สหภาพฯ"การบินไทย"ยื่นผู้ทำแผนขีดเส้นตายให้ยุบ"ไทยสมายล์"ย้ำห้ามเลิกจ้างพนักงาน

22 ก.พ. 2564 | 12:35 น.

สหภาพฯการบินไทย ยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้ทำแผน เรียกร้อง 20 ข้อ ทั้งขอให้ยุบสายการบินไทยสมายล์ เร่งให้การบินไทย ทำการบินในประเทศ ยันต้องมีไม่มีการสอบเพื่อคัดเลือกพนักงานสมัครเข้าทำงานตามโครงสร้างใหม่ ห้ามเลิกจ้างพนักงานระดับ 1-7 ยันบริษัทละเมิดกฏหมายแรงงานหลายข้อ

วันนี้ (วันที่22 กุมภาพันธ์ 2564)นายสรยุทธ  หอมสุคนธ์ ประธานสหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย ได้ยื่นข้อเรียกร้องเรื่องการกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518   ต่อคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูการบินไทย โดยระบุว่าเห็นสมควรยื่นข้อเรียกร้องโดยอาศัยสิทธิตาม มาตรา 13 ประกอบมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 โดยมีข้อเรียกร้องทั้งหมด 20 ข้อ ได้แก่

 

สหภาพฯ"การบินไทย"ยื่นผู้ทำแผนขีดเส้นตายให้ยุบ"ไทยสมายล์"ย้ำห้ามเลิกจ้างพนักงาน

1.ให้สายการบินไทย โดยบริษัทการบินไทยฯ ทำการบินในประเทศมากขึ้นโดยด่วนเพื่อสร้างรายได้ และสร้างงานให้แก่พนักงาน

 2.ยุบหรือควบรวมบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด (WE) ทั้งนี้ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด มีผลประกอบการขาดทุนสะสมเป็นจำนวนมากมาตลอดนับจากการก่อตั้งบริษัท และเป็นภาระของบริษัทการบินไทยฯ

 3.ต้องไม่มีการเปิดให้พนักงานสมัครกลับเข้ามาทำงานใหม่ในตำแหน่งต่างๆ(Re-Launch) โดยการสอบข้อเขียน/สอบสัมภาษณ์ เพราะพนักงานมีศักยภาพ มีตำแหน่งการทำงานอยู่แล้วในปัจจุบัน  และสามารถปฎิบัติงานได้ในทันที/ปฏิบัติงานอยู่แล้วเป็นปกติในปัจจุบัน

4.ห้ามมิให้บริษัทการบินไทยฯ แยกหน่วยธุรกิจหรือฝ่ายใดๆ เพื่อขายส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมด ให้แก่บุคคลหรือนิติบุคคลอื่น เพราะด้วยหลักการข้างต้นก็มีนัยยะที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยพนักงานมีการเปลี่ยนตัวนายจ้างโดยขัดต่อกฏหมาย

5. การกำหนดโครงสร้างอัตราเงินเดือนที่บริษัทการบินไทยฯ จะประกาศใหม่ต้องไม่กระทบสิทธิของพนักงาน ระดับ 1-7 และต้องไม่ต่ำกว่าราคาอัตราเงินเดือนของกลุ่มธุรกิจการบินในระดับสากล ทั้งนี้ ต้องได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการลูกจ้าง หรือ สหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย (สร.พบท.) ก่อน

 6.ห้ามมิให้มีการเลิกจ้างพนักงานระดับ 1-7 เพราะจะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการเลิกจ้างอย่างมาก เพราะบริษัทการบินไทยฯต้องจ่ายทันทีในวันสุดท้ายของการทำงาน และอาจเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ต้องจ่ายค่าชดเชย 1-2 เดือน โดยหากผิดนัดต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด 

7. ตามประกาศบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่  004/2564  เรื่อง  โครงการร่วมใจจากองค์กร Mutual Separation Plan B (“MSPB”) และประกาศบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่  005/2564  เรื่อง  โครงการร่วมใจจากองค์กร  Mutual Separation Plan C (“MSPC”)  เงินตอบแทนการเลิกจ้างและเงินชดเชยต่างๆตามกฏหมาย ห้ามมิให้ผ่อนจ่าย เว้นแต่พนักงานยินยอม

 8. ขอให้บริษัทฯ คืนสวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ของพนักงาน ตามระเบียบบริษัทฯ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลทั้ง 19 ตอน ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 1 ซึ่งเป็นข้อตกลงสภาพการจ้างที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่ เนื่องจากเป็นการตกลงสองฝ่าย มิใช่ข้อบังคับการทำงานที่นายจ้างกำหนดแต่ฝ่ายเดียวและไม่เป็นคุณยิ่งกว่า ให้กับสมาชิกสหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย ซึ่งเป็นพนักงานระดับ 1-7 สร.พบท.ยืนยันที่จะขอให้บริษัทฯ และคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ใช้ระเบียบว่าด้วยการบริหารงานบุคคลดังกล่าว

 9.ขอให้บริษัทฯ ประกาศโครงสร้างอัตราเงินเดือนใหม่ให้พนักงานทราบอย่างเป็นทางการและเปิดเผย เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือก MSP B หรือ MSP C

10.ขอให้บริษัทฯ จ่ายค่าชดเชยจากผลกระทบที่เกิดขึ้นให้กับพนักงานอู่ตะเภา (UTP)  ซึ่งตามมาตรา 60-64 ของ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ระบุไว้ว่า EEC จะต้องนำกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษฯ มาดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้วย และให้หาอัตราตำแหน่งงานที่เหมาะสมให้กับพนักงานอู่ตะเภา โดยไม่ต้องมีการสอบเพิ่มเติมอื่นใดทั้งสิ้น

11.ให้บริษัทการบินไทยฯ มีหน้าที่จัดตั้งคณะกรรมการลูกจ้างตามกฎหมายให้กับ สหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย (สร.พบท.) ทั้งนี้ให้คณะกรรมการลูกจ้างมีหน้าที่เป็นคณะกรรมการสวัสดิการ ตามกฎหมาย

สหภาพฯ"การบินไทย"ยื่นผู้ทำแผนขีดเส้นตายให้ยุบ"ไทยสมายล์"ย้ำห้ามเลิกจ้างพนักงาน

12.ขอให้ยกเลิกข้อกำหนดที่ประกาศการเลิกจ้าง สำหรับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ที่มีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ ณ วันที่ 1 พ.ค. 2564 เป็นต้นไป เพราะถือเป็นการเลือกปฏิบัติสำหรับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน แต่ให้มีการหาตำแหน่งงานในส่วนภาคพื้นให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเหล่านั้นทำแทน

13.ให้คงใช้ระเบียบริษัทฯ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลเดิมทั้งหมด ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 1 และหากจะมีการปรับปรุงแก้ไขในอนาคต ต้องจัดให้มีคณะกรรมการแก้ไขปรับปรุงระเบียบฯ โดยเป็นผู้แทนของ สร.พบท. เข้าร่วมในการพิจารณา

14.ให้สหภาพฯ สร.พบท. มีส่วนในการเข้าเป็นคณะทำงานฯ เพื่อร่วมพิจารณาในการออกประกาศ หรือคำสั่งใดๆ ที่กระทบสภาพการจ้าง สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการของพนักงาน อีกทั้งการแก้ไขระเบียบฯใดๆ ที่มีผลกระทบต่อสภาพการจ้าง และการปฏิบัติงาน ต้องมีข้อตกลงร่วมกับสหภาพฯ สร.พบท.

15.ให้สหภาพฯ สร.พบท. มีส่วนร่วมในการบริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ในการสร้างกำไรให้กับบริษัทฯ

16.จัดให้มีสถานพยาบาล และแพทย์ตลอด 24 ชม. ในสถานประกอบการ และ จัดให้มีสวัสดิการ รถ-รับส่งตามเดิม

 

17.ให้บริษัทฯ แต่งตั้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้คณะกรรมการสหภาพฯสร.พบท. เข้าเป็นคณะกรรมการพิจารณาวินัยพนักงาน และเป็นกรรมการในเรื่องการพิจารณาหลักเกณฑ์การปรับโครงสร้างเงินเดือนประจำปี และผลประโยชน์ตอบแทนของพนักงาน

18.ในกรณีที่บริษัทฯ มีการโยกย้ายหรือสับเปลี่ยนพนักงานจากสังกัดเดิมไปปฏิบัติงานสังกัดอื่น ต้องแจ้งให้พนักงานผู้ถูกโยกย้ายหรือสับเปลี่ยนทราบเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วันทำการ โดยต้องได้รับคำยินยอมจากพนักงานก่อน

19.ให้บริษัทฯ คงสิทธิ์พนักงานกองทุนบำเหน็จทุกคนให้ได้รับสิทธิในเงินกองทุนบำเหน็จโดยเป็นไปตามระเบียบบริษัทว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ตอนที่ 5 การจ่ายเงินบำเหน็จและเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงาน พ.ศ. 2537 และนำบรรจุในแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ และที่ประชุมเจ้าหนี้ได้รับทราบถึงภาระที่บริษัทการบินไทยฯ มีอยู่ต่อพนักงานในกองทุนบำเหน็จ และแผนการจ่ายเงินจากกองทุนบำเหน็จในอนาคต

20.ให้บริษัทฯ คุ้มครองสิทธิ์สมาชิก สร.พบท.ที่เลือกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในส่วนการจ่ายเงินสมทบให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530

ข้อตกลงใดที่ตกลงกันได้ตามข้อเรียกร้องฉบับนี้ ให้มีผลผูกพันและใช้บังคับระหว่างบริษัทการบินไทยฯ กับพนักงาน และสมาชิกของสหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย (สร.พบท.)

ในการยื่นข้อเรียกร้องครั้งนี้ สหภาพแรงงานขอแจ้งรายชื่อผู้แทนเจรจา คือ ประธานและกรรมการสหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย (สร.พบท.)และที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายของสหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย และขอให้บริษัทการบินไทยฯนัดเจรจาภายใน 3 วันคือวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 มิฉะนั้น สร.พบท. จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป เนื่องจากบริษัทละเมิดกฏหมายแรงงานหลายข้อ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :