อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด "ทรงตัว"ที่ 29.98 บาท/ดอลลาร์

22 ก.พ. 2564 | 00:11 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทระยะสั้นเคลื่อนไหวในกรอบแคบและอ่อนค่าตามทิศทางของเงินดอลลาร์ 


อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 29.98 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 29.90-30.10 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน EASY INVEST บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS)ระบุว่า ในสัปดาห์นี้มีตัวเลขเศรษฐกิจและการแถลงการของเฟดที่ต้องติดตาม

เริ่มต้นด้วยการรายงานตัวเลขการค้าของไทยเดือนมกราคม ตลาดคาดว่าการส่งออกจะขยายตัว 3.8% ขณะที่การนำเข้าจะกลับไปหดตัว 10.8% ส่งผลให้ประเทศไทยเกินดุลการค้าต่อเนื่อง ตามมาด้วยการรายงานผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางจีน (PBOC) คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (LPR 1ปี) ที่ระดับ 3.85%

ต่อมา นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ มีกำหนดขึ้นให้แถลงรายงานด้านนโยบายการเงินกับรัฐสภาสหรัฐในวันอังคาร เชื่อว่าตลาดจะจับตาไปที่มุมมองของนายพาวเวลล์กับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านของประธานาธิบดีไบเดน ประเด็นเงินเฟ้อที่กำลังจะปรับตัวขึ้น และเงื่อนไขในการลดการทำ QE ของเฟด อย่างไรก็ดี เชื่อว่าเฟดมีแนวโน้มที่จะส่งสัญญาณ “คง” นโยบายช่วยเหลือทั้งหมดตามเดิม และจะยอมปล่อยให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นกว่าเป้าหมายได้ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว

ส่วนในตลาดเงิน ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาดอลลาร์แข็งค่าจากบอนด์ยีลด์สหรัฐที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง พร้อมกับหุ้นที่ปรับฐาน แต่ในวันศุกร์ดอลลาร์กลับตัวอ่อนค่าลงเมื่อตลาดหุ้นฝั่งยุโรป และสกุลเงินที่มีความสัมพันธ์กับราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงอย่างดอลลาร์แคนาดา (CAD) และดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD) แข็งค่า

ในสัปดาห์นี้เชื่อว่าดอลลาร์มีโอกาสอ่อนค่ากลับลงไปอีกครั้งถ้าตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวและนโนบายการเงินสหรัฐมีแนวโน้มผ่อนคลายนาน มองว่าสกุลเงินในทวีปยุโรปมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้ต่อถ้าเห็นการแจกจ่ายวัคซีนเกิดขึ้นได้ตามแผนของแต่ละประเทศ แต่ในระยะยาว เงินดอลลาร์จะไม่อ่อนค่ามากเพราะได้แรงสนับสนุนจากบอนด์ยีลด์ที่ปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามภาพเงินเฟ้อ

กรอบดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) สัปดาห์นี้ 90.00-91.00 จุด ระดับปัจจุบัน 90.30 จุด

ด้านอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ระยะสั้นเคลื่อนไหวในกรอบแคบและอ่อนค่าตามทิศทางของเงินดอลลาร์ สัปดาห์นี้จึงต้องจับตาทั้งตัวเลขเศรษฐกิจและแนวโน้มของค่าเงินดอลลาร์ เชื่อว่าฝั่งดุลการค้าของไทยยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนการแข็งค่าของเงินบาท เนื่องจากการเกินดุลต่อเนื่อง หมายความว่าจะมีแรงขายเงินดอลลาร์ของผู้ส่งออกกลับมาในที่สุด 

ส่วนในช่วงถัดไป เชื่อว่าเงินบาทและสกุลเงินเอเชียจะถูกกดดันจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐ เพราะมักส่งผลให้เกิดแรงขายตราสารหนี้ในภูมิภาคตามมา ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นได้ต่อเนื่องเมื่อมีสัญญาณของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ฟื้นตัว หรือการเดินทางที่คาดว่าจะกลับมาบ้าง 

กรอบเงินบาทรายสัปดาห์ 29.85-30.15 บาทต่อดอลลาร์

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า อัตราแลกเปลียนค่าเงินบาทเช้านี้ (22 ก.พ.) “ทรงตัว”อยู่ที่ระดับประมาณ 29.94-30.00  บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินดอลลาร์ฯ  ได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยิลด์สหรัฐฯ หลังจากที่ข้อมูล PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนก.พ. (เบื้องต้น) และยอดขายบ้านมือสองเดือนม.ค. ของสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าที่ตลาด โดยบอนด์ยิลด์อายุ 10 ปี ขยับขึ้นแตะจุดสูงสุดในรอบ 1 ปีที่ 1.36%

 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 29.90-30.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ ตัวเลขเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอรมนีเดือนก.พ.จากสถาบัน Ifo  และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐฯ เดือนม.ค.