เปิดมุมมอง “ดร.เศรษฐพุฒิ” ประเทศไทยเดินหน้าอย่างไรใน “New World Landscape”

26 ก.พ. 2564 | 20:00 น.

เปิดมุมมอง ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าธปท. ประเทศไทยควรเดินหน้าอย่างไรใน “New World Landscape”

เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยมีชื่อบทสัมภาษณ์ว่า ประเทศไทยควรเดินหน้าอย่างไรใน “New World Landscape” โดยเนื้อหาระบุว่า 

สถานการณ์โควิด 19 อุบัติขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของเศรษฐกิจ การเงิน และสังคมโลกที่ดำเนินอยู่จากหลายปัจจัย และเร่งให้เราเห็นรูปร่างภูมิทัศน์ใหม่ของโลกได้ชัดเจนขึ้น BOT พระสยาม MAGAZINE มีโอกาสพูดคุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ถึงมุมมองต่อ new world landscape หรือภูมิทัศน์ใหม่ของโลกในมิติต่าง ๆ พร้อมแนวทางการปรับตัวของทุกภาคส่วนเพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปในโลกใหม่ใบเดิมอย่างมั่นคง

 

โควิด 19 ระลอกใหม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยน้อยกว่าระลอกแรก

เศรษฐพุฒิให้ความเห็นถึงทิศทางสู่ภูมิทัศน์ใหม่ของโลกว่า “การเดินหน้าสู่ new world landscape เป็นสิ่งที่เราเผชิญอยู่แล้วก่อนหน้า แต่สถานการณ์โควิด 19 สร้างการเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมายทำให้ตอนนี้แม้ระยะทางจะใกล้ขึ้นแต่หนทางอาจขรุขระกว่าเดิมจากปัจจัยเสี่ยงใหม่ ๆ ที่เหนือความคาดหมาย ผมมองว่าเป็นการทดสอบความสามารถในการปรับตัวของประเทศไทยและเราทุกคน

“แน่นอนว่าในแง่เศรษฐกิจวิกฤตโควิด 19 ได้สร้างความเสียหายในวงกว้าง เศรษฐกิจโลกหดตัวรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี สำหรับประเทศไทยจำนวนผู้ติดเชื้อจากการระบาดระลอกใหม่ดูรุนแรงกว่ารอบแรก แต่ผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจไม่มากเท่า เพราะทั้งภาครัฐและประชาชนเริ่มมีประสบการณ์ทำให้สามารถปรับตัวได้ไวขึ้น การควบคุมการระบาดก็ไม่ได้ใช้มาตรการปิดเมืองเหมือนในรอบแรกแต่ปิดตามจุดเสี่ยงเท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม ดร.เศรษฐพุฒิมองว่าเรื่องที่น่ากังวล คือ ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ยังเปราะบางจากการระบาดรอบแรกที่ถูกกระทบซ้ำจากการระบาดระลอกใหม่โดยเฉพาะการจ้างงาน ทั้งจากการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคส่วนที่มีการจ้างงานสูง เช่น การท่องเที่ยว การบริการ และการค้าปลีก รวมถึงการใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานทำให้การเร่งเยียวยาผ่านมาตรการระยะสั้นเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด

“เราต้องระวังไม่ให้การมุ่งแก้ปัญหาระยะสั้น ทำให้เราไม่ใส่ใจการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะยาวไปพร้อมกัน เพื่อให้เรามีแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ชัดเจนและสอดรับกับภูมิทัศน์ใหม่ของโลกหลังวิกฤตโควิด 19 จบลง ไม่อย่างนั้น อาจกลายเป็นความท้าทายที่ใหญ่กว่าได้” ผู้ว่าการ ธปท. ได้หยิบยก 3 เทรนด์สำคัญที่จะส่งผลต่อภูมิทัศน์ของโลกในระยะยาวมาพูดคุย ได้แก่ ข้อมูลและเทคโนโลยี (data & technology) กระแสความยั่งยืน (sustainability) และการเพิ่มขั้วอำนาจของโลก (multipolar world) รวมถึงยังมีข้อเสนอแนะในการปรับตัวของภาคประชาชนและภาคธุรกิจ รวมถึงการทำงาน ของ ธปท. ที่สอดรับกับเทรนด์เหล่านี้อีกด้วย

เปิดมุมมอง “ดร.เศรษฐพุฒิ” ประเทศไทยเดินหน้าอย่างไรใน “New World Landscape”

บทบาทของ Data & Technology ในการขับเคลื่อนภูมิทัศน์ใหม่ของโลก

คนที่กุมข้อมูลและเทคโนโลยีกลายเป็นผู้ที่มีอำนาจต่อรองเช่นเดียวกับผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพยากรสำคัญในอดีต อย่างที่เปรียบกันว่า “Data is the new oil, and AI is the new electricity.” วิกฤตโควิด 19 เข้ามาเร่งให้ทุกภาคส่วนต้องรีบปรับตัวในการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยี ดร.เศรษฐพุฒิอธิบายถึงสถานการณ์ดังกล่าวว่า 

“การเปลี่ยนแปลง เรื่องนี้กำลังเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้มาก ส่วนหนึ่งเกิดจากความจำเป็นในช่วงปิดเมืองที่ทำให้คนต้องหันมาพึ่งเทคโนโลยีในการใช้ชีวิต ทั้งการทำงานและการซื้อขายสินค้าและบริการ โดยจากข้อมูล ธปท. พบว่าในเดือนมีนาคม 2563 มียอดเฉลี่ยรายวันของธุรกรรมพร้อมเพย์สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนเกือบ 1 เท่าตัว ซึ่งความเคยชินจาก การใช้เทคโนโลยีเหล่านี้จะกลายเป็นพฤติกรรมติดตัวแม้ผ่านวิกฤตโควิด 19 ไปแล้วก็ตาม ภาคธุรกิจจึงต้องปรับตัวตามด้วยการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น

“นอกจากผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่ต้องปรับตัวแล้วภาครัฐก็ต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน เราอาจเห็นว่าหลายประเทศกระจายความช่วยเหลือให้ประชาชนและธุรกิจรายย่อยได้เร็วกว่าเรามาก นั่นเพราะเขามีข้อมูลค่อนข้างพร้อมจึงเห็นทันทีว่าใครถูกกระทบมากน้อยแค่ไหน แต่ไทยเรามีขนาดของเศรษฐกิจนอกระบบค่อนข้างใหญ่โดยจากการสำรวจและการประมาณการจากข้อมูลแรงงานของ ธปท. พบว่าน่าจะมีสัดส่วนถึงประมาณ 50 - 70% ของ GDP ซึ่งมีแรงงานกว่า 20 ล้านคนอยู่ในภาคส่วนนี้ เมื่อภาครัฐไม่มีข้อมูลก็ยากที่จะพุ่งเป้าไปให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่จำเป็นที่สุดก่อน

“การให้ความช่วยเหลือเยียวยาในช่วงแรกของการระบาดครั้งก่อน รัฐไม่มีข้อมูลผู้ประกอบอาชีพอิสระที่รวมอยู่ในแหล่งเดียวกัน จึงต้องอาศัยข้อมูลที่แต่ละกระทรวงมีอยู่มาใช้ไปก่อน ซึ่งพบว่าในบางกรณีฐานข้อมูลต่างกระทรวงมีรายละเอียดไม่ตรงกัน เราอาจจำกันได้ว่ามีคนจำนวนหนึ่งออกมาเรียกร้องว่าไม่ได้รับความช่วยเหลือในฐานะผู้ ประกอบอาชีพอิสระเนื่องจากปรากฏชื่ออยู่ในฐานข้อมูลเกษตรกรทำให้การช่วยเหลือทำได้ ไม่ทั่วถึงในช่วงแรก”

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวต่อว่า “ที่สำคัญคือ การเริ่มลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือจากโครงการต่าง ๆ ทำให้ ผู้ประกอบการรายย่อยเริ่มทยอยเข้าสู่ระบบและรัฐจะมีข้อมูลมากขึ้น ซึ่งจะถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้การให้ ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลดีต่อการวางแนวนโยบายในระยะข้างหน้า ขณะเดียวกันเมื่อมีข้อมูลมากขึ้นรัฐเองก็ต้องเร่งเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ โดยคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวและหลักธรรมาภิบาลเพื่อให้สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการออกแบบนโยบายในอนาคตให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้”

นอกจากนี้ รัฐก็ต้องสนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น โดยอาจสร้างแรงจูงใจให้ต้องเรียนรู้จากการใช้งานจริง คล้ายแนวทางของโครงการคนละครึ่งที่ทำให้ทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการมาเข้าร่วม พร้อมกับให้ประชาชนตระหนักถึงประโยชน์ของการสร้าง digital footprint เช่น การสนับสนุนให้ชำระค่าบริการต่าง ๆ ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนมีประวัติที่สถาบันการเงินสามารถนำไปใช้วิเคราะห์ในการให้สินเชื่อต่อไปได้

ส่วนของ ธปท. ก็มีการนำข้อมูลและเทคโนโลยีมาช่วยในการจับสัญญาณของสภาวะเศรษฐกิจเพื่อประกอบการติดตามและวัดผลของนโยบาย รวมถึงการปรับปรุงมาตรการที่ออกมาแล้วให้ดียิ่งขึ้น เช่น การวิเคราะห์ ข้อมูลงบการเงินรายบริษัทที่แสดงให้เห็นว่าในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวผู้ประกอบการบางกลุ่มโดยเฉพาะ SMEs มีปัญหาสภาพคล่อง

ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการขยายระยะเวลาสินเชื่อการค้า (credit term) ให้นานขึ้น นำไปสู่การออกนโยบายการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลาสินเชื่อการค้าเพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่องของ SMEs ได้ หรือการนำข้อมูลประกันสังคมมาวิเคราะห์คู่กับข้อมูลจากผู้ให้บริการการสื่อสารในช่วงวิกฤตโควิด 19 ทำให้เห็นภาวะการจ้างงานของบริษัทในแต่ละอุตสาหกรรม รวมทั้งการเคลื่อนย้ายแรงงานรายพื้นที่ซึ่งภาครัฐสามารถนำไปออกแบบ นโยบายต่าง ๆ เพื่อบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจ ให้ได้ตรงจุดขึ้น

 

Sustainability การพัฒนาเศรษฐกิจ ควบคู่กับการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

ความยั่งยืน (sustainability) เป็นหนึ่งในเทรนด์สำคัญของโลกที่ส่งผลกระทบกับคุณภาพชีวิต เช่น ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ กระตุ้นให้ทั่วโลกเห็นความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะท่าทีของสหรัฐฯ ในการกลับเข้าร่วม Paris Climate Accord รวมถึงการดำเนินนโยบายของหลายประเทศที่สนับสนุนธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

“ทุกวันนี้รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจพร้อมกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม (green stimulus) คือไม่ได้เน้นที่ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาวด้วย แนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคและธุรกิจเองก็มุ่งไปสู่สินค้าและบริการที่สร้างผลกระทบให้โลก น้อยที่สุด ทิศทางอุตสาหกรรมก็จะมุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาดและพลังงานทดแทนมากขึ้น”

ดร.เศรษฐพุฒิชี้ว่าการปรับตัวไปในทางนี้ก็จะเป็นผลดีกับธุรกิจเองด้วย “การศึกษาของมหาวิทยาลัยนิวยอร์กพบว่ามีผลิตภัณฑ์ที่ทำการตลาดว่าเป็นสินค้าที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในตลาด แสดงว่าทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ นอกจากนี้ สินค้าเหล่านี้ยังสามารถตั้งราคาได้สูงกว่าสินค้าชนิดเดียวกันที่ไม่ได้โปรโมทเรื่องความยั่งยืนถึง 39.5%

“ถ้าธุรกิจไม่ปรับตัว ไม่เพียงแต่จะไม่ได้ประโยชน์ตรงนี้ แต่อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจไปต่อไม่ได้ ลองนึกถึงสินค้าส่งออกของไทยที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับต้น ๆ อย่างชิ้นส่วนรถยนต์สำหรับเครื่องยนต์สันดาปภายใน เมื่อคนเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่มีชิ้นส่วนเพียง 20 ชิ้นต่อคัน บริษัทไทยจะผันตัวมาผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์สำหรับรถ สมัยใหม่ที่ใช้พลังงานสะอาดได้ทันหรือไม่ ไทยอาจต้องสูญเสียตลาดส่งออกส่วนนี้ไปหากธุรกิจปรับตัวไม่ทัน

“ผลกระทบทำนองเดียวกันจะเกิดกับภาคการผลิตอื่น ๆ ด้วย เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ที่ต้องปลอดภัย รู้แหล่งผลิต และคำนึงถึงสิทธิผู้ใช้แรงงานซึ่งผู้ผลิตและผู้ส่งออกจำเป็นต้องปรับตัวตามเพื่อยกระดับสินค้าของตนให้ถึง มาตรฐานของผู้บริโภคและมาตรฐานของประเทศคู่ค้า” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ภาคบริการซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยก็ต้องปรับตัวครั้งใหญ่เช่นกัน จากบทเรียนโควิด 19 การแพร่ระบาดของโรคติดต่อจะส่งผลให้คนหลีกเลี่ยงการเดินทางเป็นกลุ่มใหญ่และอาจส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องหายไปหากไม่ปรับตัว การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพกลุ่มเล็ก ๆ อาจเป็นคำตอบให้ภาคบริการของไทยทั้งยังสามารถต่อยอดไปเป็น health and wellness tourism ที่จะส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวและทรัพยากรในแหล่งท่องเที่ยวของประเทศในระยะยาว

ภาคการเงินเองที่มีหน้าที่ในการจัดสรรทรัพยากรก็จะมีบทบาทในการผลักดันการปรับตัวของธุรกิจไปสู่แนวทางของความยั่งยืนเช่นกัน โดยเฉพาะผ่านการออกผลิตภัณฑ์การลงทุนที่เน้นความยั่งยืน เป็นที่น่าดีใจที่เราเห็นความตื่นตัวเรื่องนี้ค่อนข้างมาก โดยในปีที่ผ่านมามีการออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนเพิ่มขึ้นถึง 187% นอกจากนั้น บทบาทของธนาคารกลางในเรื่องนี้ก็ได้มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน อาทิ การสร้างเครือข่าย Network for Greening the Financial System (NGFS) เพื่อผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์มีบทบาทในการจัดสรรทรัพยากรไปสู่การลงทุนที่ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (green financing) ธนาคารกลางอังกฤษเองก็ให้ความสำคัญเรื่อง climate stress-testing

สำหรับ ธปท. ก็เล็งเห็นถึงความสำคัญของเรื่องนี้เช่นกันและพยายามผลักดันให้ระบบธนาคารมีการจัดสรรเงินทุนหรือสินเชื่อเพื่อสนับสนุนธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น ผ่านการจัดตั้งฝ่ายงานขึ้นมาดูแลเรื่องการธนาคารเพื่อความยั่งยืนโดยเฉพาะเพื่อวางกลยุทธ์ผลักดันและสร้างความตระหนักรู้ให้กับภาคการเงินในการ สนับสนุนให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ โดยสถาบันการเงินได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง Sustainable Banking Guidelines ว่าด้วยเรื่องการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา

เปิดมุมมอง “ดร.เศรษฐพุฒิ” ประเทศไทยเดินหน้าอย่างไรใน “New World Landscape”

Multipolar World การหาความร่วมมือในโลกหลายขั้วอำนาจ

ไม่กี่ปีที่ผ่านมาโลกได้เปลี่ยนจากการที่สหรัฐฯ ครองความเป็นมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวมายาวนาน กลายมาเป็นโลกหลายขั้วจากประเทศมหาอำนาจระดับภูมิภาคต่าง ๆ ที่ขึ้นมามีบทบาทสำคัญ อาทิ จีน รัสเซีย และอินเดีย ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้ประเทศไทยต้องเร่งปรับเรื่องยุทธศาสตร์ต่างประเทศโดยเฉพาะด้านการค้าการลงทุน ในขณะที่เราอยู่ในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) แล้วอาจต้องคิดเรื่องการมีความสัมพันธ์กับประเทศทั้งฝั่งตะวันตกและประเทศฝั่งตะวันออก

“ประเด็นที่น่าจับตามองและอาจจะมีผลกับไทยมากที่สุดในระยะต่อไป คือ ความเป็นไปได้ในการกลับเข้าร่วมเจรจา CPTPP ของประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯ” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

 “หลายฝ่ายบอกว่าไทยควรเข้าร่วม CPTPP เพื่อไม่ให้เกิดการย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่ไปประเทศเพื่อนบ้านที่เข้าร่วมข้อตกลง โดยเฉพาะเวียดนามที่นอกจากจะมีขนาดตลาดที่ใหญ่กว่าไทยจากจำนวนประชากรที่สูงถึง 97 ล้านคนทำให้มีประชากรวัยแรงงานสูงกว่าแล้ว เวียดนามยังมีข้อตกลงการค้ากับประเทศต่าง ๆ มากกว่าไทยเกือบ 3 เท่าด้วย แต่ในทางกลับกันก็มีประเด็นคัดค้านเพราะการเข้าร่วมอาจส่งผลต่อเกษตรกรรายย่อยและอุตสาหกรรมการผลิตยาของไทย ผมมองว่าการเข้าไปอยู่ในเวทีเจรจาให้ได้ก่อนจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงก่อนที่สหรัฐฯ จะกลับเข้ามาเพราะหากเข้าไปร่วมหลังจากนั้นอำนาจในการต่อรองของไทยจะลดลงมากและหากเจรจาแล้วไม่ได้ประโยชน์ตามที่ต้องการก็สามารถเลือกที่จะไม่เข้าร่วมในภายหลัง”

ผู้ว่าการ ธปท. ยังชี้ด้วยว่าการเข้าไปร่วมเจรจาก็อาจทำได้ไม่ง่ายนักเพราะจะมีทั้งผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ รัฐจึงต้องเร่งจัดเวทีให้ทุกภาคส่วนหารือร่วมกันเพื่อให้มีความชัดเจนเป็นหนึ่งเดียวว่าเราต้องการอะไรและข้อตกลงใดที่ “ยอมได้” หรือ “ยอมไม่ได้” เพื่อให้มีข้อสรุปที่ผ่านการไตร่ตรองอย่างเข้มข้นแล้วก่อนที่จะเข้าร่วมการเจรจา

อีกหนึ่งเรื่องที่ ดร.เศรษฐพุฒิคิดว่าเป็นกุญแจสำคัญของยุทธศาสตร์ด้านต่างประเทศ รวมถึงจะทำให้การเจรจาการค้าต่าง ๆ เป็นไปอย่างราบรื่นขึ้น คือ การกระชับความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะด้านการค้า และการลงทุนในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) ให้แข็งแกร่งและเห็นประโยชน์ร่วมเพื่อให้มีอำนาจต่อรองกับประเทศอื่น ๆ มากขึ้น โดยควรสร้างความสัมพันธ์ผ่านการเกื้อกูลการเติบโตทางเศรษฐกิจของกันและกัน 

ยกตัวอย่างเวียดนามที่สามารถดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติได้อย่างต่อเนื่อง แทนที่ไทยจะพยายามแข่งขัน อาจต้องกลับมาคิดว่าจะ “ร่วมมือ” กับเวียดนามอย่างไร เพื่อให้ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เช่น ไทย อาจเน้นการเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคเพื่อเปิดประตูสินค้าจากเวียดนามไปสู่เอเชียใต้ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว หรือด้วยโครงสร้างประชากรของเวียดนามที่ได้เปรียบกว่า บางธุรกิจของไทยอาจออกไปลงทุนผลิตสินค้าในเวียดนามเพื่อลดต้นทุนแรงงานและขยายตลาดซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ของธุรกิจและนับเป็นการเติบโตของรายได้ ประชาชาติของไทยด้วย

การสนับสนุนความร่วมมือกันในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านยังรวมไปถึงห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาค (local supply chain) ด้วย เพราะแต่ละประเทศมีทรัพยากรและความชำนาญในการผลิตสินค้าบริการต่างกันไปและเพื่อสนับสนุนความร่วมมือด้านการผลิต การค้า และการลงทุนกับประเทศในภูมิภาค ธปท. ได้เตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน Asian Payment Network เพื่อสนับสนุนให้การชำระเงินข้ามประเทศเป็นไปอย่าง สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น 

เช่น นักท่องเที่ยวชาวไทยสามารถใช้แอปพลิเคชันธนาคารของไทยชำระเงินให้ร้านค้าในลาวได้ผ่าน QR code ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน หรือชาวเมียนมาที่เข้ามาทำงานในไทย สามารถส่งเงินกลับบ้านได้แบบทันทีผ่านเทคโนโลยี blockchain โดยผู้รับเงินสามารถเลือกรับเงินได้หลายช่องทาง เช่น การส่งเงินถึงบ้าน การรับเงินจากสาขาของธนาคาร หรือการโอนเข้าบัญชีโดยตรง ช่วยลดต้นทุนให้กับแรงงานข้ามชาติ นอกจากนี้ ในด้านอัตราแลกเปลี่ยน ธปท. ยังทำความตกลงกับธนาคารกลางในภูมิภาคเพื่อให้เกิดการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการค้าขายและลดความเสี่ยงที่เกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนให้ผู้ประกอบการอีกด้วย

ก้าวต่อไปของประเทศไทย
โควิด 19 เป็นวิกฤตครั้งใหญ่ไม่เฉพาะในแง่ของจำนวนผู้ติดเชื้อ จำนวนผู้เสียชีวิต หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องชะงักลงทั่วโลก แต่ยังสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนต่อไปอีกอาจจะ หลายสิบปี ดร.เศรษฐพุฒิได้กล่าวทิ้งท้ายถึงการก้าวข้ามวิกฤตครั้งนี้ว่า “ถ้าเรามองวิกฤตโควิด 19 เป็นอุปสรรคและแค่รอจนมันผ่านไป สุดท้ายเราก็ต้องเดินต่อไปในเส้นทางเดิมแค่ถึงที่หมายช้าลง หรือยิ่งไปกว่านั้นคือที่หมายจริง ๆ อาจเปลี่ยนไปแล้ว

แทนที่เราจะพยายามไปต่อทางเดิม ถ้ามองรอบ ๆ ตัวเราอาจเห็นหนทางใหม่ หรือจุดหมายใหม่ในโลกใหม่หลังโควิด 19 ดังนั้นเราจึงควรใช้สถานการณ์โควิด 19 เป็นโอกาสที่เราจะถามตัวเองอีกครั้งว่าธุรกิจเราและประเทศไทยจะเดินไปทางไหนต่อ จะ reset อะไรใหม่หรือจะปรับฐานปรับปรุง อย่างไรโดยใช้บทเรียนจากวิกฤตมาสร้างจุดเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เหมือนกับคำกล่าวที่ว่า ‘Don’t let a good crisis go to waste’ เพื่อให้ไทยพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ new world landscape ได้อย่างมั่นคง”

 

ที่มา เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย