Green Cosmetic สวยได้ หล่อได้ แต่ต้องไม่ทำร้ายโลก

24 ก.พ. 2564 | 04:05 น.

Green Cosmetic สวยได้ หล่อได้ แต่ต้องไม่ทำร้ายโลก : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.วัชรพงศ์ รติสุขพิมล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,656 หน้า 5 วันที่ 25 - 27 กุมภาพันธ์ 2564

Green Cosmetic คืออะไร ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าคำว่าเครื่องสำอางนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ตกแต่งใบหน้าเท่านั้น แต่ยังหมายถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับภายนอกร่างกายทั้งใบหน้า ผิวหนัง เส้นผม เล็บ รวมไปถึงภายในร่างกายอย่างฟันและช่องปากอีกด้วย โดยใช้เพื่อทำความสะอาด สร้างความสวยงาม หรือปกป้องดูแลส่วนต่างๆ ของร่างกาย 

และประกอบกับในปัจจุบันกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก การจะเลือกซื้อสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่ราคาหรือคุณภาพการใช้งานเท่านั้น แต่ยังต้องดูด้วยว่าสินค้าดังกล่าวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยหรือไม่ 

หลายคนอาจเคยชินกับคำว่า Organic Cosmetic ซึ่งหมายถึงเครื่องสำอางที่ใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติ ไม่ผ่านการใช้สารเคมีและกระบวนการ GMOs ในขณะที่ Green Cosmetic หรือเครื่องสำอางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้น นอกจากจะใช้ส่วนผสมที่เป็น ออร์แกนิกแล้ว ทุกขั้นตอนการผลิตไปจนถึงการออกจำหน่ายผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย ต้องเป็นไปอย่างปราศจากสารเคมี รวมไปถึงบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ต้องสามารถรีไซเคิลหรือสามารถย่อยสลายได้อีกด้วย  

การที่จะบอกว่าเครื่องสำอางยี่ห้อใดมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมบ้างย่อมต้องมีเกณฑ์การตัดสิน ซึ่งถ้าหากพูดถึงมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดเพื่อใช้รับรองความเป็นเครื่องสำอางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คง ต้องยกให้มาตรฐาน COSMOS ซึ่งย่อมาจาก Cosmetic Organic and Natural Standard เป็นมาตรฐานสำหรับใช้กับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวทุกชนิด มีเป้าหมายคือการพัฒนาอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ที่คำนึงถึงผลกระทบในด้านเศรษฐกิจ ความรับผิดชอบต่อสังคม และการรักษาสมดุลทางธรรมชาติ 

โดยมีการกำกับดูแลตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตวัตถุดิบไปจนถึงการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ มาตรฐานดังกล่าวถูกกำหนดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสมาคมนานาชาติในยุโรป 4 สมาคม ได้แก่ BDIH จากเยอรมนี, COSMEBIO & ECOCERT จากฝรั่งเศส ICEA จากอิตาลี และ SOIL ASSOCIATION จาก สหราชอาณาจักร 

 

Green Cosmetic สวยได้ หล่อได้ แต่ต้องไม่ทำร้ายโลก

 

โดยหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการรับ รองมาตรฐานสูงสุดของสถาบันจะต้องครอบคลุมทุกกระบวนการด้วยเช่นกัน ประเด็นสำคัญของมาตรฐานนี้ คือ อย่างน้อย 95% ของส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต้องเป็นส่วนผสมจากธรรมชาติจาก สวนออร์แกนิกที่ได้รับการรับรองโดยทางสถาบัน 

ในส่วนของผลิตภัณฑ์นั้นต้อง มีส่วนประกอบอย่างน้อย 20% ที่เป็นออร์แกนิก แร่ธาตุที่นำมาใช้ต้องไม่ผ่านกระบวนการดัดแปลงทางเคมีโดยตั้งใจและขั้นตอนการสกัดต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วัตถุดิบทางการเกษตรที่ผ่านกระบวนการทางเคมีอาจมาจาก พืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์ โดยอนุญาตเฉพาะวัตถุดิบขั้นต้นตามที่ระบุไว้ในข้อกำหนดอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) 

 

กระบวนการผลิตทุกขั้นตอน รวมถึงการทดสอบผลิตภัณฑ์ต้องผ่านระบบการควบคุมคุณภาพสินค้า (Quality Control System) การจัดเก็บและการขนส่งเพื่อออกจำหน่ายต้องเป็นไปอย่างปราศจากการปนเปื้อนสารเคมี และตัวบรรจุภัณฑ์ของเครื่องสำอางจะต้องใช้วัสดุให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และต้องใช้วัสดุที่สามารถนำมา reuse หรือ recycle ได้อีกด้วย 

จากเกณฑ์ของมาตรฐาน COSMOS ที่ได้กล่าวไปก็น่าจะสามารถการันตีได้ถึงคุณภาพของสินค้าที่ออกมาแล้วว่า เครื่องสำอางที่ผ่านมาตรฐานได้นั้นจะต้องมีความปลอดภัยทั้งต่อผู้บริโภค

อีกทั้งยังเป็นมิตรต่อโลกอีกด้วย ดังนั้นบริษัทเครื่องสำอางชั้นนำหลายแห่ง จึงมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเพื่อได้รับมาตรฐานนี้เป็นอย่างมากเพื่อที่จะได้สื่อถึงภาพลักษณ์ของตัวสินค้าที่มีความใส่ใจต่อลูกค้าและสิ่งแวดล้อม 

ในประเทศไทยนั้นยังไม่มีความตื่นตัวมากนักในเรื่องของเครื่องสำอางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การกำกับดูแลมาตรฐานของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางถูกกำหนดโดยภาครัฐ ซึ่งได้มีบทบาทผ่านการออกประกาศต่างๆ เพื่อควบคุมการใช้สารเคมีในเครื่องสำอาง ทั้งการยกเลิกใช้สารเคมีหรือการจำกัดปริมาณที่พบได้ 

อย่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ก็ได้ประกาศเพื่อห้ามใช้พลาสติกไมโครบีดส์ในการผลิตเครื่องสำอาง และห้ามนำเข้าเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของพลาสติกไมโครบีดส์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 เป็น ต้นไป เนื่องจากพลาสติกไมโครบีดส์ที่นิยมใส่มาในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น โฟมล้างหน้าเพื่อใช้ในการขัดทำความสะอาด มีลักษณะสลายตัวได้ยาก สามารถสะสมตัวในธรรมชาติได้ ก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อระบบนิเวศในนํ้าและสัตว์นํ้า และก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ที่บริโภคสัตว์ที่มีการปนเปื้อนเม็ดพลาสติกนี้

 

ในความคิดเห็นของผู้เขียนนั้น เครื่องสำอางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นเรื่องใกล้ตัวของเราทุกคนและส่งผลกระทบในวงกว้าง การผลิตและการบริโภคที่ไม่ได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมย่อมจะก่อให้เกิดผลกระทบตามมา 

ดังนั้น เราควรร่วมกันสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสุขภาพของตัวเราเองและเป็นการดูแลสิ่งแวดล้อมอีกด้วย จากประสบการณ์ของผู้เขียนพบว่าราคาของเครื่องสำอางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมักจะมีราคาสูงเนื่องจากกระบวนการผลิตที่มีต้นทุนสูงกว่าเครื่องสำอางทั่วไป 

ดังนั้น ทางภาครัฐควรสนับสนุนโดยการให้ความรู้ทั้งต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภค สร้างแรงจูงใจเพื่อกระตุ้นให้ ผู้ประกอบการปรับตัวเพื่อพัฒนากระบวน การผลิตให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทั้งในด้านการให้เงินอุดหนุนหรือการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตเครื่องสำอางที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในต้นทุนที่ตํ่าลงได้ และควรให้การสนับ สนุนด้านการศึกษา วิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มองค์ความรู้ในด้านนี้เพิ่มเติม 

หมายเหตุ : ผู้เขียนขอขอบคุณคุณศุภาพิชญ์ ว่องนิยมเกษตร สำหรับการค้นคว้าและช่วยรวบรวมข้อมูลสำหรับการเขียนบทความนี้