สปสช.ขยายบริการ“คลินิกการพยาบาลฯ”นำร่อง 100 แห่งปีนี้ 

22 ก.พ. 2564 | 00:42 น.

สปสช.ขยายบริการ “คลินิกการพยาบาลฯ” ในระบบบัตรทอง ปี 64 นำร่อง 100 แห่ง เพิ่มทางเลือกหน่วยบริการปฐมภูมิ ร่วมบริการดูแลสุขภาพปฐมภูมิประชาชน   

 

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า พยาบาลเป็นวิชาชีพที่มีความใกล้ชิดกับผู้ป่วยและมีศักยภาพในการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ ภายใต้ระบบบริการสาธารณสุขของประเทศไทย “คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์” ที่ดำเนินการโดยผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ เป็นหนึ่งในสถานพยาบาลมาตรฐานตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาลฯ ที่ได้ร่วมดูแลสุขภาพประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง” เป็นระบบสุขภาพใหญ่ที่สุดของประเทศ ครอบคลุมดูแลประชากรผู้มีสิทธิ์กว่า 48 ล้านคน การจัดบริการสุขภาพให้เพียงพอ ดูแลประชาชนผู้มีสิทธิ์ให้เข้าถึงบริการสุขภาพอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ที่ผ่านมา สปสช. ได้จับมือกับหน่วยบริการทางการแพทย์ในด้านต่างๆ รวมถึงคลินิกการพยาบาลฯ ที่มีคุณภาพมาตรฐานตามวิชาชีพ เพื่อรองรับการให้บริการและดูแลสุขภาพประชาชนผู้มีสิทธิ์

 

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ภายหลังจากเมื่อช่วงปลายปี 2562 ที่ สปสช. ได้ร่วมกับสภาการพยาบาลนำร่องหน่วยบริการคลินิกการพยาบาลฯ ภายใต้ระบบบัตรทองในพื้นที่เขต กทม. ปรากฎว่าได้รับการตอบรับด้วยดี เนื่องจากช่วยเพิ่มความสะดวกการเข้ารับบริการสุขภาพปฐมภูมิให้กับประชาชน และเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการสาธารณสุขในระบบบัตรทอง ลดการเข้ารับบริการในโรงพยาบาลที่สอดคล้องกับสถานการณ์ COVID-19  ทั้งเป็นการปรับบริการสู่วิถีชีวิตใหม่ (New normal) และสนับสนุนนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing)

ดังนั้นในปีงบประมาณ 2564 สปสช. ได้ขยายนำร่องการบริการคลินิกการพยาบาลฯ เพิ่มเติมในเขตเมืองใหญ่ เขตปริมณฑล และเศรษฐกิจภาคตะวันออก จำนวน 100 แห่ง ในพื้นที่สปสช. เขต 1 เชียงใหม่, เขต 4 สระบุรี, เขต 6 ระยอง, เขต 9 นครราชสีมา และเขต 11  สุราษฎร์ธานี โดยได้เริ่มให้บริการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา     

ทั้งนี้ คลินิกการพยาบาลฯ ที่เข้าร่วมบริการในระบบบัตรทองได้นั้น ต้องเป็นสถานบริการที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการและดำเนินการสถานพยาบาล ตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล และต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องเกณฑ์การตรวจประเมินเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 ต้องเปิดให้บริการอย่างน้อย  40 ชม./สัปดาห์ มีพยาบาลวิชาชีพปฏิบัติงานตลอดเวลาที่เปิดให้บริการอย่างน้อย 1 คน และให้บริการตามมาตรฐานวิชาชีพ ได้แก่ บริการการพยาบาลขั้นพื้นฐาน การบริหารยาตามแผนการรักษาแพทย์และบริการดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่บ้าน (Home Health Care) ที่เชื่อมโยงการบริการกับหน่วยบริการประจำและหน่วยบริการที่รับการส่งต่อ โดยในการรับบริการแต่ละครั้งจะมีผู้ป่วยพิสูจน์ตนเองด้วยบัตรประชาชนสมาทการ์ด

สำหรับงบประมาณที่นำมาสนับสนุนการบริการนั้น สปสช. ได้จัดสรรงบประมาณค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิ (PHC) ปีงบประมาณ 2564 ในส่วนของหมวดการเพิ่มการเข้าถึงบริการโดยหน่วยบริการร่วมให้บริการเพื่อสนับสนุนนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ที่เป็นการลดความแออัด จำนวน 10 ล้านบาท ซึ่งการเบิกจ่ายเป็นไปตามเงื่อนไขที่ สปสช. กำหนด         

 “นับเป็นหน่วยบริการอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ระบบบัตรทองได้เพิ่มเติมเพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการดูแลสุขภาพปฐมภูมิเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคลินิกการพยาบาลฯ เป็นสถานพยาบาลที่กระจายตั้งอยู่ในชุมชน ช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชนในการรับบริการ ทั้งนี้เป็นผลจากความร่วมมือระหว่างสภาการพยาบาล และ สปสช. ในการพัฒนาบริการรูปแบบใหม่ในระบบบัตรทองโดยมีประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สปสช.รองรับคนว่างงานสิทธิบัตรทองปี 64 เพิ่ม 1.37 แสนคน พิษโควิด

บอร์ดสปสช.เคาะงบบัตรทองรายหัวปี65 ที่ 3,843 บาท/คน

เปิดจองสิทธิฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ผ่านแอปฯเป๋าตัง - สถานพยาบาลบัตรทอง 1 ก.พ.นี้