รัฐชดเชย 10,067 ล้านให้“อบต.-เทศบาล”บรรเทาลดจัดเก็บภาษีที่ดิน

19 ก.พ. 2564 | 04:33 น.

​​​​​​​รัฐชดเชย 10,067 ล้านบาท ให้ “อบต.-เทศบาล”ทั่วประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากการลดจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประจำปีงบประมาณ 2564

รศ.วีระศักดิ์ เครือเทพ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพัฒนาการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครั้งที่ 1/2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา

โดยเปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณา เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ชดเชยรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ได้รับมอบหมายจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 10,067.59 ล้านบาท เพื่อจัดทำประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

สรุปมติอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการพัฒนารายได้ท้องถิ่น (ประชุมระหว่างเดือน ส.ค. 63 - ก.พ. 64) เกี่ยวกับการชดเชยรายได้ ให้แก่ อปท. ที่ได้รับผลกระทบจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ภดส.) เฉพาะ อบต. และเทศบาลตำบลที่ได้รับจัดสรรจากงบประมาณแผ่นดิน ปีงบประมาณ 2564

 

โดยมีหลักการ ดังนี้

1. จัดสรรให้แก่ อบต. และ เทศบาลตำบล ในวงเงินประมาณ 10,067.59 ล้านบาท ให้สอดคล้องกับมติ ครม. เดือนมิถุนายน 2559 ที่ให้คำนึงถึงผลกระทบและประสิทธิภาพในการบริหารจัดเก็บ ภดส. ตามแนวทางที่อนุกรรมการฯ กำหนดและเสนอให้ ก.ก.ถ. ให้ความเห็นชอบ และประกาศ ก.ก.ถ. เพื่อจัดสรรเงินชดเชยนี้ต่อไป

2. การชดเชยรายได้ที่ลดลง จะจัดสรรให้เฉพาะ อปท. ที่มีผลการจัดเก็บลดลงจากปี 2562 เท่านั้น หาก อปท. ใดมีรายได้ ภดส. สูงขึ้นกว่าเดิมที่เคยจัดเก็บได้จาก ภรด. รวมกับ ภบท. จะมิได้รับการจัดสรรเงินชดเชย  และเงินชดเชยที่จัดสรรจะไม่เกินกว่าเงินรายได้ภาษีที่ลดลง

3. กรณีของเทศบาลนคร เทศบาลเมือง เมืองพัทยา และ กรุงเทพมหานคร ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นรวบรวมข้อมูลและวงเงินเสนอต่อรัฐบาล เพื่อขอรับการจัดสรรเงินชดเชยจากงบกลางต่อไป

4. เงินชดเชยนี้จะจัดสรรในลักษณะเงินอุดหนุนทั่วไปให้แก่ อปท. สามารถนำไปใช้จ่ายได้ภายใต้กรอบภารกิจ หากใช้ไม่หมดให้ตกเป็นเงินสะสมของ อปท.

5. เงินที่ได้รับการชดเชยนี้มีจำนวน 10,067.59 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 84.5% จากยอดเงินภาษีที่ลดลงราว 11,900 ล้านบาท (เฉพาะส่วนของ อบต. และเทศบาลตำบล)  ดังนั้น อปท. อาจมิได้รับการจัดสรรชดเชยเต็มจำนวน

6. ขอให้ อปท. รีบสรุปผลการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับปี 2563 และรายงานข้อมูลผลการจัดเก็บผ่านระบบ Info ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นโดยเร็ว เพื่อให้สามารถจัดสรรเงินชดเชยได้โดยด่วนต่อไป

7. จากนี้ อนุกรรมการฯ จะนำเสนอผลการประชุมต่อ ก.ก.ถ. เพื่อให้ความเห็นชอบ และออกประกาศ ก.ก.ถ. เพื่อจัดสรรเงินชดเชยตามหลักเกณฑ์นี้ต่อไป ทั้งนี้คาดว่าจะมีการประชุม ก.ก.ถ. ราวกลางเดือนมีนาคม และจะสามารถออกประกาศฯ ได้ราวกลางเดือนเมษายน 2564

สำหรับวิธีปฏิบัติ คือ

1. การประเมินรายได้ภาษีที่ลดลง ให้พิจารณาส่วนต่างของภาษีระหว่างปี 2562 และ 2563  โดยรายได้ในปี 2562 ให้คำนวณจากยอดการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน รวมกับภาษีบำรุงท้องที่ ณ วันที่ 30 กันยายน 2562  ส่วนรายได้ในปี 2563 ให้คำนวณจากยอดการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563

2. การคำนวณเงินชดเชยจะพิจารณาตามสูตร 10 : 90 ซึ่งเป็น 2 ส่วนดังนี้

2.1 เงินจัดสรรตามประสิทธิภาพ สัดส่วนร้อยละ 10 ของวงเงินที่ได้รับการจัดสรร โดยจะคำนวณตามผลคะแนนประเมิน LPA ด้านการบริหารงานคลังของปี 2563  หากจัดสรรส่วนนี้ไม่หมด ให้นำไปรวมกับส่วนที่ 2

2.2 เงินจัดสรรเพื่อชดเชยรายได้ภาษีที่ลดลง ให้จัดสรรเฉลี่ยในสัดส่วนเท่ากันของวงเงินที่มี แต่จะไม่เกินกว่ายอดรวมเงินรายได้ภาษีที่ลดลง

2.3 เงินชดเชยทั้ง 2 ส่วนนี้เมื่อรวมกันแล้ว จะต้องไม่เกินกว่ายอดรายได้ภาษีที่ลดลงของแต่ละ อปท.

3. ผลการจัดสรรตามนี้จะทำให้สัดส่วนการชดเชยรายได้ภาษีที่ลดลงให้แก่ อปท. ขั้นต่ำสุดจะได้รับการชดเชยราวร้อยละ 88 เศษ และสัดส่วนที่สูงสุดจะได้รับชดเชย 100%  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผลการประเมิน LPA และยอดรายได้ภาษีที่ลดลงของแต่ละ อปท.

4. วงเงินชดเชยที่ได้รับการจัดสรรมาจากงบประมาณแผ่นดินนี้จะจัดสรรครบถ้วนทั้งหมดให้แก่ อปท. ที่ได้รับผลกระทบรายได้ดังกล่าว โดยจะไม่มีวงเงินเหลือที่ต้องคืนคลัง

5. อนุกรรมการฯ ได้ขอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมกับสำนักงาน ก.ก.ถ. จัดทำร่างประกาศ ก.ก.ถ. ตามหลักเกณฑ์นี้ และคำนึงถึงความสะดวกของ อปท. ที่เมื่อได้รับเงินชดเชยแล้ว สามารถนำไปเบิกจ่ายได้อย่างคล่องตัว  โดยเฉพาะในระหว่างที่ อปท. ยังไม่มีผู้บริหารท้องถิ่นและ/หรือสภาท้องถิ่นปฏิบัติหน้าที่อยู่

6. อนุกรรมการฯ ได้ขอให้สมาคม อปท. ได้แจ้งสื่อสารทำความเข้าใจกับสมาชิก อปท. ให้เข้าใจโดยทั่วกันต่อไป

ทั้งนี้ หากท่านใดมีข้อสงสัยหรือมีข้อท้วงติงประการใด ขอให้สอบถามหรือส่งความเห็นเพิ่มเติมได้ ภายใน 1-2 สัปดาห์ เพื่อจะทำเรื่องเสนอต่อที่ประชุม ก.ก.ถ. ต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :