“ไทยควรวางตัวอย่างไร” ต่อ “วิกฤติเมียนมา”

01 มี.ค. 2564 | 07:28 น.

วิกฤติในเมียนมาที่ทั่วโลกจับตามองในเวลานี้ ในส่วนของประเทศไทยควรวางตัวอย่างไรนั้น ฟังจาก ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย ดังนี้

“ไทยควรวางตัวอย่างไร” ต่อ “วิกฤติเมียนมา”

“วิกฤติเมียนมา” ในขณะนี้กลายเป็นบททดสอบสำคัญของอาเซียน ว่าจะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาได้มากน้อยแค่ไหน การปฎิวัติเมียนมาส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจเมียนมาอย่างหนักและจะส่งผลต่อการค้าและการลงทุนของประเทศอาเซียนในเมียนมา

สถาบันระหว่างประเทศหลายสำนักคาดการณ์ GDP ก่อนปฏิวัติว่าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจเมียนมาอยู่ในระดับ 6-7% เช่น ADB คาดการณ์เศรษฐกิจเมียนมา (10 ธ.ค.2563) ว่า GDP จะขยายตัว 6% ในขณะที่ Fitch Rating (2 ก.พ.2564) ให้ขยายตัว 5.6% และประเมินว่าผลปฎิวัติลดเหลือ 2% หากสถานการณ์พัฒนาไปใกล้เคียงกับปี 1988 ที่ถือได้ว่าเป็นการประท้วงใหญ่ที่สุดและสูญเสียชีวิตเป็นหมื่นคน GDP ปี 2021 มีโอกาสติดลบสูง (GDP ปี 1988  -11%)

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมาขณะนี้ไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจเมียนมาเองและประเทศคู่ค้าแน่นอน ประเทศไทยเป็นนักลงทุนและคู่ค้าลำดับที่ 3 ในเมียนมารองจากสิงคโปร์และจีน “ใครจะช่วยให้เมียนมา” ก้าวข้ามวิกฤตินี้ไปได้

“ไทยควรวางตัวอย่างไร” ต่อ “วิกฤติเมียนมา”

ผมแบ่งฝ่ายที่จะช่วยเหลือเป็น 4 ฝ่ายคือ 1.ประเทศที่มีพื้นที่ชายแดนติดกันที่มี ไทย อินเดีย จีน บังกลาเทศและลาว 2.ประเทศอาเซียน 3 ประเทศลงทุนหลักในเมียนมาคือ จีน สิงคโปร์และไทย และ 4.ประเทศตะวันตก แต่กลุ่มประเทศที่มีความเหมาะสมและอยู่ในฐานะที่เป็นตัวกลางในการช่วยแก้ไขวิฤกติในเมียนมาได้มากที่สุดคือ “อาเซียน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่เป็นประธานอาเซียน(ปี 2564)คือ “บรูไน”

อย่างไรก็ตาม ผมก็ไม่คาดหวังว่าอาเซียนจะช่วยแก้ปัญหาได้ทั้งหมดเพราะ 1.ระเบียบและกติกาอาเซียนที่มีอยู่ไม่ได้มีผลลงโทษและกติกาอาเซียนขัดกันเอง คือ ธรรมนูญอาเซียน (ASEAN Charter, 2008) เน้นย้ำเรื่อง เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย แต่ Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia :TAC (1976) เน้นเรื่องการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอาเซียน (Non Interference) ซึ่งอินโดนีเซีย บรูไน มาเลเซีย และสิ่งคโปร์ยึด ASEAN Charter แต่ไทย ฟิลิปฟินส์ สปป.ลาว กัมพูชาและเวียดนาม เน้นตาม TAC  

2.อดีตบอกว่าการปฏิวัติและวิกฤติอื่นๆ ที่ผ่านมาในเมียนมา อาเซียนไม่ได้มีบทบาทในสถานการณ์เมียนมา เช่น กรณีโรฮิงญา และกรณีหมอกควันจากอินโดนีเซีย เป็นต้น “แล้วไทยละ” ผมคิดว่า “ไทยไม่ควรออกหน้า แต่ร่วมกับประเทศอาเซียนเพื่อช่วยกันแก้ปัญหา” เพราะ

1.ไทยไม่อยู่ในสถานะที่เหมาะสมที่จะเป็นตัวกลางในการเจรจา เพราะว่าในขณะนี้สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยเอง ก็ยังมี “ความขัดแย้งและประท้วง” เช่นกัน ถ้าอ้างกันว่าเรามีชายแดนติดกัน เราเป็นประเทศ “บ้านใกล้เรือนเคียง” มีชายแดนติดกันจึงจำเป็นทำหน้าที่ตัวกลาง (ไทยมีชายแดน 2,400 กม. อินเดีย 1,458 กม. จีน 2,129 กม. และ สปป.ลาว 238 กม.) และคิดว่าเราน่าจะเข้าใจวัฒนธรรมประเพณีเมียนมาดีกว่าใคร อาจจะไม่ถูกต้องนัก เพราะเมียนมาหรือพม่าในอดีตเคยเป็นจังหวัดของอินเดียในสมัยอาณานิคมของอังกฤษมา 51 ปี (ตั้งแต่ปี 1886 ถึง 1937) อินเดียน่าจะเข้าใจมากกว่าประเทศใด ในขณะที่จีนมีความสำคัญกับพม่าอย่างมากในยุคของ SLORC เพราะเป็นประเทศเดียวที่ให้การช่วยเหลือทางการเงิน (ตั้งแต่ปี 1948 ที่พม่าได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ ญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวที่ให้ช่วยพม่า ชาติตะวันตก World Bank  ADB หนีหมด)

ที่สำคัญ “ไทยมีการปฏิวัติมากกว่าเมียนมาด้วยซ้ำไป” ตลอดระยะเวลา 59 ภายใต้การปฏิวัติทั้ง 4 ครั้งของเมียนมา บทบาทไทยทีผ่านมาไม่เคยเข้าไปเป็นตัวกลางในการเจรจา อาจจะมีในช่วงปฎิวัติปี 1962 ไปร่วมกับสหรัฐฯ และไต้หวันเพื่อช่วยเหลือ “กองกำลังจีนคณะชาติ (พรรค ก๊ก มิน ตั๋ง : Kuomintang)” ที่เข้ามาตั้งฐานทัพในรัฐฉาน รวมถึงการให้ที่พักและนักเคลื่อนไหวเข้ามาในประเทศไทยในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

“ไทยควรวางตัวอย่างไร” ต่อ “วิกฤติเมียนมา”

2.นโยบายความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเมียนมาในอดีตที่ผ่านมา ตั้งแต่อดีตนายกรัฐมนตรีพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ “วางตัวเป็นกลางและเป็นมิตรที่ดี” มาโดยตลอด พลเอกชวลิต ยงใจยุทธเคยไปเยือนรัฐบาลพม่าในยุครัฐบาล SLORC เพื่อคุยปัญหาชายแดน นักศึกษาพม่าในไทย และเจรจาสัมปทานป่าไม้และประมง ไม่ได้คุยเพื่อเป็นตัวกลางแก้ปัญหาปฏิวัติในพม่า

3.ปัญหาสลับซับซ้อนของเมียนมา การปฏิวัติในเมียนมามีมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 1962 ถึง 2021 รากฐานของปัญหาไม่ใช่เฉพาะการปฎิวัติ แต่มีทั้งเรื่องอำนาจทางการเมือง ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และกลุ่มชาติพันธุ์ การเข้าไป อาจจะได้รับผลกระทบต่อไทยด้านใดด้านหนึ่ง และที่สำคัญเมียนมาร้องขอให้ไทยเป็นคนกลางหรือไม่

4.ล้ำเส้นอาเซียน อีก 8 ประเทศอาเซียน มองบทบาทไทยอย่างไร หากไทยออกตัวเป็น “ตัวกลางหลัก” ในการทำเรื่องนี้ บทบาทจริงต้องเป็นของบรูไนในฐานะประธานอาเซียนตาม “ASEAN Charter” ตามมาตรา 32 (e) เพื่อจัดให้มีการประชุมอาเซียน  และ 5.ออกตัวแรงเสียภาพลักษณ์ ที่ไปสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมา ไทยยังต้องรักษาภาพลักษณ์และความสัมพันธ์ต่อประเทศประชาธิปไตยอย่างสหรัฐฯ ยุโรปและพันธมิตรซึ่งเป็นตลาดสินค้าสำคัญของไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

ไบเดนสั่งแบน‘ทับทิม’เมียนมา สะเทือนไทย

“อาเซียน”ระดมสมอง2มี.ค.หาทางออก “เมียนมา”

กองทัพเมียนมาใน “เมียวดี” เสริมกำลังรับการชุมนุมใหญ่วันนี้ (28 ก.พ.)

“เมียนมา”ต่อสาย “ดอน” เล็งใช้เวทีอาเซียนหาทางออก

เฟซบุ๊ก สั่งบล็อกเพจข่าวสารกองทัพเมียนมาทั้งหมด มีผลทันที