บางจากเล็งธุรกิจใหม่ทั้งใน-ต่างประเทศ ตั้งเป้ารายได้ธุรกิจสีเขียว 40-50% ปี 67

19 ก.พ. 2564 | 04:00 น.

บางจากเล็งธุรกิจใหม่ทั้งใน-ต่างประเทศ ตั้งเป้ารายได้ธุรกิจสีเขียว 40-50% ปี 67 ระบุปี 63 มีรายได้ 1.36 แสนล้านบาท

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปี 64 คาดการณ์ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 (Covid-19) จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นหลังจากที่ประเทศไทยกำลังจะได้รับวัคซีนป้องกัน ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อการดำเนินธุรกิจของบางจากฯ หลังจากปรับโครงสร้าง เสริมสภาพคล่องให้แข็งแรงมีความพร้อมในการปรับตัว ขยายศักยภาพในการบริหารงานและการลงทุนต่อยอดธุรกิจใหม่

พร้อมรุกไปข้างหน้าเต็มที่เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ผ่านโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มในทุกธุรกิจ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังไม่หยุดยั้งที่จะแสวงหาโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ในขณะที่ยังให้ความสำคัญกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมภายใต้บทบาทผู้นำนวัตกรรมสีเขียวเพื่อความยั่งยืน มุ่งหน้าสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มรายได้จากธุรกิจสีเขียวเป็น 40-50% ในปี 67

              ส่วนผลการดำเนินงานในปี 63 นั้น บริษัท บางจาก และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 1.36 แสนล้านบาท ลดลง 28% เมื่อเทียบกับปีก่อน มีกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจ่าย (EBITDA) 4.1 พันล้านบาท ลดลง 53% เมื่อเทียบกับปีก่อน และมี Operating EBITDA 8.87 พันล้านบาท ลดลง 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน

เนื่องมาจากการที่กลุ่มบริษัทฯ เผชิญกับความท้าทายทั้งจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (Covid-19) ที่ทวีความรุนแรงมากจนถึงระดับที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงจากการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทั่วโลกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

บางจากเล็งธุรกิจใหม่ทั้งใน-ต่างประเทศ ตั้งเป้ารายได้ธุรกิจสีเขียว 40-50% ปี 67

อีกทั้งปัจจัยกดดันในเรื่องสงครามราคาน้ำมันของผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ระหว่างซาอุดิอาระเบียกับรัสเซีย ทำให้ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปปรับลดลงอย่างมาก ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันได้รับผลกระทบมากที่สุด ขณะที่กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า และธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพมีผลดำเนินงานเติบโตขึ้น จึงช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของผลการดำเนินงานในภาพรวม

ความผันผวนของราคาน้ำมันและการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกรวมถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ส่งผลกระทบหนักสุดต่อธุรกิจในช่วงไตรมาส 2 ของปี 63 แต่ในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจเริ่มมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น ความต้องการใช้น้ำมันในประเทศฟื้นตัวต่อเนื่องจากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐในการช่วย กระตุ้นเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี จากการที่กลุ่มบริษัทได้พยายามลดผลกระทบจากโควิด-19 โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการทำงานที่กระชับ คล่องตัว ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ มีการปรับแผนการดำเนินธุรกิจและปรับองค์กรเพื่อสร้างช่องทางในการเข้าถึงตลาดและลูกค้า ตลอดจนดำเนินมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและหารายได้เพิ่ม รวมทั้งให้ความสำคัญในการควบคุมค่าใช้จ่าย สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 900 ล้านบาท จากงบประมาณที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในปี 63 ที่ต่ำกว่าปี 62 กว่า 30% ทำให้กลุ่มบริษัทฯ มี Inventory Loss 4,743 ล้านบาท

อีกทั้งมีการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าทรัพย์สิน 2.37 พันล้านบาท และการด้อยค่าตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) 891 ล้านบาท ส่งผลให้ปี 63 มีผลขาดทุนสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 6.96 พันล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 5.50 บาท อย่างไรก็ดี จากการปรับโครงสร้างการลงทุน ใช้เครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมในการบริหารจัดการเพื่อประโยชน์สูงสุด พร้อมรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในปี 64 ทำให้มีกระแสเงินสด ณ สิ้นปี 63 ที่ 2.16 หมื่นล้านบาท

              สำหรับผลการดำเนินงานในแต่ละกลุ่มธุรกิจมีดังนี้

              กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน  ได้รับผลกระทบอย่างมากจากความผันผวนของราคาน้ำมันและค่าการกลั่นที่อยู่ในระดับต่ำ โดยมีค่าการกลั่นพื้นฐาน 3.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลง 2.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลจากปีก่อน ทำให้โรงกลั่นต้องปรับลดกำลังการผลิตมาอยู่ในระดับ 97,200 บาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 81% ของกำลังการผลิตรวมของโรงกลั่น อีกทั้งราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงอย่างรุนแรงในปีนี้ ส่งผลให้โรงกลั่นมี Inventory Loss 4.37 พันล้านบาท

              “บริษัท BCP Trading ยังคงเติบโต มีธุรกรรมการซื้อขายน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันเพิ่มขึ้น 20% และกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยหลักมาจากการปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์น้ำมันเตาเกรดกำมะถันต่ำเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ตามมาตรการ IMO อีกทั้งมีการซื้อขายผลิตภัณฑ์ใหม่ และขยายตลาดการซื้อขาย”

              กลุ่มธุรกิจการตลาด ปริมาณการจำหน่ายรวมลดลง 17% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันในประเทศปรับตัวลดลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและสายการบินได้รับผลกระทบอย่างหนักยังคงขยายจำนวนสถานีบริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีจำนวนสถานีบริการน้ำมัน ณ สิ้นปี 2563 ทั้งสิ้น 1,233 สาขา มีส่วนแบ่งการตลาดด้านปริมาณการจำหน่ายน้ำมันผ่านสถานีบริการปี 2563 อยู่ที่ 15.6 (ตามข้อมูลกรมธุรกิจพลังงาน)

และครองความนิยมเป็นลำดับที่ 1 ในใจของผู้ใช้บริการ 2 ปีซ้อน จากดัชนีวัดความพึงพอใจของลูกค้าตามผลประเมิน Net Promoter Score (NPS) จำหน่ายน้ำมันดีเซล B10 ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นน้ำมันดีเซลเกรดพื้นฐานในสถานีบริการ น้ำมันทั่วประเทศ และได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ Gasohol S EVO FAMILY พร้อมทั้งยกระดับ E20 S EVO เป็นน้ำมันคุณภาพพรีเมียม นอกจากนี้ ยังได้นำนวัตกรรมระบบ Digital Payment มาใช้สำหรับการชำระเงิน เป็นรายแรกในประเทศไทยที่ให้บริการแบบครบวงจร

ร้านกาแฟอินทนิล ณ สิ้นปี 63 มีทั้งสิ้น 673 สาขา เป็นร้านกาแฟรายเดียวที่ได้รับรางวัล Best Coffee GET Awards 2019 และ Best Operation Grab Food Awards 2020 จาก Food Delivery อีกทั้งยังได้รับรางวัล Thai Star Packaging Award 2020 ประเภทบรรจุภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย

กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า เติบโตเพิ่มขึ้นจากการขยายการลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำ Nam San 3A และ Nam San 3B กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวมทั้ง 2 โครงการ 114 เมกกะวัตต์ ในสปป.ลาว และการเข้าซื้อโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย “RPV” จำนวน 4 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 20 เมกกะวัตต์ ส่งผลให้มีปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้ารวมเพิ่มขึ้น 100% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทำให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาทั้งหมดจำนวน 473.7 เมกกะวัตต์ และรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วม 270 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากปีก่อน

สาเหตุหลักมาจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ ในประเทศอินโดนีเซีย มีการบันทึกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการ Refinance เงินกู้เดิม 172 ล้านบาท จากการ Refinance เงินกู้ดังกล่าว ทำให้บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) (BCPG) ได้รับชำระคืนค่าหุ้นจากการลดทุนของบริษัทร่วม Star Energy Group Holding Pte. Ltd., จำนวนประมาณ 842 ล้านบาท (ตามสัดส่วนที่เป็นของ BCPG 33.33%)

นอกจากนี้ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นบริษัท BCPG ได้อนุมัติแผนการเพิ่มทุนจดทะเบียนด้วยการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน 1.3 พันล้านหุ้น คาดว่าจะได้เงินทุนเพิ่มราว 1.02 หมื่นล้านบาท โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายการลงทุนตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี และเงินเพิ่มทุนบางส่วนจะถูกนำไปใช้ชำระคืนเงินกู้ยืม ทำให้โครงสร้างทางการเงินของบริษัทฯ มีความแข็งแกร่งมากขึ้น

              กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ มีผลดำเนินงานเติบโตต่อเนื่องและสูงสุดตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการมา โดยธุรกิจไบโอดีเซล กำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นมากถึง 177% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุนวัตถุดิบได้ดีขึ้น และรายได้จากการขายปรับเพิ่มขึ้นจากราคาขายเฉลี่ยผลิตภัณฑ์ B100 ปรับสูงขึ้นค่อนข้างมาก เป็นผลมาจากการที่ภาครัฐออกมาตรการส่งเสริมการใช้น้ำมันปาล์ม ด้านธุรกิจเอทานอล ราคาขายเอทานอลปรับเพิ่มขึ้นตามราคาต้นทุนวัตถุดิบ ถึงแม้ความต้องการใช้เอทานอลในภาคพลังงานจะปรับลดลง แต่สามารถจำหน่ายเอทานอลเกรดอุตสาหกรรมได้เพิ่มขึ้น เพื่อนำไปผลิตเจลแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค ส่งผลให้กำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น 26% เมื่อเทียบกับปีก่อน

              “บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ได้ขยายสู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง ผ่านการลงทุนในบริษัท Manus Bio Inc. ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพชั้นนำที่มีชื่อเสียงระดับโลกในฐานะผู้นำด้านผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูงด้วยเทคโนโลยีชีวนวัตกรรมจากกระบวนการหมักขั้นสูง (advanced bio-fermentation) โดยซื้อหุ้น Series B Preferred Stock มูลค่าประมาณ 800 ล้านบาท และได้ร่วมก่อตั้งบริษัทร่วมทุน WIN lngredients เพื่อดำเนินธุรกิจดังกล่าวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงมีแผนตั้งโรงงาน Synthetic Biology เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์แบบ Multi-Products แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สนองความต้องการผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญต่อสุขภาพ”

              กลุ่มธุรกิจผลิตทรัพยากรธรรมชาติ ผลการดำเนินงานลดลงอย่างมาก เนื่องจากรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม OKEA ขณะที่ปีก่อนรับรู้ส่วนแบ่งกำไร โดยในปี 63 ราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่ปรับลดลงอย่างมากจากผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัส โควิด-19 ส่งผลให้ OKEA มีรายได้ลดลง และมีการตั้งด้อยค่าเพิ่มขึ้นจากการตั้งด้อยค่า Technical Goodwill, Ordinary Goodwill ของแหล่งผลิต Draugen และ Gjøa

รวมถึงมีการตั้งด้อยค่าทรัพย์สินที่อยู่ระหว่างการพัฒนาของแหล่ง Yme จากการเลื่อนแผนการผลิตและการใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้น แต่มีการรับรู้ผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจากการแข็งค่าของสกุลเงินโครนนอร์เวย์ (NOK) เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ต้นทุนทางการเงินปรับลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยบางส่วนโอนไปเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนโครงการและมีการรับรู้รายการภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีซึ่งช่วยลดผลขาดทุนสุทธิในปีนี้

ทั้งนี้ OKEA ได้เข้าร่วมทุนในแหล่งปิโตรเลียม Calypso และ Aurora ใกล้กับแหล่ง Draugen และ Gjøa ซึ่งจะทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายในการพัฒนาและการผลิตจากการ synergy ร่วมกันได้ อีกทั้งการเข้าร่วมลงทุนในแหล่งปิโตรเลียม Vette และได้รับใบอนุญาตในการสำรวจและพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมใหม่จำนวน 6 ใบ ซึ่งช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับพอร์ตการลงทุนของ OKEA ในช่วงปลายปี บริษัท BCP Innovation Pte. Ltd ได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นใน Lithium Americas Corp. (LAC) ซึ่งมูลค่าที่ได้รับจากการลดสัดส่วนการลงทุนในครั้งนี้ประมาณ 136 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำรองไว้สำหรับหาโอกาสขยายธุรกิจในอนาคต

ในส่วนของโครงการด้านนวัตกรรม บางจากฯ เป็นรายแรกในประเทศไทย ที่นำร่องเปิดตัวสตาร์ทอัพ "Winnonie" (วิน No หนี้) เพื่อช่วยลดภาระหนี้สินของวินมอเตอร์ไซค์ ด้วยการนำนวัตกรรมพลังงานสีเขียวมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามาทดลองให้วินมอเตอร์ไซค์ในพื้นที่รอบสำนักงานใหญ่และโรงกลั่นน้ำมันบางจากเช่า ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย พร้อมการเปลี่ยนแบตเตอรี่แบบ swapping ที่ตู้สำหรับแลกเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่สถานีบริการน้ำมันบางจาก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :