“อาคม”เผยแก้ “พ.ร.ก.ซอฟต์โลน” ไม่ทัน ครม.นัดแรก มี.ค.

25 ก.พ. 2564 | 08:35 น.

“อาคม” เผยยังอยู่ระหว่างจัดทำมาตรการโกดังพักหนี้ หรือ Asset Warehousing และ ปลดล็อคเงื่อนไข พ.ร.ก.ซอฟต์โลน คาดไม่ทันเข้า ครม. นัดแรกเดือนมีนาคม

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงการออกแพ็กเกจมาตรการดูแลภาคท่องเที่ยว ผ่าน โครงการ “โกดังพักหนี้” หรือ “Asset  Warehousing” รวมทั้งการปลดล็อคเงื่อนไข ในร่างพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ที่เป็นอุปสรรคในการช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยวและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาจาก วิกฤตโควิด-19 ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำได้นั้น ขณะนี้ทั้ง 2 ประเด็นยังอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดไม่ทันเข้าที่ประชุม ครม.สัปดาห์หน้า

 

“ทั้งมาตรการ Asset  Warehousing และ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน ยังอยู่ระหว่างการหารือรายละเอียด ขอให้รอความชัดเจนก่อน คงไม่ทันเข้าครม. สัปดาห์หน้า” รมว.คลังกล่าว  

 

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง

สำหรับรายละเอียดเบื้องต้นของโครงการ “โกดังพักหนี้” หรือ “Asset  Warehousing”  เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในกลุ่มท่องเที่ยวที่ประสบปัญหาจากวิกฤตโควิด-19 โดยมีโรงแรมให้ความสนใจจะเข้าร่วมโครงการประมาณ 140 ราย มูลหนี้รวม 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงื่อนไขของ Asset  Warehousing คือ การแช่แข็งสินทรัพย์เป็นเวลา 3-5 ปี โดยลูกหนี้ตีโอนทรัพย์ชำระหนี้ให้ธนาคารพาณิชย์เพื่อยุติการเป็นหนี้ หยุดภาระเงินต้นทางการเงินและดอกเบี้ย

 

สำหรับลูกหนี้ที่โอนทรัพย์พร้อมสิทธิความเป็นเจ้าของให้กับธนาคาร โดยที่ลูกหนี้มีสิทธิในการซื้อคืนสินทรัพย์คืนจากธนาคารเป็นรายแรก ภายในระยะเวลา 3-5 ปี โดยธนาคารจะพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้ นอกจากนี้ลูกหนี้จะได้รับยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการตีโอนทรัพย์เป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ระหว่าง 3-5 ปี ธนาคารจะคิดค่าใช้จ่ายในการถือครองสินทรัพย์ในราคาต่ำประมาณ 2% เพื่อบำรุงรักษาโรงแรม และลูกหนี้สามารถทำสัญญาเช่าดำเนินกิจการได้โดยเสียค่าเช่าในอัตราที่ต่ำกว่าต้นทุนภาระหนี้ในปัจจุบัน

 

ขณะที่การ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน ธปท. 5 แสนล้านบาท (ฉบับเดิม) มีการกำหนดเงื่อนไขป้องกันความเสี่ยงสูง ทำให้แบงก์ไม่กล้าปล่อยกู้ โดยข้อมูลล่าสุด (8 ก.พ. 2564) มีการปล่อยกู้ซอฟต์โลนไปเพียง 125,777 ล้านบาท มีผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิเพียง 74,800 ราย