วิธีเลือกกองทุนรวม 

01 มี.ค. 2564 | 04:59 น.

โดย : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investor ) ชั้นแนวหน้า

 

นาทีนี้คนที่ชอบเล่นหรือซื้อหุ้นดิจิตอลหรือไฮเท็คในต่างประเทศแทบทุกคนน่าจะต้องรู้จัก “ARK ETF”  ที่บริหารโดย Cathie Wood นักบริหารกองทุนรวมที่ “ร้อนแรงที่สุด” ในช่วงนี้  เหตุผลก็เพราะว่าผลงานการบริหาร ETF ที่เน้นลงทุนในหุ้นที่เป็นบริษัทไฮเท็คและดิจิตอลที่จะ “เปลี่ยนแปลงโลก” ของเธอหลายกองทุนนั้น  ต่างก็สร้างผลงานที่โดดเด่นมากและอยู่ระหว่าง 100 ถึง 200% ต่อปีในปี 2563 ที่ผ่านมา  และนั่นทำให้กองทุนที่เป็น ETF ของบริษัท ARK Invest เติบโตขึ้นมหาศาลจากประมาณ 3.5 พันล้านเหรียญหรือ 1 แสนล้านบาทไทย  เพิ่มขึ้นเป็น 41.5 พันล้านเหรียญหรือ 1.2 ล้านล้านบาทไทย หรือเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าภายในเวลาเพียงปีเดียว  อานิสงค์จากนักลงทุนทั่วโลกรวมถึงไทยที่แห่กันเข้าไปลงทุนใน ETF ของบริษัท

คำเตือนของผมสำหรับคนที่เข้าไปลงทุนใน ETF นี้ก็คือ  อย่าคาดหวังว่ามันจะดีเหมือนเดิมหรือแม้แต่จะดีมาก ๆ  สำหรับปี 2564 และปีต่อ ๆ ไป  เหตุผลเพราะว่าปี 2563 นั้นเป็นปีที่ดีมากสำหรับหุ้นไฮเท็คโดยเฉพาะขนาดเล็กลงมาหน่อยอย่างหุ้นเทสลาที่ ARK ถือไว้มากและหุ้นวิ่งขึ้นมามหาศาลเป็น 10 เท่า  เช่นเดียวกับหุ้นไฮเท็ค “เปลี่ยนโลก” อื่น ๆ  ที่เติบโตขึ้นอานิสงค์จากโควิด-19 ที่เร่งกระบวนการเปลี่ยนแปลง  รวมถึงการที่สภาพคล่องทางการเงินที่สูงลิ่วทำให้เกิดการเก็งกำไรมหาศาลในตลาดของหุ้นกลุ่มนี้  ผลก็คือ  หุ้นใน ETF ของ ARK ทำผลงาน “ทะลุโลก”  แต่ทั้งหมดนี้อาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้เสมอและอย่างรวดเร็วในปีต่อ ๆ ไป  เฉพาะอย่างยิ่ง  สภาพคล่องทางการเงินที่อาจจะตึงตัวขึ้นเห็นได้จากผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาว 10 ปีของอเมริกาที่เพิ่มขึ้นแรงอย่างน่ากลัวในช่วง 2-3 วันนี้ เนื่องจากคนคาดว่าโควิด-19 กำลังจะผ่านไปและเศรษฐกิจจะกลับมาโตร้อนแรงหลังโควิด  ซึ่งจะทำให้หุ้นเศรษฐกิจเก่ากลับมาแต่หุ้นไฮเท็คจะ “ปรับฐาน” จากที่ราคาร้อนแรงเกินไป

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ ARK ETF อาจจะไม่สามารถสร้างผลงานที่โดดเด่นเหมือนเดิมได้ก็คือการที่มัน “ใหญ่เกินไป” ซึ่งทำให้คนบริหารต้องกระจายการลงทุนและถือหุ้นขนาดใหญ่มากขึ้น  ไม่สามารถที่จะเล่นหุ้นตัวเล็กที่มักจะวิ่งได้เร็วและมากกว่า  ในกรณีของ ARK เองนั้น  ผมเคยฟังการสัมภาษณ์ของ   เคที่ วูดแล้วก็รู้สึกว่าเธอ “เล่นหุ้น” ค่อนข้างมาก  ความหมายก็คือ  ซื้อมา-ขายไปเร็ว  มีการ “เก็งกำไร” สูง  การซื้อหุ้นตัวเล็กและมีสภาพคล่องต่ำในลักษณะ  “Corner” หุ้น เป็นสิ่งที่เธอชอบ  เพราะมันสามารถ “ลาก” หุ้นขึ้นไปได้สูงมาก  พูดง่าย ๆ  สิ่งที่ ARK ทำนั้น  คล้าย ๆ  กับ “นักลงทุนขาใหญ่” ชอบทำกัน  เวลาซื้อหรือขายหุ้นตัวไหนก็จะ  “เปิดเผย” ต่อสาธารณะโดยบอกว่าเป็นการแสดงถึงการมี “ธรรมาภิบาลที่ดี” แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการ  “โฆษณา”  หุ้น  ซึ่งอาจจะทำให้คน  “แห่เข้ามาซื้อตาม” ผลก็คือ  ราคาหุ้นวิ่งขึ้นมากผิดปกติได้

ทั้งหมดนั้นมาถึงข้อสรุปในการเลือกกองทุนรวมหรือ ETF ข้อแรกของผมก็คือ  อย่าซื้อกองทุนรวมที่มีผลงานดีมาก ๆ  ในอดีต  เพราะประวัติศาสตร์บอกเราว่า  กองทุนรวมที่มีผลงานดีในอดีตนั้น  มักจะไม่ได้หมายความว่าอนาคตจะดีด้วย  และกองทุนที่ผลงานแย่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะแย่ตลอด  ตรงกันข้าม  กองที่ผลงานในอดีตดี  ผลงานในอนาคตก็มักจะแย่ลง  และกองทุนที่แย่  โดยเฉลี่ยแล้วในอนาคตก็จะดีขึ้น  กลายเป็นว่า  ที่ผลงานดีนั้น  จริง ๆ  ส่วนใหญ่แล้วอาจจะไม่ใช่  “ฝีมือ”  ของผู้บริหาร  แต่เป็นเรื่องของ  “โชค” มากกว่า  ในขณะที่ขนาดของกองทุนก็มีส่วนมากที่ทำให้สามารถสร้างผลงานที่ดีมากแบบสุดโต่งได้   และเพราะว่าโชคนั้น  มักจะไม่เกิดซ้ำ ๆ  ติดต่อกันยาวนาน  นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่ากองทุนที่มีผลงานที่ดีในที่สุดก็จะแย่ลงและ “โชค” กลับไปอยู่ในมือของคนที่มีผลงานแย่ในอดีต

วิธีการเลือกกองทุนรวมข้อที่ 2 ก็คือ  อย่าเชื่อว่าผู้บริหารกองทุนเป็น  “เซียน” ที่จะสามารถสร้างผลตอบแทน  “เหนือโลก”  ได้ยาวนาน  เคที่ วูด เองนั้นเพิ่งจะก่อตั้งและบริหารกองทุนหรือ ETF ของ ARK มาแค่ 7 ปี  ซึ่งในแง่ของการลงทุนต้องถือว่าสั้นมากและไม่สามารถที่จะพิสูจน์อะไรได้  ในขณะที่ วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้น  บริหารเงินลงทุนมากว่า 60 ปี ซึ่งน่าจะต้องถือว่าไม่มีคำว่า “ฟลุ้ก”  และแม้แต่บัฟเฟตต์เอง  ถ้าศึกษาให้ดีก็จะพบว่า  ผลงานการลงทุนในช่วง 30 ปีหลังนั้นก็ไม่ได้น่าประทับใจอะไรและแพ้ดัชนีตลาดด้วยซ้ำ  ดังนั้น  สำหรับผมแล้ว  เคที่ วูด น่าจะยังไม่สามารถถูกบันทึกว่าเป็น  “เซียน” ในระดับมือต้น ๆ ของโลกได้ และนี่ก็คือ Dilemma หรือปัญหาของการเลือกผู้บริหารกองทุนที่ว่า  ไม่รู้ว่าเป็นเซียนจริงไหม  จะรู้ก็ต่อเมื่อเวลามันอาจจะผ่านไปแล้วนานเป็นสิบ ๆ ปีขึ้นไป

ข้อที่ 3 ของกลยุทธ์การเลือกกองทุนรวมสำหรับผม ก็คือ  การตั้งสมมุติฐานว่า  ผู้บริหารกองทุนรวมทั้งหลายนั้น  มีฝีมือเท่ากันและเป็นฝีมือระดับ “เฉลี่ย” หรือกลาง ๆ  โดยไม่สนใจว่ากองไหนใครบริหารและได้กี่ “ดาว” ดังนั้น  เวลาเลือกกองทุนที่จะลงทุนจะต้องดูเรื่องของ “ราคา” หรือค่าธรรมเนียมในการบริหารกองทุนด้วย   อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย  เพราะถ้าค่าบริหารต่างกัน 1-2% แต่สุดท้ายผลงานในระยะยาวก็เท่ากัน  กองทุนที่ค่าบริหารต่ำกว่าก็จะให้ผลตอบแทนคิดเป็นเม็ดเงินสูงกว่ามากในช่วงเวลาเป็น 10 ปีขึ้นไป  และข้อสรุปของข้อนี้ก็จะนำไปสู่ข้อที่ 4 ที่ว่า

การเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่อิงดัชนีที่มีค่าธรรมเนียมต่ำ  เป็นกลยุทธ์ที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง  ซึ่งในปัจจุบันก็ยังมีดัชนีหลาย ๆ แบบให้เลือก เช่น ดัชนี “ตลาดหุ้น” เช่น S&P 500  หรือ SET50 หรือดัชนีหุ้นไฮเท็กที่มักอยู่ในตลาด Nasdaq  นอกจากนั้นแล้วก็น่าจะมีที่เป็นแบบ Sector เช่นในกลุ่มของหุ้นเกี่ยวกับสุขภาพและดิจิตอล  เป็นต้น  การลงทุนในหุ้นที่อิงดัชนีนั้นมีข้อดีที่ว่าไม่ต้องมีผู้บริหารที่จะมาเลือกหุ้น  ดังนั้น  ค่าธรรมเนียมก็จะต่ำและผลงานก็จะอิงกับหุ้นหลัก ๆ  ในดัชนีนั้น  และทั้งหมดนั้นก็มักจะรวมถึง ETF ที่อิงกับดัชนีด้วย

คนอาจจะมีความรู้สึกว่าการลงทุนในกองทุนรวมหรือ ETF ที่อิงดัชนีนั้น  จะทำผลงานที่ดีได้อย่างไร?  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ผลตอบแทนที่ได้ก็เป็นแค่  “ผลตอบแทนเฉลี่ย” ของหุ้นในดัชนี  โอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่ “ดีเลิศ” ก็เป็นไปไม่ได้  แต่ข้อถกเถียงของผมก็คือ  การทำได้เท่าค่าเฉลี่ยในตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพสูงมากนั้น   ก็เป็นสิ่งที่ดีพอแล้ว  ผมยังจำได้ถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า  “Average is the New  Awesome” หรือ  “การทำได้เท่าค่าเฉลี่ยก็คือสิ่งที่ยอดเยี่ยมใหม่ในภาวะปัจจุบัน” อย่าลืมว่าในวงการนักลงทุนนั้นเต็มไปด้วย  “เซียน” หรืออย่างน้อยก็คนเรียนจบมหาวิทยาลัยดัง ๆ  ของโลก  ถ้าเราทำได้ดีในระดับกลาง ๆ  เราก็สุดยอดแล้ว  

อย่างไรก็ตาม  การทำผลตอบแทนได้ดีนั้น  ไม่ใช่แค่ทำให้ได้เท่าค่าเฉลี่ย  แต่เราต้องทำได้เท่าค่าเฉลี่ยในตลาดหุ้นหรือในเซ็กเตอร์ที่ดีหรือให้ผลตอบแทนสูงในระยะยาวด้วย  ดังนั้น  สิ่งที่ผมคิดว่านักลงทุนต้องทำที่เลี่ยงไม่ได้ก็คือ  หาตลาดและ/หรือภาคอุตสาหกรรมที่ดี ซึ่งแน่นอนรวมถึงกลุ่มดิจิตอล  ไฮเท็ค และอื่น ๆ  ที่ดีหรือมีโอกาส “เปลี่ยนโลก” ได้ในราคาที่  “ไม่แพง”  เสร็จแล้วก็เลือกลงทุนในกองทุนรวมหรือ ETF ที่อิงกับดัชนีนั้น           

ในอดีตผมเองไม่เคยคิดที่จะลงทุนในกองทุนรวมเลยยกเว้นกองทุนที่ใช้ลดหย่อนภาษีได้  แต่ในช่วงปีที่แล้วที่ผมเพิ่มการลงทุนในตลาดหุ้นเวียตนามเนื่องจากเห็นถึงศักยภาพของเศรษฐกิจและตลาดหุ้นที่น่าจะกำลัง “Takeoff” หรือโตก้าวกระโดด  และพบว่ามี ETF ที่เน้นในกลุ่มหุ้นที่ผมอยากลงทุนซึ่งก็คือหุ้นกลุ่มที่ผมคิดว่าจะเป็น “ซุปเปอร์สต็อก”  ผมจึงเลือกที่จะลงทุนใน ETF นั้นแทนที่จะเลือกลงทุนเอง  นอกเหนือจากนั้นก็คือ  ในฐานะที่เป็นชาวต่างชาติ  ผมไม่ต้องจ่ายราคาหุ้นที่เป็น Premium ในหุ้นหลาย ๆ  ตัวที่ผมอยากซื้อด้วย

สำหรับคนที่อยากลงทุนในหุ้นยุคใหม่ที่จะ “เปลี่ยนโลก” การลงทุนใน ETF แบบ ARK นั้นก็ต้องเข้าใจว่า ETF ตัวนี้ไม่ได้อิงกับดัชนีที่เป็นแนว Passive แต่เป็นแนว Active Fund ที่ผู้บริหารเลือกหุ้นเอง  มีการซื้อขายและเปลี่ยนตัวหุ้นตลอดเวลาในแนวของ Hedge Fund ซึ่งมีความเสี่ยงสูงและทุกอย่างขึ้นอยู่กับผู้บริหาร  ดังนั้น เราจะต้องมั่นใจว่า เคที่ วูด นั้นเป็น  “เซียนตัวจริง” และคุ้มค่าที่จะ “จ้าง” ให้บริหารเงินของเราในธุรกิจและอุตสากรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วและไม่แน่นอนมาก ๆ  และอยู่ในช่วงเวลาที่หุ้นร้อนแรงและมีราคาสูง  “เหนือโลก” ในช่วงนี้  

อย่างไรก็ตาม  ผมคิดว่าเป็นเรื่องยากที่จะชักจูงให้คนลงทุนในหุ้นกลุ่มไฮเท็คหรือดิจิตอล “อิงดัชนี” ในช่วงที่คนกำลังสนใจหรือคลั่งไคล้ที่จะทำกำไรเป็นร้อยหรือหลายสิบเปอร์เซ็นต์ในปีเดียวอย่างที่เกิดขึ้นกับ ARK ETF ที่บริหารโดย เคที่ วูด

 

Posted by nivate at 11:17 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

 

บทความย้อนหลัง

Vietnam Takeoff 

Bitcoin = Digital Gold

อวสานของโรงเรียน

GameStop สงคราม(หุ้น)ประชาชน 

รวยเร็ว VS รวยช้า