PTT ตั้งธงสู่"เทค คอมปานี" บุกธุรกิจ "คลาวด์-AI-โดรน"

25 ก.พ. 2564 | 13:55 น.

ปตท.เผยแผนลงทุน 5 ปี เร่งขยายธุรกิจหลัก ปูพรมสู่ธุรกิจอนาคตไลฟ์ ไซเอนซ์ พร้อมเดินหน้านำเทคโนโลยีต่อยอดธุรกิจใหม่ ลุยผนึกพันธมิตร ผลักดัน PTT สู่ เทค คอมปานี ที่มีพร้อมทั้งธุรกิจ "คลาวด์-AI-โดร"

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า ปตท. ได้พัฒนาและปรับเปลี่ยนการดำเนินงานของเครือ PTT มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาด้านเทคโนโลยี การนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมประสิทธิภาพการบริหารจัดการภายใน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัท และการต่อยอดด้วยการนำเทคโนโลยีมาเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์กับสาธารณะ เช่น การพัฒนาระบบ Could ภายใต้บริษัท เมฆา เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งจะเปิดให้บริการในรูปแบบสาธารณะเร็วๆ นี้ จากเดิมที่ใช้อยู่ภายในเครือ PTT

ส่วนของธุรกิจพลังงาน ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก บริษัทมีแผนที่จะนำพลังงานใหม่ๆ เข้ามาเสริม ควบคู่กันไป โดยเฉพาะพลังงานก๊าซ ซึ่งจะเป็นตัวกลางในการเปลี่ยนผ่านของการใช้พลังงานในยุคเดิม มาสู่พลังงานยุคใหม่ 

PTT ได้ตั้งงบการลงทุน 5 ปี (ปี 64-68) ไว้ที่ 1.03 แสนล้านบาท สำหรับการลงทุนของ PTT และบริษัทในเครือ ที่ ปตท.ถือหุ้น 100% แบ่งเป็น 43% จะลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ เช่น โครงการโรงแยกก๊าซที่ 7 คาดจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2566 กำลังการลิต 460 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน, โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงแยกก๊าซฯ วงเงินลงทุนรวม 30,552 ล้านบาท และการลงทุนในธุรกิจท่อส่งก๊าซฯ หรือโครงการท่อก๊าซฯ บนบกเส้นที่ 5 คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2565 ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงแหล่งก๊าซฝั่งตะวันตกและตะวันออกได้ครบวงจร วงเงินลงทุนรวม 13,053 ล้านบาท


นอกจากนี้ ยังแบ่งเงินอีก 22-23% สำหรับการลงทุนต่อยอดในธุรกิจใหม่และธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งจะเป็นตัวเสริมศักยภาพให้กับ PTT อย่างเช่น Innobic (Asia) เพื่อลงทุนด้าน Life Science วงเงินลงทุนรวม 27,267 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ PTT ได้จับมือกับ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง Ecosystem ให้กับองค์กร สังคม และประเทศไทย เพื่อเฟ้นหาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ทางธุรกิจ และจัดการกับความท้าทายได้อย่างเหมาะสม

คลาวด์“ ถือเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่จะทำให้ทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกัน เสริมความเข้มแข็งให้ธุรกิจเดินหน้าเติบโตสู่ความสำเร็จได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และปลอดภัยยิ่งขึ้น ซึ่งความร่วมมือนี้เป็นระยะเวลา 5 ปี (ตั้งแต่ปี 2563-2568) โดยจะใช้บริการคลาวด์จากไมโครซอฟท์ ทั้งในด้านข้อมูล โครงสร้างพื้นฐานระบบ การคิดค้นนวัตกรรม และการสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่สร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ ยกระดับทักษะความสามารถเชิงดิจิทัลและสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้แก่พนักงาน ผ่านโครงการ และศูนย์การเรียนการสอนต่าง ๆ ของ ปตท.

รวมไปถึงศึกษาโอกาสในการจัดตั้ง AI Learning Center ที่วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง พร้อมทั้งสานต่อความยั่งยืนให้กับประเทศ ด้วยการร่วมกันค้นหา และพัฒนาต่อยอดโอกาสในการทำงานเพื่อสังคม เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนและพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลของกลุ่ม ปตท. และประเทศไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์เพื่อเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ตั้งอยู่ที่ ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง บนพื้นที่ 3,454 ไร่ เป็นโครงการที่ ปตท. มุ่งหวังที่จะสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน ช่วยขับเคลื่อนการวิจัย และพัฒนานวัตกรรม ให้เกิดขึ้นและประสบความสำเร็จในระดับที่สามารถนำไปสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ตามแนวคิด Powering Thailand’s Transformation เพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันและขับเคลื่อนประเทศ ให้ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลง พร้อมพัฒนาสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย 

ดังนั้น ปตท. จึงได้ร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT), สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC), บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ทรู), บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (เอไอเอส) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จํากัด (มหาชน) (ดีแทค) โดยใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติที่สำคัญของเทคโนโลยี 5G ในการพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรมต่างๆ

นายอรรถพล กล่าวว่า ภารกิจของ ปตท. มุ่งมั่นรักษาความเข้มแข็งของธุรกิจหลักและสร้างธุรกิจใหม่แทนที่การเติบโตในรูปแบบเดิม โดยมุ่งหวังที่จะให้กลุ่มปตท. เป็นองค์กรด้านพลังงานที่สำคัญของประเทศ และเป็นแรงขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลง โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์หรือแนวคิดหลักของ ปตท. คือ PTT หรือ Powering Thailand’s Transformation