จับตาค่าโง่คลองด่านงวด2 กมธ.วิสามัญป.ป.ช.จี้รัฐชะลอจ่าย21พ.ค.

26 เม.ย. 2559 | 03:00 น.
ด้วยมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยหลายหมื่นล้านบาท "โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน" จึงถูกยกให้เป็นการโกงกินระดับชาติที่วันนี้ผู้กระทำผิดยังไม่ถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด หลงเหลือไว้เพียงซากอนุสาวรีย์ให้สังคมได้จดจำชั่วลูกชั่วหลาน ผลพวงที่เกิดขึ้นได้สร้างบาดแผล และส่งผลต่อเนื่องจนถึงวันนี้ เห็นชัดที่สุดหนีไม่พ้นกรณีที่รัฐต้องควักกระเป๋าจ่ายชดเชย เสียค่าโง่ ให้กับ บริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้เกือบหมื่นล้านบาท

เกิดกระแสคัดค้าน เรียกร้องให้รัฐบาลชะลอการจ่ายค่าโง่ในโครงการนี้ออกมาต่อเนื่อง หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 อนุมัติงบกลางปี 2559 รายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินให้กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นำไปชำระหนี้ให้กับบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด แบ่งชำระออกเป็นงวดๆ โดยชำระงวดแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา จำนวนกว่า 3 พันล้านบาท เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯอีกจำนวนกว่า 21 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และกำลังจะครบกำหนดชำระงวดที่ 2 ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2559 นี้ จำนวนกว่า 2 พันล้านบาท เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯอีก 16 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนงวดสุดท้ายกำหนดชำระภายในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2559

หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ปรากฏการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆทั้งจากภาคประชาชน และกลุ่มนักวิชาการคัดค้านการจ่ายชดเชยต่อเนื่อง ดังเช่น นางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ และนางดาวัลย์ จันทรหัสดี อดีตแกนนำคัดค้านบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ตั้งโต๊ะแถลงคัดค้าน ให้เหตุผลว่า รัฐบาลควรรอให้ศาลฎีกาตัดสินคดีที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ฟ้องบริษัทเอกชนทั้ง 19 ราย เสร็จสิ้นเสียก่อน เพราะหาก คพ.ชนะในคดีนี้ หากรัฐจ่ายไปแล้วคงไม่สามารถทวงเงินคืนจากบริษัทเอกชนเหล่านั้นได้

หนุนส่งด้วยความเห็นของ ศ.วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ที่สะท้อนมุมมองผ่านเวทีสัมมนาเรื่อง "คลองด่าน 2 หมื่นล้าน ทำไมต้องเสียค่าโง่" ว่า รัฐบาลควรชะลอการจ่ายเงินดังกล่าวออกไปก่อนจนกว่าจะมีความชัดเจนในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่า เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกระทำความผิดหรือไม่ รวมถึงการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดต่อเจ้าหน้าที่ซึ่งเรื่องยังอยู่ที่ศาลปกครอง และกรณีที่กรมควบคุมมลพิษฟ้องบริษัทเอกชนที่หลอกนำที่ดินสาธารณะมาขายให้เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งเรื่องยังอยู่ในชั้นศาลฎีกา รวมถึง นางสาวนวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอีกกระบอกเสียงที่หนุนแนวคิดนี้ การคัดค้านให้รัฐชะลอการจ่ายเงินชดเชยยิ่งมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้นเมื่อ นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) กล่าวไปในทิศทางเดียวกัน โดยตั้งข้อสังเกตเทียบเคียงกับคำพิพากษาใน "คดีค่าโง่ทางด่วนสายบางนา-บางพลี-สมุทรปราการ" ที่เวลานั้น แม้ว่าอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยจ่ายค่าเสียหายให้กิจการร่วมค้าบีบีซีดี 6 พันล้านบาทเศษ แต่ศาลฎีกาก็มีคำพิพากษาให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ไม่ต้องจ่ายตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแม้แต่บาทเดียว

"เพราะผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยทำสัญญากับกิจการร่วมค้าบีบีซีดี ผู้รับจ้างโดยเอื้อประโยชน์และช่วยเหลือผู้รับจ้าง สัญญาจ้างจึงเกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ไม่มีผลผูกพันกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย

คดีค่าโง่คลองด่านนี้ เจ้าหน้าที่รัฐก็เอื้อประโยชน์และช่วยเหลือผู้รับจ้างเช่นเดียวกัน ผลคดีน่าจะไม่ต่างกัน แต่เมื่อศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้จ่าย รัฐบาลก็ควรแก้ด้วยการขอหักกลบลบหนี้กับค่าเสียหายที่ผู้รับจ้างต้องร่วมรับผิดชอบ ทำให้รัฐบาลไม่ต้องจ่าย และยังเรียกร้องให้ผู้รับจ้างจ่ายค่าเสียหายได้ด้วย

น่าสนใจยิ่ง เพราะเมื่อกลางเดือนธันวาคมปลายปี 2558 ศาลอาญาได้พิพากษาจำคุก นายปกิต กิระวานิช อดีตอธิบดี คพ. และนายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ รองอธิบดี คพ.และนางยุวรี อินนา ในกรณีการทำสัญญาจ้างระหว่าง คพ.และกลุ่มกิจการร่วมค้าไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่ต้น

ล่าสุด คณะอนุกรรมาธิการ(กมธ.)ศึกษาเสนอแนะมาตรการและกลไกในการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ใน กมธ.วิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ออกมาเผยผลการประชุมของ กมธ.วิสามัญ ป.ป.ช. เรื่องข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ในประเด็นคดีการทุจริตโครงการคลองด่านว่า

รัฐบาลควรชะลอการจ่ายเงินงวดที่ 2 ออกไปก่อน แนะให้นำเงินจำนวน 6 พันล้านบาทที่ต้องจ่ายวางเป็นหลักประกันไว้ที่ศาลเพื่อรอคำวินิจฉัยของศาลอาญาว่า เอกชนมีส่วนร่วมในการทุจริต หรือเป็นสัญญามิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งจะเป็นหลักประกันให้เอกชนมั่นใจได้ว่า รัฐจะไม่เบี้ยวการชำระเงินครั้งนี้หากผลคำวินิจฉัยออกมา

ทั้งยังเสนอให้ คพ.ดำเนินการฟ้องคดีแพ่ง และคดีอาญาแก่กลุ่มบริษัทเอกชนที่ร่วมกับอดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษและพวก ให้ชดใช้เงินค่าก่อสร้างทั้งหมด แก่ทางราชการพร้อมดอกเบี้ย 7.5 % ต่อปีนับตั้งแต่วันทำสัญญา รวมถึงดำเนินคดีอาญากับกลุ่มบริษัทเอกชนและกลุ่มบริษัทจัดหาที่ดิน กรณีร่วมกันปกปิดบิดเบือนเอื้อประโยชน์ระหว่างกันด้วย และให้ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยว่า โครงการนี้เป็นไปตามมาตรา 13 (ข) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2552 หรือไม่ด้วย

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาท่าทีฝั่งรัฐบาลยืนยันจุดยืนมาต่อเนื่อง โดย พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เคยระบุไว้ว่า จะชะลอได้อย่างไร เพราะศาลปกครองสูงสุดตัดสินไปแล้ว สำทับอีกแรงเมื่อ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายรัฐบาล ให้ความเห็นทางข้อกฎหมายว่า แม้จะมีคดีอาญาอยู่ในชั้นศาลต่างๆ แต่ความผิดฐานฉ้อโกงเป็นคนละส่วนกับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ตัดสินให้รัฐชำระค่าเสียหายภายใน 90 วัน เนื่องจากส่วนนี้รัฐเป็นหนี้ ทั้งยังตั้งคำถามไว้ด้วยว่า ได้มีการตกลงกันระหว่างรัฐกับเอกชนในการแบ่งจ่ายออกเป็น 3 งวดตามเวลาที่กำหนด โดยไม่คิดดอกเบี้ย หากจะชะลอการจ่ายเงินออกไป ต้องไปตกลงกันใหม่เรื่องดอกเบี้ยที่รัฐต้องเสียวันละประมาณ 2 ล้านบาทหรือไม่ อย่างไร

เป็นท่าทีล่าสุดที่ออกมาตอกย้ำไม่เห็นด้วยจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะถึงกำหนดจ่ายรอบ 2 ในวันที่ 21 พฤษภาคมนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,151 วันที่ 24 - 27 เมษายน พ.ศ. 2559