ใครหน้าไหนก็ยึดที่รถไฟไม่ได้! กฎหมายห้ามไว้ตั้งแต่ “ร.6”

26 ก.พ. 2564 | 05:05 น.

ใครหน้าไหนก็ยึดที่รถไฟไม่ได้! กฎหมายห้ามไว้ตั้งแต่ “ร.6” : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3657 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 28 ก.พ.-3 มี.ค.2564 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

การอภิปรายว่าเรื่อง “การบุกรุกและข้อพิพาทการถือครองเอกสารสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณที่ดินเขากระโดง จ.บุรีมย์” ของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ กำลังลากพาเอา “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โทษฐานไม่ปฏิบัติบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีตนเองและญาติมีบ้านพักบนที่ดินของการรถไฟรวมถึง “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่มีอำนาจในการกำกับดูแลกรมที่ดิน จนนั่งไม่ติด   

เนื่องจากเป็นการอภิปรายในประเด็นสาธารณะ ที่เกี่ยวพันไปถึงการใช้อำนาจของรัฐมนตรี การปฏิบัติหน้าที่อย่างเท่าเทียมกันของคนในสังคม และพาลเลยเถิดไปถึง “จริยธรรม จิตสำนึก ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ที่สังคมไทยพึงประสงค์

ข้อกล่าวหาของ พ.ต.ท.ทวี ระบุว่า…ท่านรัฐมนตรี เป็นตัวการผู้สนับสนุนให้ญาติพี่น้อง และพวกพ้องกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะที่ดินเขากระโดงนั้น หลังจากปี 2560 ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยที่ดินทั้งแปลง เป็นที่สาธารณะประโยชน์ สงวนหวงห้ามไว้ และในคำพิพากษาก็บอกว่าใครที่เข้าไปอยู่จะต้องขับไล่และเพิกถอน…. 

…ท่านรัฐมนตรีก็อยู่ในพื้นที่แห่งนี้ ถ้าไปดูการแจ้งที่อยู่กับสภาฯแห่งนี้ บ้านท่านอยู่ตรงกลางๆที่การรถไฟฯ วันนี้ท่านรัฐมนตรีก็เหมือนอยู่ในที่สาธารณะ ในที่สงวนหวงห้าม เพราะหลังจากปี 2560 สถานะของที่ดินแห่งนี้ เป็นที่สงวนหวงห้าม และไม่สามารถให้ใครเข้าไปอยู่ได้”

พ.ต.อ.ทวี สอยหมัดเข้าปลายคางรัฐมนตรีคมนาคมว่า “สำหรับประชาชนทั่วไป การรถไฟฯ หน่วยงานในกำกับดูแลของรมว.คมนาคม เดินหน้าเพิกถอนโฉนดที่ดิน น.ส.3 และน.ส. 3 ก ของประชาชนในพื้นที่เขากระโดง ซึ่งเป็นที่ดินในกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ แต่แทนที่การรถไฟฯจะดำเนินการกับทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ ไม่ใช่ฟ้องแค่ใครคนใดคนหนึ่ง....

“คนไทยทุกคนต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งเหมือนไม่ได้ถูกบังคับใช้กฎหมาย” พ.ต.อ.ทวีกล่าว  

ประเด็นการครอบครองเอกสารสิทธิ์ที่ทับซ้อนกับที่ดินรถไฟฯ หรือไม่ ของคนในครอบครัวตระกูลชิดชอบ จึงเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน และสะท้อนถึงปัญหาในการจัดการ การใช้อำนาจตามกฎหมายของภาครัฐ 

ถ้าหลักคิดแนวทางของนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสชื่อดัง "มงแต็สกีเยอ" ที่ว่า "ไม่มีความเลวร้ายใด ที่จะยิ่งไปกว่าความเลวร้ายที่ได้กระทำ โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย หรือในนามของกระบวนการยุติธรรม" เป็นหลักในการต่อสู้คัดง้างกับผู้ใช้อำนาจในการปกครอง ปัญหาเรื่องที่ดินรถไฟฯ ที่เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ก็แทบไม่ต่างจากรณีนี้

ผมประมวลให้เห็นปัญหาที่ดินของการรถไฟฯ บริเวณพื้นที่เขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งส่วนหนึ่งนำมาจากเอกสารการอภิปรายของ พ.ต.อ.ทวี  อีกส่วนหนึ่งนำมาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เคยวินิจฉัยในเรื่องนี้ ดังนี้ 

1.เมื่อปี 2462-2464 มีการสร้างทางรถไฟจากนครราชสีมาผ่านไปยังบุรีรัมย์-สุรินทร์ –ศรีษะเกษ-อุบลราชธานี แต่เนื่องจากต้องหาแหล่งหิน ระเบิดหินและย่อยหิน เพื่อสร้างทาง เจ้าหน้าที่ ‘กรมรถไฟแผ่นดิน’ ในสมัยนั้น จึงสำรวจที่ดินบริเวณเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เพื่อทำการจัดซื้อที่ดิน ตามพ.ร.ฎ. พ.ศ.2464 มีการแผนที่จากสถานีบุรีรัมย์ พบว่าบริเวณ เขากระโดงไม่มีบ้านเรือนอยู่ หรือถ้ามีก็จ่ายค่าทำขวัญแล้ว และกำหนดแนวเขตขนาด 4 กิโลเมตร คูณ 2 กิโลเมตร บริเวณที่ดินเขากระโดง

2.ต่อมามีการตราพ.ร.บ.จัดวางการรถไฟ แลทางหลวง พ.ศ.2464 โดยกำหนดนิยามที่ดินรถไฟให้หมายความว่า ที่ดินทั้งหลายที่ได้จัดหาหรือเช่าถือไว้ใช้ในการรถไฟโดยชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมาย และมาตรา 6 (2) ระบุว่า ห้ามมิให้เอกชน หรือบริษัทใด หวงห้ามหรือถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินรถไฟหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น 
ขณะที่กรมรถไฟฯ มีการปักหลักเขต รวมแปลงที่ดินไว้ และมีการจัดให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ดูแล และสงวนสิทธิ์ในการใช้ที่ดินโดยสม่ำเสมอ โดยในปี 2466 การรถไฟฯ ได้ทำทางแยกจากสถานีบุรีรัมย์เข้าไปลำเลียงหินในเขากระโดง ผู้รับเหมาย่อยศิลาได้มีการก่อสร้างที่พักคนงานหลายแห่ง จนสารวัตรบำรุงทางลำปลายมาส เคยทำการขับไล่ แต่ได้รับการร้องขอจากผู้รับเหมาขออยู่เป็นการชั่วคราว และมีการทำบันทึกไว้เป็นหลักฐาน

 

3.ต่อมาจะยกเลิก พ.ร.บ.จัดวางการรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464 และตรา พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 ออกมาใช้ แต่ที่ดินบริเวณเขากระโดง เนื้อที่ราว 5,083 ไร่ ยังคงเป็นของการรถไฟฯเหมือนเดิม ตามบทบัญญัติว่า ให้โอนทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดของ “กรมรถไฟ” ให้แก่ “การรถไฟแห่งประเทศไทย” ที่ดินของการรถไฟที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินตามป.พ.พ.มาตรา 1304 ไม่มีเอกชนรายใดอ้างสิทธิ์รครอบครองได้  

4.ตั้งแต่ปี 2502 เป็นต้นมา การรถไฟฯจะพยายามขอให้กรมที่ดินออกหนังสือสำคัญสำหรับ ‘ที่หลวง’ ให้กับการรถไฟฯ แต่ประชาชนที่บุกรุกคัดค้าน ทำให้มีปัญหาอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อวันที่ 9 พ.ย.2513 การรถไฟฯ ได้ประชุมร่วมระหว่างผู้บุกรุกที่ดิน  แต่ไม่สำเร็จ กระทั่งต่อมามีผู้บุกรุกพื้นที่ฯบางรายได้นำที่ดินในพื้นที่เขากระโดงไปออกโฉนด เมื่อวันที่ 26 ต.ค.2515 และได้ขายต่อให้ บริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด และบริษัทฯ นำที่ดินไปจำนองกับธนาคารแห่งหนึ่ง ขณะที่ผู้บุกรุกรายอื่นๆ ได้ขอออกโฉนดที่ดินในพื้นที่นี้หลายแปลงและซื้อขายเปลี่ยนมือกันหลายทอดจนปัจจุบันนี้ 

5.ในอีก 25 ปีต่อมา หรือเมื่อวันที่ 18 ก.ค.2540 จังหวัดบุรีรัมย์ได้ส่งเรื่องข้อพิพาทปัญหาที่ดินระหว่างการรถไฟฯกับประชาชนไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัย และคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 7 วินิจฉัยว่า ที่ดินเขากระโดงเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟ (หนังสือที่ นร.0601/211) ลงวันที่ 17 มี.ค.2541 

กระทั่งปี 2552 การรถไฟฯ ส่งเรื่องไปยังกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย เพื่อขอให้เพิกถอนที่ดินของผู้บุกรุกที่ได้มีการออกโฉนดโดยมิชอบ โดยเฉพาะที่ดิน 2 แปลงของนักการเมืองชื่อดัง ซึ่งกรมที่ดินพิจารแล้วมีความเห็นแย้งกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา และไม่ยอมดำเนินการเพิกถอนโฉนดในที่ดินที่บุกรุก

6.ทางกรมที่ดินผู้มีหน้าที่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์อ้างว่าการรถไฟฯไม่ส่งหลักฐานรูปแผนที่กำหนดแนวเขตทางรถไฟเพื่อสำรวจและทำการสงวนหวงห้ามตามพ.ร.ฎ.กำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวง ฉบับลงวันที่ 8 พ.ย.2462 มาประกอบการพิจารณา หลักฐานอื่นที่ส่งไป ไม่อาจรับฟังได้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ...เห็นปัญหาหรือยังขอรับ  

7.ผลจากดำเนินการดังกล่าวนี่เองที่เป็นเชื้อไฟการบุกรุกที่รถไฟฯ โดยนับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ประชาชนหลายรายที่อาศัยในพื้นที่บริเวณเขากระโดง ได้นำเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่มีอยู่ เช่น น.ส.3 ไปออกเป็นโฉนดที่ดินกับกรมที่ดิน แต่กรมที่ดินไม่ออกโฉนดให้ เนื่องจากมีการคดค้านจากการรถไฟฯ จนประชาชนจำนวน 35 ราย ยื่นฟ้องการรถไฟฯและกรมที่ดินต่อศาลแพ่งต่อสู้กันจนถึงศาลฎีกา

8.เมื่อวันที่ 16 ก.พ.2560 ศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ 842-867/2560 ให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์โฉนดที่ดินและ น.ส.3 ดังกล่าว ของประชาชนผู้ฟ้อง 35 ราย โดยระบุว่าที่ดินบริเวณเขากระโดงเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ ศาลได้พิพากษาให้เพิกถอนโฉนดที่ดินและน.ส.3 อีกหลายแปลง เช่น คดีหมายเลขแดงที่ พ1317/2562 และคดีเลขที่แดงที่ 1112/2563 เข้าไปด้วย

พ.ต.ท.ทวีระบุว่า “ท่านรัฐมนตรีต้องดำเนินการนำที่ดินการรถไฟฯ แปลงนี้ ที่มีการนำไปออกโฉนด น.ส.3 ออกมา ท่านไม่ต้องทำอะไรมาก ให้ยื่นฟ้องศาลเท่านั้น ศาลฯเขามีมาตรฐานอยู่แล้ว เมื่อท่านนั่งอยู่ที่กระทรวงคมนาคม ท่านจะไม่ดำเนินการใดๆ เลยหรือ”  

พ.ต.อ.ทวี อ้างว่าที่ดินบริเวณเขากระโดง การรถไฟฯ ต้องฟ้องเพิกถอนโฉนด เช่น สนามช้างอารีน่า ซึ่งรวมถึงบ้านพักของนายศักดิ์สยาม รวมถึงที่ดินของบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด ซึ่งนายศักดิ์สยาม เคยแจ้งว่าเป็นที่ปรึกษา บริษัทฯ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ก็ตั้งอยู่บนที่ดินกรรมสิทธิ์ของการรรถไฟฯด้วย 

เอาละไม่ว่ารัฐมนตรีคมนาคมจะชี้แจงว่ามีการดำเนินการจะเป็นอย่างไร ผมพามาดูกฎหมายเดิมที่ออกในสมัย “ในหลวงรัชกาลที่ 6” ที่กำหนดสิทธิ์ของการรถไฟเอาไว้ ในพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พระพุทธศักราช 2464 ความว่า.....  


 

มีพระบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดํารัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า ด้วยมีเหตุสมควรที่จะจัดวางการรถไฟแผ่นดิน รถไฟราษฎร์แลทางหลวงให้เรียบร้อยดียิ่งขึ้น แลเพื่อรวบรวมบทกฎหมายข้อบังคับในเรื่องนี้เข้าไว้เปนหมวดหมู่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติโดยบทมาตราไว้ต่อไปดังนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พระพุทธศักราช ๒๔๖๔”

มาตรา ๒ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้เป็นกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ ๑๕ เดือนสิงหาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ เป็นต้นไป

มาตรา ๓ (๑) คําว่า “รถไฟ” หมายความว่า กิจการที่จัดทําขึ้นเพื่อหาประโยชน์ด้วยวิธีบรรทุกส่งคนโดยสาร และสินค้าบนทางซึ่งมีราง ส่วนรถไฟซึ่งได้รับอนุญาตให้สร้างขึ้นตลอดทั้งสายบนถนนหลวงของนครหนึ่งหรือเมืองหนึ่งนั้นให้เรียกว่า “รถราง”

(๒) คําว่า “ที่ดินรถไฟ” หมายความว่า ที่ดินทั้งหลายที่ได้จัดหาหรือเช่าถือไว้ใช้ในการรถไฟโดยชอบด้วยพระราชกําหนดกฎหมาย

(๓) คําว่า “ทางรถไฟ” หมายความว่า ถนนหรือทางซึ่งได้วางรางเพื่อการเดินรถ

(๔) คําว่า “เครื่องประกอบทางรถไฟ” หมายความว่า สถานีสํานักงานที่ทําการคลังไว้สินค้า เครื่องจักรประจําที่และสรรพสิ่งของทั้งปวงที่ก่อสร้างไว้เพื่อประโยชน์ของรถไฟ

มาตรา ๖ ในส่วนรถไฟทั้งหลายนอกจากรถไฟหัตถกรรม

(๑) ห้ามไม่ให้ยกกําหนดอายุความขึ้นต่อสู้สิทธิของแผ่นดินเหนือที่ดินรถไฟ หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นของรถไฟ

(๒) ห้ามไม่ให้เอกชนหรือบริษัทใด ๆ หวงห้ามหรือถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินรถไฟ หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เว้นไว้แต่จะได้มีประกาศกระแสพระบรมราชโองการเป็นพิเศษว่า ทรัพย์นั้นๆ ได้ขาดจากเป็นที่ดินรถไฟแล้ว

(๓) ห้ามมิให้ยึดที่ดินรถไฟ สิ่งปลูกสร้าง รถและพัสดุของรถไฟ  

มาตรา ๗ ตั้งแต่วันที่ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้สืบไป แม้ถึงว่าจะมีข้อความกล่าวไว้เป็นอย่างอื่นในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตนั้นก็ดีบทพระราชบัญญัติทั้งหลายนี้ ซึ่งว่าด้วยความสงบเรียบร้อยและความปราศภัยแห่งประชาชน กับทั้งว่าด้วยการสอดส่องและการกํากับตรวจตราโดยสภากรรมการรถไฟนั้น ท่านให้ใช้บังคับแก่บรรดารถไฟราษฎร์ทั้งหลายซึ่งมีอยู่ในพระราชอาณาจักรในวันที่ออกใช้พระราชบัญญัตินี้ด้วย 

กฎหมายฉบับนี้ได้ยกเลิกไปและมีการตรา พ.ร.บ..การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 ออกมาใช้ แต่ในกฎหมายนั้นกำหนดให้โอนทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดของ “กรมรถไฟ” ให้แก่ “การรถไฟแห่งประเทศไทย” ที่ดินของการรถไฟที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินตามป.พ.พ.มาตรา 1304 ไม่มีเอกชนรายใดอ้างสิทธิ์ครอบครองได้

และในมาตรา 6 (2) ระบุว่า ห้ามมิให้เอกชน หรือบริษัทใด หวงห้ามหรือถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินรถไฟหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น

...แอ่นแอ๊น ...คุณคิดว่าอย่างไร ...ผมเผ่นละครับ!