐกิจราตรีอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวในระยะยาว

4. การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Cultural Tourism) หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนไทย คือการชื่นชมสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่มีอยู่มากมาย ซึ่ง KKP Research มองว่ายังคงสามารถเสริมสร้างประสบการณ์ในการเข้าชมได้อีกผ่านการใช้เครือข่ายอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งในด้านการซื้อบัตรเข้าชมล่วงหน้า การระบุเวลาเข้าชมเพื่อแก้ไขปัญหานักท่องเที่ยวหนาแน่น การใช้เทคโนโลยี Augmented Reality และ Virtual Reality เพื่อสร้างความเข้าใจและสร้างประสบการณ์เสมือนจริง รวมไปถึงการเปิดให้เข้าชมในช่วงเวลากลางคืน นอกจากนี้ ความสนใจในด้านวัฒนธรรมร่วมสมัยของไทย (Contemporary Culture) ผ่านการรับรู้จากภาพยนตร์ต่างประเทศ เช่น The Hangover (2009) หรือภาพยนตร์ไทยที่เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ เช่น บุพเพสันนิวาส (2018) ฉลาดเกมส์โกง (2017)เป็นต้น สามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้ เฉกเช่นเดียวกับวัฒนธรรมเกาหลีร่วมสมัยผ่านละคร (K-drama) หรือดนตรี (K-Pop) ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเนื่องได้มหาศาล

5. การท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม (Focus Tourism) การท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มเป็นแนวโน้มการท่องเที่ยวที่มีการเติบโตสูง และเป็นการท่องเที่ยวที่ต้องอาศัยความรู้และความเข้าใจในด้านขนบ วัฒนธรรม หรือธรรมเนียมปฏิบัติของนักท่องเที่ยวหรือประเทศต้นทาง KKP มองว่าการท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันได้และเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ได้แก่

(1) Halal Tourism หรือท่องเที่ยวฮาลาล ซึ่งมีสัดส่วนการใช้จ่ายถึง 11.6% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั่วโลก (2018) และขยายตัวอย่างรวดเร็ว  จากการจัดอันดับของ Global Muslim Travel Index (GMTI) ที่ร่วมจัดทำโดย Mastercard ในปี 2019 ไทยเป็นอันดับที่ 2 รองจากสิงคโปร์ ใน 10 ประเทศจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวนอกกลุ่มประเทศมุสลิม ถือว่าไทยมีแต้มต่อในด้านการท่องเที่ยวอยู่บ้างแล้ว การท่องเที่ยวฮาลาลจึงเป็นการท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มที่ไทยไม่ควรมองข้ามและควรสร้างสรรค์รูปแบบการท่องเที่ยวให้เข้ากับรูปแบบและธรรมเนียมปฏิบัติของชาวมุสลิม อาทิ การรองรับครอบครัวใหญ่ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับพิธีกรรมทางศาสนา รวมถึงการยกระดับมาตรฐานฮาลาล เป็นต้น

(2) LGBTQ+ Tourism หรือการท่องเที่ยวของเพศทางเลือก จากข้อมูลของ UNWTO (2018) คาดว่านักท่องเที่ยวกลุ่ม L-GBTQ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 5-10% ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก มีการท่องเที่ยวที่ค่อนข้างถี่และใช้จ่ายมากกว่าค่าเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น ๆ โดยปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้ผ่านกฎหมายคู่ชีวิตที่เปิดกว้างต่อการแต่งงานกันของเพศทางเลือกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQ ได้มากขึ้น จากเดิมที่ไทยมีชื่อเสียงในฐานะที่เป็นประเทศที่เปิดกว้างและยอมรับความหลากหลายทางเพศและเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQ อยู่แล้ว ซึ่งหากภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยมีความเข้าใจด้านละเอียดอ่อนของเพศทางเลือก (Gender Sensibility)  จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นได้

อ่านฉบับเต็ม : พลิกท่องเที่ยวไทย ให้ฟื้นได้อย่างทรงพลัง(ตอน2)