สศค.เผยโควิดรอบใหม่ ฉุดภาวะเศรษฐกิจ ม.ค.ชะลอตัว

24 ก.พ. 2564 | 09:00 น.

สศค.เผยภาวะเศรษฐกิจไทย ม.ค.64 ชะลอตัวลงทั้งการใช้จ่ายในประเทศและการท่องเที่ยว เหตุกังวลการระบาดโควิด-19รอบใหม่ คาดสถานการณ์ ก.พ.ดีขึ้นหลังผู้ติดเชื้อลดลงและวัคซีนถึงไทย

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยการคลังประจำเดือนมกราคม 2564 พบว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19รอบใหม่ ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 64 ส่งสัญญาณชะลอตัวลงจากเดือนธันวาคม 2563 ทั้งการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชน

 

เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 47.8 จากระดับ 50.1 ในเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นการปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากผู้บริโภคกังวลการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน หลังเกิดการระบาดระบาดรอบใหม่  อย่างไรก็ตามการส่งออกยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง จากปัจจัยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ ทำให้การส่งออกในเดือนมกราคมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวได้ 0.4%

 

“ตัวเลขการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนที่ลดลงในเดือนมกราคม เป็นผลจากการระบาดของไวรัสโควิด รอบใหม่ แต่มาตรการรัฐที่ออกมาทำให้ตัวเลขไม่ลดลงไปมาก ซึ่งจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลงและการมาถึงของวัคซีน ทำให้แนวโน้มตัวเลขต่างๆในเดือนกุมภาพันธ์มีทิศทางที่ดีขึ้น” นายวุฒิพงศ์ กล่าว

 

วุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษก สศค.

ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ -0.3% ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.2% ต่อปี สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 อยู่ที่ 52.1% ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2564 อยู่ในระดับสูงที่ 256.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 

ส่วนภาวะเศรษฐกิจการคลังภูมิภาคเดือนมกราคม 64 ส่งสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ในหลายภูมิภาค จากอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง ส่วนหนึ่งจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังสามารถขยายตัวได้ สะท้อนจากรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ที่ยังขยายตัวได้ 9.2% และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวอยู่ที่ 37.6% ด้วยจำนวน 1.0 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม รายงานดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบว่า ดัชนี RSI เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ชี้แนวโน้มความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากคาดการณ์ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส-19 รอบใหม่มีแนวโน้มคลี่คลายลง อย่างไรก็ตาม แนวโน้มความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของ กทม. และปริมณฑลยังชะลอตัว อยู่ที่ระดับ 47.0แต่ยังเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่  

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: