อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด “อ่อนค่า”ที่ระดับ 30.42บาท/ดอลลาร์

01 มี.ค. 2564 | 01:44 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท “อ่อนค่า”แรงในช่วงที่ผ่ามมา เหตุถูกกดดันจากความผันผวนในตลาดการเงินที่ปรับตัวขึ้นเร็ว ราคาทองคำที่ปรับตัวลงสวนกับบอนด์ยีลด์สหรัฐ ซึ่งการเคลื่อนไหวล่าสุดเกิดจากการเก็งกำไรเป็นหลัก

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 30.42 บาทต่อดอลลาร์ "อ่อนค่า"จากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 30.35 บาทต่อดอลลาร์ ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 30.35-30.50 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล  พฤกษาเมธานันท์   หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน EASY  INVEST  บล.ไทยพาณิชย์  ระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท อ่อนค่า”แรงในช่วงที่ผ่ามมาเพราะถูกกดดันจากเรื่องความผันผวนในตลาดการเงินที่ปรับตัวขึ้นเร็ว และราคาทองคำที่ปรับตัวลงสวนกับบอนด์ยีลด์สหรัฐ อย่างไรก็ดี เรามองการเคลื่อนไหวล่าสุดเกิดจากการเก็งกำไรเป็นหลัก ขณะที่พื้นฐานไทยยังคงเกินดุลการค้าและตัวเลขทุนสำรองระหว่างประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง จึงเชื่อว่าถ้าดอลลาร์หยุดแข็งค่าจะเห็นเงินบาทฟื้นตัว อย่างไรก็ดี เราปรับประมาณการณ์เงินบาทสิ้นไตรมาสที่หนึ่งมาที่ระดับ 30.00 บาทต่อดอลลาร์โดยเชื่อว่าเป็นระดับที่ผู้เล่นหลักในตลาดมองว่าเหมาะสม

 

กรอบเงินบาทรายสัปดาห์ 30.20-30.70 บาทต่อดอลลาร์

สัปดาห์นี้น่าติดตามตัวเลขการจ้างงานและการผ่านงบประมาณการคลังในสหรัฐ โดยในระหว่างสัปดาห์ต้องจับตาไปที่การให้ความเห็นของคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐหลายท่านต่อการปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของบอนด์ยีลด์ในช่วงนี้ ตามมาด้วยการประกาศตัวเลขตลาดแรงงาน ซึ่งเชื่อว่าการจ้างงานภาคเอกชน (ADP) จะขยายตัว 1.68 แสนตำแหน่ง และการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Non-farm Payrolls) จะเพิ่มขึ้น 1.65 แสนตำแหน่ง ส่งผลให้อัตราการว่างงานในสหรัฐทรงตัวที่ระดับ 6.3% ในเดือนกุมภาพันธ์

ด้านฝั่งรัฐสภาสหรัฐก็คาดว่าจะมีการโหวตเห็นชอบแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9ล้านล้านของนายโจ ไบเดนในสัปดาห์นี้เพื่อนำไปสู่การโหวตในชั้นวุฒิสภาก่อนวันที่ 14 มีนาคมที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเดิมจะหมดอายุลง

ส่วนในฝั่งเอเชียจะมีการรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการของจีน (China Manufacturing และ Non-manufacturing PMI) คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 51.0 และ 52.0จุด ตามลำดับ ซึ่ง PMI ที่ระดับดังกล่าว ถือว่าลดลงจากช่วงเดือนก่อนหน้าเนื่องจากมีประเด็นการล็อกดาวน์เพื่อลดการระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ดีถือว่าเศรษฐกิจจีนยังฟื้นตัวดีอยู่

 

ด้านตลาดเงิน ประเด็นหลักที่ต้องจับตาคือความเห็นของเฟดต่อบอนด์ยีลด์ที่ปรับตัวขึ้นเร็วพร้อมกับนโยบายการคลังที่มีโอกาสผ่านสภาค่อนข้างสูง เชื่อว่าโดยรวมจะทำให้ตลาดผ่อนคลายขึ้นและดอลลาร์อ่อนค่ากลับ ส่วนในฝั่งยุโรปต้องจับตาไปที่การผ่อนคลายมาตราการล๊อกดาวน์ในหลายประเทศที่เชื่อว่าน่าจะหนุนให้เงินยูโรแข็งค่าได้ต่อ เช่นเดียวกับเงินเยนที่คาดว่าจะทรงตัวถึงแข็งค่าหลังล่าสุดกลับมาเกินดุลการค้าต่อเนื่อง

 

กรอบดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) สัปดาห์นี้ 90.30-91.30 จุด ระดับปัจจุบัน 90.92จุด

 

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า  อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเช้านี้ (1 มี.ค.) ปรับตัวอยู่ที่ระดับ 30.39 บาทต่อดอลลาร์ฯ  "อ่อนค่า"ลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดปลายสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 30.13 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอ่อนค่าลง ท่ามกลางแรงหนุนของเงินดอลลาร์ฯ จากการคาดการณ์ว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อาจจะยังทรงตัวในกรอบสูง โดยในสัปดาห์นี้อาจได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากการเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ในวุฒิสภาสหรัฐฯ 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 30.30-30.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนก.พ. ของสหรัฐฯ ยูโรโซน อังกฤษ ญี่ปุ่น และจีน นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ด้วยเช่นกัน
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :