ส่งออกได้เฮกรมเจ้าท่าแก้กฎใหม่ เพิ่มตู้สินค้าเข้าไทย 1.2 หมื่นตู้ต่อเดือน

22 ก.พ. 2564 | 05:17 น.

หอการค้าไทยเร่งแก้ปัญหาส่งออกขาดแคลนตู้สินค้า ค่าระวางเรือพุ่ง ล่าสุดได้เฮกรมเจ้าท่าไฟเขียวเรือขนาดเกิน 300 เมตร แต่ไม่เกิน 400 เมตรเข้าเทียบท่าได้ 2 ปีไม่ต้องขออนุญาตใหม่ ช่วยเพิ่มตู้เปล่าได้อีก 12,000 ตู้ต่อเดือน

นายกลินท์  สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย ภายหลังเป็นประธานกล่าวเปิดการบรรยายออนไลน์ เรื่อง สถานการณ์ส่งออกสินค้าทางทะเลด้วยระบบคอนเทนเนอร์ : บริบทไทยและบริบทโลก เนื่องมาจากสถานการณ์ปัญหาและอุปสรรคการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการส่งออกและนำเข้าสินค้าทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์สำหรับบรรจุสินค้า การจัดสรรพื้นที่ระวางเรือเพื่อวางตู้สินค้า รวมทั้งการปรับเพิ่มขึ้นของค่าระวางเรือ หอการค้าไทยตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้มีการดำเนินการต่าง ๆ ที่ผ่านมาร่วมกับสมาชิก ผู้ประกอบการ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐเพื่อผลักดันแนวทางแก้ไขปัญหาแต่ละมิติให้บรรเทาลง

 

ทั้งนี้เพื่อเป็นการสรุปสถานการณ์ปัญหาขนส่งสินค้าทางทะเล แนวทางแก้ไขปัญหาและทิศทางในอนาคต จึงได้จัดการบรรยายออนไลน์ครั้งนี้ขึ้น โดยได้รับเกียรติจาก ผู้แทนบริษัท เมอส์กไลน์ ไทยแลนด์ (Maersk Line Thailand) ซึ่งเป็น ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางทะเลรายใหญ่ที่สุดในโลก มีระบบบริการขนส่งสินค้าทางทะเลและบริการเกี่ยวเนี่องครบวงจร ให้เกียรติเป็นวิทยากร เพื่อสรุปสถานการณ์ โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าทางทะเลด้วยระบบตู้คอนเทนเนอร์ ในมิติห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบให้แก่สมาชิกหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

 

ส่งออกได้เฮกรมเจ้าท่าแก้กฎใหม่ เพิ่มตู้สินค้าเข้าไทย 1.2 หมื่นตู้ต่อเดือน

                                        ภูมินทร์ หะรินสุต

นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวถึง การขับเคลื่อนแนวทางแก้ไขสถานการณ์ขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์สำหรับส่งออกสินค้า โดยหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายได้ผลักดันข้อเสนอการแก้ปัญหาโดยเฉพาะข้อเสนอการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกให้เรือใหญ่ขนาดเกิน 300 เมตร แต่ไม่เกิน 400 เมตร ซึ่งบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์เข้าเทียบท่าเรือในประเทศไทยที่แหลมฉบังได้สะดวกขึ้น เพื่อส่งเสริมการนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์ ลดปัญหาการขาดแคลนตู้ฯ ไปยังหน่วยงานภาครัฐต่างๆ อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม รวมไปถึงได้เสนอต่อคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และสนับสนุนข้อมูลเศรษฐกิจรายสาขา ซึ่งดำเนินงานภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 หรือ ศบค.เศรษฐกิจ  ซึ่ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เป็นประธาน โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องดังกล่าว จึงมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ร่วมกับ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งพิจารณากำหนดแนวทางให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยเร็ว

ส่งออกได้เฮกรมเจ้าท่าแก้กฎใหม่ เพิ่มตู้สินค้าเข้าไทย 1.2 หมื่นตู้ต่อเดือน

ปัจจุบัน กรมเจ้าท่า ก็ได้ออกประกาศกรมฯ ที่ 25/2564 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 เรื่อง การกำหนดให้เรือที่มีความยาวเรือมากกว่า 300 เมตร แต่ไม่เกิน 400 เมตร เข้าเทียบท่า โดยสาระสำคัญ คือ การกำหนดแนวปฏิบัติให้เรือที่มีความยาวมากกว่า 300 เมตร แต่ไม่เกิน 400 เมตร เข้ามายังประเทศไทยครั้งแรก ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จะต้องขออนุญาตจากกรมเจ้าท่า และเมื่อผ่านการพิจารณาแล้วไม่ต้องขออนุญาตอีกภายในระยะเวลา 2 ปี โดยมีเงื่อนไขกำหนดไว้ โดยเฉพาะการปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัย ทั้งนี้การออกประกาศดังกล่าวภาคเอกชนคาดการณ์ว่าจะช่วยให้สามารถนำเรือใหญ่ที่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์เข้ามาเทียบท่าเรือได้เพิ่มขึ้นประมาณ 20-30% ในเส้นทางหลัก และจะส่งเสริมให้มีการนำตู้ฯเปล่าเข้ามายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นเดือนละประมาณ 12,000 ตู้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าได้

นอกจากนี้ ยังจะช่วยให้ค่าระวางเรือในการขนส่งจากประเทศไทยลดลง ทั้งนี้ในช่วงท้าย ได้กล่าวขอบคุณไปยังนายกรัฐมนตรีที่เล็งเห็นถึงความสำคัญ ตลอดจนความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหา ตลอดจนขอบคุณภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่มีส่วนขับเคลื่อนแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

ส่งออกได้เฮกรมเจ้าท่าแก้กฎใหม่ เพิ่มตู้สินค้าเข้าไทย 1.2 หมื่นตู้ต่อเดือน

                                          พิเศษ ฤทธาภิรมย์

นายพิเศษ ฤทธาภิรมย์ กรรมการ บริษัท เมอส์กไลน์ ไทยแลนด์ กล่าวในการบรรยาย โดยสรุปสาระสำคัญสถานการณ์ปัญหาอุปสรรคการขนส่งสินค้าทางทะเลด้วยระบบตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ Perfect Storm ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ปัญหาหลักเกิดจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การขนส่งเกิดปัญหาคอขวด (Bottle Neck) ที่ท่าเรือ ประกอบกับการขาดแคลนอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการขนถ่ายสินค้าระหว่างท่าเรือ การขนส่งและหมุนรอบของตู้คอนเทนเนอร์ไม่เป็นไปตามตารางเวลา

อย่างไรก็ดี คาดการณ์ว่า ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์จะคงตัว และค่อย ๆ คลี่คลายลงภายในระยะเวลาประมาณ 6 เดือน โดยปลายปี 2564 สถานการณ์จะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ประกอบกับการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ของแต่ละประเทศ รวมถึงประเทศไทย ก็จะเป็นปัจจัยเสริมในการช่วยคลี่คลายปัญหาดังกล่าวให้บรรเทาลง

 สำหรับทิศทางอนาคต มองว่า ควรผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซ่อมตู้คอนเทนเทอร์ เพื่อรองรับอุปสงค์และอุปทานของตู้ฯ กรณีเกิดการกระชากตัวของอุปสงค์และอุปทานตู้ฯอีกในอนาคต นอกจากนี้สนับสนุนแนวทางการปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ ด้านการขนส่งทางทะเลให้มีความสะดวกในทุกมิติ เพื่อบริหารจัดการระบบการนำเข้า-ส่งออก และ การถ่ายลำ หรือ Transshipment ที่ท่าเรือได้ต่อเนื่องและตรงเวลา อย่างไรก็ดีในอีก 2 ปีข้างหน้า จะมีการต่อเรือสินค้าเพิ่มเข้าสู่ระบบการขนส่งทางทะเลทั่วโลกอีกประมาณ 10% ซึ่งจะรองรับการขนส่งสินค้าทางทะเลด้วยระบบตู้คอนเนอร์ได้เพิ่มขึ้น เป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการควรเตรียมความพร้อมต่อไป 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

จี้รัฐเร่งแก้ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน แนะตั้งกองทุนลดภาระเอกชน   

ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน สะเทือนค้าปลีกมะกัน-ศก.โลก 

“วิกฤติตู้คอนเทนเนอร์ : ทำต้นทุนขนส่งทางเรือสูงนานแค่ไหน?”

หอการค้าไทย-จีน ชี้การเมือง ไม่กระทบส่งออก

หอการค้าไทย จับมือพันธมิตร มอบสิทธิพิเศษให้สมาชิก