‘ชาญศิลป์’ จัดทัพ ไดเวอร์ซิฟาย ฟื้น‘การบินไทย’

28 ก.พ. 2564 | 00:00 น.

จากอดีตซีอีโอปตท.มาบริหารสายการบินที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤติเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เขาใช้หลักในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในการบินไทยอย่างไร และทิศทางการขับเคลื่อนองค์กรในช่วง 3-5 ปีนี้จะเป็นเช่นไร อ่านได้จากการเปิดใจของ “ชาญศิลป์ ตรีนุชกร” รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

"ชาญศิลป์ ตรีนุชกร" รักษาการแทนดีดีการบินไทย เปิดใจว่า นับเป็นเวลาร่วม 8-9 เดือนที่ผมเข้ามานั่งรักษาการดีดีตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค.63 ผมบอกแต่ต้นแล้วว่าผมไม่ใช่ซุปเปอร์แมน สิ่งที่เราได้ทำร่วมกันกับคณะผู้ทำแผน ผู้บริหารระดับสูง ระดับกลาง ระดับล่าง และพนักงาน ก็ทำให้องค์กรที่ยังพอกระท่อนกระแท่นพออยู่ได้ หลังจากที่เราได้ยื่นฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 26 พ.ค.63 และเข้าสู่ Automatic Stay

หน้าที่ของผมจึงมี 2 เรื่อง คือ 1.การทำแผนฟื้นฟูกิจการ ร่วมกับคณะผู้ทำแผนที่ล้วนเป็นผู้มีประสบการณ์ และที่ปรึกษาการเงินชั้นนำในด้านต่างๆ ซึ่งแผนมีความคืบหน้าไปหลายเรื่อง พร้อมยื่นแผนฟื้นฟูต่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ในวันที่ 2 มี.ค.นี้ โดยขณะนี้มีการเจรจาเจ้าหนี้ต่างๆ อาทิ เจ้าหนี้ผู้ให้เช่าเครื่องบิน(Lessor)ก็เจรจาสำเร็จแล้วโดยคิดค่าเช่าเฉพาะชั่วโมงที่ใช้บินเท่านั้น ถ้าเครื่องบินจอดอยู่ก็จะไม่คิดค่าเช่า ทำให้ลดค่าเช่าเครื่องบินให้30-50%

แก้ปัญหาแคชโฟร์

2.การบริหารงานในฐานะรักษาการดีดี ซึ่งการบินไทยยังทำหน้าที่อยู่หลายด้านมาก ไม่ว่าจะเป็นการพาคนไทยกลับบ้าน การให้บริการคาร์โก้ แม้จากโควิด-19 จะทำให้เรามีรายได้ลดลงไปเกือบ90% จากเดิมเคยบินวันละ 200 กว่าเที่ยวบิน เหลือเดือนไม่ถึง 200 เที่ยวบิน

ทำให้การแก้ปัญหาเรื่องของกระแสเงินสด เป็นปัญหาหลักของการบินไทย ตอนผมเข้ามาพบว่าการบินไทยมีกระแสเงินสดที่อยู่ได้ถึงธ.ค.63 ทำให้เราจึงมีโครงการTogether We Can 1 (ปรับลดเงินเดือนและค่าตอบแทน) นำคนไทยที่ทำงานในสำนักงานต่างประเทศกลับเข้าไทย ลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นทุกทาง

ชาญศิลป์ ตรีนุชกร

การลดจำนวนพนักงานเอ้าท์ซอร์ทในสนามบินลง และลดเงินเดือน เพราะจากโควิด เที่ยวบินต่างประเทศบินลงเข้ามาแค่10% เที่ยวบินในประเทศอยู่ราว50% โดยที่ผ่านมาก็จ่ายชดเชยตามกฏหมายแรงงานไปราว 6 พันคน ในส่วนของพนักงานการบินไทยก็มีเกษียณอายุราว 1 พันคน และการบินไทยเปิดโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร MAP A เบ็ดเสร็จในปีที่ผ่านมาพนักงานก็ลดลงไปราว 9 พันคน จากเดิมอยู่ที่ 2.9 หมื่นคนเหลืออยู่ราว 1.9-2 หมื่นคน

ทั้งเรายังมีโครงการLW20 ขอให้พนักงานเสียสละรับเงินเดือน20% ซึ่งพนักงานเหล่านี้แม้จะยอมเสียสละลดเงินเดือน แต่ก็ได้เข้ามาทำงานเป็นอาสาสมัครมาทำงานในส่วนต่างๆที่จะสร้างรายได้ให้การบินไทย ไม่ว่าจะเป็นภัตตาคารการบินไทย หรือแม้แต่ปาท่องโก๋ การบินไทย ทำให้การบินไทยมีกระแสเงินสดถึงมี.ค.63

แต่ไม่ใช่แค่นั้นเราต้องเตรียมการเพิ่มกระแสเงินสดอีก โดยได้ร้องขอศาลล้มละลายกลาง เพื่อขายทรัพย์สินเพื่อรักษาชีวิต และศาลฯอนุมัติ ทำให้เราขายหุ้นบริษัทบริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS ซึ่งการบินไทยได้ขายหุ้นออกไปแล้วได้เงิน 2.71
พันล้านบาท ทำให้เพิ่มสภาพคล่องจากเดิมที่จะหมดในเดือนมี.ค.นี้ออกไปเป็นเดือนพ.ค.นี้แล้ว

รวมถึงอยู่ระหว่างประกาศขายอาคารศูนย์ฝึกอบรมลูกเรือ บริเวณหลักสี่ พร้อมที่ดิน การขายหุ้นนกแอร์และขายเครื่องยนต์เครื่องบินโบอิ้ง 737-400 ที่ไม่ได้ใช้งาน 4-5 ชุด เพื่อมาทำให้กระแสเงินสดยังเดินไปได้อย่างน้อย 1-2 เดือน หรือถึงเดือนก.ค.นี้

ทั้งเรายังจะยื่นขอศาลฯเพื่อขอให้ขายเครื่องบินเก่าราว 30-40 ลำเพื่อขยายสภาพคล่องเพิ่มไปอีก แม้การขายเครื่องบินในวันนี้ไม่ได้ขายง่ายได้ในเวลานี้ แต่มันเป็นทรัพย์สินเดียวที่เราจอดไว้จะเกิดการด้อยค่า หรือถ้าขายไม่ได้ก็มีหลายวิธีที่จะบริหารจัดการ

วันนี้คุณไม่ทางเลือก ต้องเลือกขายทรัพย์สินที่มันยังพอมีน้ำหนัก และพอมีเงินกลับเข้ามา เราไม่ได้ขายทรัพย์สินทั้งหมด จริงๆแล้วการบินไทยมีทรัพย์สินที่ดีมากตึกวิภาวดีรังสิต ทรัพย์สินทั้งหลาย เรายังมีทรัพย์สินที่สนามบินสุวรรณภูมิ มีทรัพย์สินอยู่ในต่างประเทศ เราดูว่าอันไหนขายได้เราก็จะขาย

นอกจากนี้ขณะนี้เรายังเปิดโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร MAP B และ MAP C การทำงานในช่วง 3-5 ปีนี้ต้องเป็นไปอย่างรอบคอบ ซึ่งเรามองว่าพนักงานการบินไทยควรจะอยู่ที่ 1.3-1.5 หมื่นคน ลดแบบเครื่องบินจากเดิม 8 แบบ เหลือ 4 แบบ (รวมเครื่องบินที่ให้ไทยสมายล์เช่าทำการบิน) การปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ จากเดิมการทำงานกว่าจะมาถึงผมมี 8 ระดับต่อไปก็จะเหลือ 5 ระดับ แก้ปัญหาการทำงานที่เป็นไซโลในอดีต

โครงสร้างใหม่การบินไทย

ย้ำว่าผมไม่ได้ให้คนออก ถ้าเป็นสายการบินในยุโรปหรืออเมริกา มีคนออกไปเยอะแล้ว แต่เป็นการเปิดโปรแกรมสมัครใจ บางคนผมก็ไม่ให้ไป ไม่งั้นไม่มีคนทำงาน แต่ส่วนใหญ่สมัครใจ บางคนอยากเอาเงินสำรองเลี้ยงชีพไป เงินชดเชยตามกม.ไป เงินบำเหน็จใช้ชีวิตใหม่ ไปหางานใหม่ แล้วเราก็มากรอง ไม่ใช่ไล่ออก โดนฟ้องแน่ ให้ออกตามความสมัครใจร่วมเสียสละให้องค์กร

ดัน 600 โครงการสร้างมูลค่า5หมื่นล้าน

อีกทั้งสิ่งที่ดีมากที่เกิดขึ้นคือการร่วมมือของพนักงานที่ร่วมมือกัน สร้างโครงการต่างๆรวมกว่า 600 โครงการที่เกิดจากBottom up ขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างรายได้ ลดค่าใช้จ่าย ที่โครงการเหล่านี้คิดเป็นมูลค่าที่บริษัทจะได้รับถึง 3-5 หมื่นล้านบาทภายใน 5 ปี หลายโครงการในวันนี้ที่เกิดขึ้นก็มาจากคนกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างภัตตาคาร ขายปาท่องโก๋ เที่ยวบินมงคลฟากฟ้า โครงการเสียสละเพื่อองค์กร การต่อรองค่าเช่าเครื่องบิน การจ่ายค่าตอบแทนเป็นกะแทนการจ่ายเป็นค่าโอที

ทั้งเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนโครงการต่างๆที่จะเกิดขึ้นในโครงสร้างใหม่เราจึงตั้งฝ่ายขับเคลื่อนองค์กรขึ้นมาใหม่ แต่ก่อนที่เกิดไม่ได้เพราะไม่มีแต่แผนแต่ไม่มีคนปฏิบัติ และมีการตั้งฝ่ายกลยุทธ์ เพื่อมาบริหารจัดการโครงการต่างๆให้เดินต่อ และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่

จริงอยู่ที่ธุรกิจยังเป็นรายได้หลักของการบินไทย แต่ตั้งแต่ปี 47 ที่มีการเปิดน่านฟ้าเสรี การแข่งขันในธุรกิจการบินมีสูงมาก การบินไทยเคยมีมาร์เก็ตแชร์ 70-80% วันนี้เหลืออยู่ 64% มีปัจจัยภายนอกต่างๆมากมาย อาทิ ราคาน้ำมัน,สงครามการค้า,โควิด-19 ทำให้การบินไทยขาดทุนต่อเนื่องกว่า 9 ปี นี่คือข้อสรุปว่าธุรกิจการบินเวลาดีก็ดีใจหาย เวลาเสียหายก็หนัก ดังนั้นเราต้องมีรายได้ และกำไรที่นิ่งๆ ด้วยการไดเวอร์ซิฟายธุรกิจ

 

ทำให้การหารายได้จากหน่วยธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจการบิน (Non-Air) จะต้องพัฒนาให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยาน คาร์โก้ ครัวการบิน บริการภาคพื้น เราตั้งใจว่าจะเพิ่มรายได้จากธุรกิจอื่นๆขยับมาเป็น50% และธุรกิจการบินอยู่ที่ 50% จากวันนี้ที่การบินไทยมีรายได้จากธุรกิจการบินเป็นหลักอยู่ที่ 90% มีรายได้จากธุรกิจอื่น 10%

ธุรกิจเหล่านี้เป็นจุดแข็งที่เราสามารถหาคนเข้ามาร่วมลงทุน โดยที่การบินไทยยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่จะทำได้เราต้องแต่งตัว ยังไม่มีการแยก 4 หน่วยธุรกิจเหล่านี้ออกมาเป็นบริษัทในขณะนี้ เพียงแต่จะต้องมีการแยกบัญชีของหน่วยธุรกิจต่างๆเหล่านี้ให้ชัดเจน เพื่อรองรับการหาผู้ร่วมทุนในอนาคต วันนี้เราจะไปเจรจาได้ข้อเสนอที่สวยงามได้อย่างไร ถ้าเรายังขาหัก วิ่งไม่ได้อยู่

การสร้างรายได้จากธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจการบิน โดยเฉพาะครัวการบิน จริงๆบัฟแอนด์พาย เกิดก่อนกาแฟอเมซอนด้วยซ้ำ และดังมาก แต่ทำไมยังอยู่แค่นี้ หรือปาท่องโก๋ การบินไทยเราสร้างจนดังได้ ต่อไปก็จะมีการขยายสาขาและรายได้ในส่วนนี้ให้เพิ่มขึ้น ซึ่งผมเป็นคนเริ่มอเมซอน และวันนี้ก็เห็นว่าธุรกิจนี้ช่วยปตท.ในยุคโควิด ที่เป็นบวก แต่ของการบินไทยเรามีอยู่แล้วไม่ได้เริ่มจากศูนย์

ส่วนการกลับมาเปิดบินรับผู้โดยสารเหมือนอดีต เราจะบินในเส้นทางที่มีกำไรเท่านั้น จะบินจุดไหนขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิดของแต่ละประเทศ และการฉีดวัคซีนที่เกิดขึ้น ซึ่งคาดว่าน่าจะทยอยเริ่มบินได้ช่วงปลายปีนี้ โดยมองไว้ที่ภูมิภาคเอเชียเหนือ(นอร์ทเอเชีย) เช่น ญี่ปุ่น

อีกด้านที่เป็นปัญหาของการบินไทยในอดีตคือการจัดซื้อ ตามโครงสร้างใหม่ก็จะรวมการจัดซื้อ และกฏหมายมาไว้ที่เดียวกัน คุมด้วยดิจิทัล ไม่ใช่กระจายจัดซื้อกันเหมือนเมื่อก่อน ที่ต่างคนต่างทำกันเองทำให้เกิดความวุ่นวาย รวมถึงจะมีการสร้างนักบริหารรุ่นใหม่ มีการอบรมการขึ้นสู่ตำแหน่งต่างๆอย่างชัดเจน ทำให้องค์กรเกิดความต่อเนื่องในการทำงาน ไม่ใช่ว่าให้การเมืองมาฝาก หรือมาบอกว่าควรจะร่วมลงทุนกับใคร การบินไทยต้องคิดเอง และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,657 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :