TG-แอร์เอเชีย ขาดทุนยับ พุ่ง1,000%

27 ก.พ. 2564 | 19:00 น.

โควิด-19 พ่นพิษธุรกิจการบินปี 63 ติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขาดทุนเพิ่มจากปี 62 ไม่ตํ่ากว่า 1.35 แสนล้านบาท หนักสุดการบินไทย เดินหน้ายื่นแผนฟื้นฟูวันที่ 2 มี.ค.นี้ พร้อมเสนอชื่อผู้บริหารแผนฟื้นฟูไทยแอร์เอเชีย เร่งเติมสภาพคล่อง นกแอร์ ยื่นแผนฟื้นฟู 15 มี.ค.64 ทุกสายเตรียมสยายปีกต่างประเทศ

โควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจการบินปี2563 มีผลการดำเนินงานติดลบสูงสุดเป็นประวัติ การณ์ โดยผลประกอบการของ 4 สายการบิน ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า80% ในธุรกิจการบินของประเทศไทย พบว่าปิดปี2563 มีผลการขาดทุนรวมกันไม่ต่ำกว่า 149,780 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 929.5% จากผลการดำเนินงานรวมในปี2562 ที่ขาดทุนอยู่ที่ประมาณ 14,500 ล้านบาท

ในขณะนี้มี 2 สายการบินได้แจ้งผลการดำเนินการปี 63 แล้ว “การบินไทย” มีผลขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 1,074.8% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของการดำเนินธุรกิจในรอบ 60 ปี โดยปี63 ขาดทุนสุทธิ 141,180 ล้านบาท เพิ่มจากปี62 ที่ขาดทุนอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ “ไทยแอร์เอเชีย” มีผลขาดทุนสุทธิในปีนี้อยู่ที่ 8,673 ล้านบาท (เป็นการขาดทุนในส่วนของบมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) อยู่ที่ 4,764.1 ล้านบาท)

การขาดทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 63 ของธุรกิจการบิน มาจากรายได้ในการขนส่งผู้โดยสารที่ลดลง จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป การจอดเครื่องบินทิ้ง ส่งผลให้มีการขาดทุนจากการด้อยค่าของเครื่องบิน และบางสายการบิน

ไม่ว่าจะเป็น การบินไทย และ บางกอกแอร์เวย์ ที่มีภาระค่าใช้จ่ายครั้งเดียวที่เกิดขึ้น จากการจ่ายชดเชยให้พนักงานที่เข้าร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กร

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น และ บจ.ไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่าโควิด-19 สายการบินจำเป็นต้องหยุดบินชั่วคราวทุกเส้นทางช่วงเดือนเม.ย.63 มากระเตื้องขึ้นในช่วงไตรมาส4

ทำให้สายการบินสามารถบริหารจัดการการใช้เครื่องบินได้ถึง 70-80% ก่อนจะได้รับผลกระทบอีกครั้งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่

ปี 63 สายการบินมีผู้โดยสารอยู่ที่ 9.49 ล้านคน ลดลงจากปี 62 ที่อยู่ที่ 22.15 ล้านคน ที่ผ่านมาสายได้ใช้แผนบริหารจัดการต้นทุน โดยลดค่าจ้างพนักงานตามนโยบายขอความร่วมมือให้พนักงานใช้สิทธิการลาโดยไม่รับค่าจ้างในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งนี้การลดค่าใช้จ่ายดังกล่าวยังส่งผลต่อเนื่องในปี 2564 อีกด้วย

ผลประกอบการ4สายการบิน

“เรายังเชื่อมั่นว่าในปี 64 เมื่อสถานการณ์การเเพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่อนคลาย เเละมีการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง จะเป็นปัจจัยหนุนสำคัญต่อการฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยวเเละธุรกิจการบินตามลำดับ

รวมทั้งเส้นทางระหว่างประเทศที่น่าจะเริ่มกลับมาให้บริการได้ในช่วงปลายปี นอกจากนี้เราอยู่ระหว่างการพิจารณาหาเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่องของบริษัท ซึ่งเป็นไปได้หลายตัวเลือก เช่น ซอฟต์โลน การกู้ยืม หรือ การเพิ่มทุน

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทสายการบิน นกแอร์ จำกัด (มหาชน) ที่ระบุว่านกแอร์จะแจ้งผลการดำเนินงานปี63 ต่อตลท.ภายในวันที่ 1 มี.ค.นี้ ซึ่งจากโควิด-19 ก็ทำให้ในปี 63 สายการบินก็ยังจะขาดทุนเหมือนกับทุกสายการบินในขณะนี้

แม้จะขาดทุนแต่นกแอร์ ไม่มีปัญหาสภาพคล่อง เนื่องจากที่ผ่านมาสายการบินไม่ได้หยุดทำการบินเหมือนสายการบินอื่นๆ เพราะบริษัทอยู่ในสภาวะพักหนี้ และอยู่ระหว่างการทำแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อจะยื่นแผนต่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ ในวันที่ 15 มี.ค.นี้

ในปี63 สายการบินจะยังขาดทุนมากกว่าปี 62 ที่ขาดทุนอยู่ที่2 พันล้านบาท แต่ผลการดำเนินงานในปี64 สายการบินมองภาพว่าแนวโน้มดีกว่าปี63 แน่นอน เพราะในปี63 ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวแค่ 1 เดือน แต่ในปีนี้ไทยเริ่มทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น หลังการมีวัคซีนและรัฐบาลมีการส่งสัญญาณว่าจะมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติช่วงปลายปีนี้

สายการบินก็มีแผนจะกลับมาเปิดบินเส้นทางบินระหว่างประเทศในลักษณะเซมิ คอมเมอร์เชียลไฟล์ต ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ และจะเปิดเที่ยวบินประจำในช่วงไตรมาส 4 ในเส้นทางที่นกแอร์เคยทำการบินอยู่เดิม ก็จะกลับมาบินใหม่ เช่น ญี่ปุ่น เวียดนาม เมียนมา อินเดีย

นายชาย เอี่ยมศิริ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการเงินและการบัญชี บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี63 สายการบินมีจำนวนผู้โดยสาร 5.87 ล้านคน ลดลงจากปีก่อน 76.1% มีค่าใช้จ่าย96,430 ล้านบาท

โดยส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวและส่วนใหญ่เป็นตัวเลขทางบัญชีที่ไม่มีผลกระทบกับกระแสเงินสด จำนวน 91,978 ล้านบาท อาทิ ด้อยค่าเครื่องบิน 82,703 ล้านบาท สำรองเงินจ่ายชดเชยโครงการร่วมใจจากองค์กร (MSP A) 3,098 ล้านบาท

ทั้งนี้สายการบินยังคงลดค่าใช้จ่ายต่อเนื่อง และจะมีการยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ในวันที่ 2 มี.ค.64 และเมื่อได้ยื่นส่งแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ และศาลล้มละลายกลางจะพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป

อย่างไรก็ตามมีรายงานข่าวว่านอกจากการยื่นแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว ยังจะมีการยื่นรายชื่อคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูการบินไทย ที่จะไม่ใช่ทุกคนที่เป็นผู้ทำแผน จะเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟู หนึ่งในนั้นคือนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ได้แสดงความจำนงที่จะไม่เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟู เนื่องจากต้องใช้เวลานาน ทำให้ไม่มีเวลาเพียงพอ 

ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,657 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

อ่วมโควิด"บางกอกแอร์เวย์ส์" ปิดงบปี63 ขาดทุนครั้งแรกทะลุ5พันล้าน

อาการหนักมาก“การบินไทย”ปิดงบปี2563 ขาดทุน1.4 แสนล้าน

เติม 3 หมื่นล้าน ฟื้นฟู "การบินไทย" ยื่นศาล 2 มี.ค.นี้ ลดทุน-เพิ่มทุน

“ไทยแอร์เอเชีย”ขายตั๋ว"เครื่องบินบุฟเฟ่ต์ "บินรัวๆทั่วไทย”3,599บาท

ไทยแอร์เอเชีย ดีลแบงก์กรุงเทพ กู้เงิน 4 พันล้าน