บูรณาการแนวคิดเชิงระบบ ผลักดันออมสิน สู่ Social Bank เต็มรูปแบบ

19 ก.พ. 2564 | 12:10 น.

ในฐานะที่เป็นธนาคารเพื่อสังคม ที่มีเป้าหมายชัดเจนในการลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาความยากจน ต้องการ “Making POSITIVE Impact on Society” ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเกิดผลลัพธ์ที่ดีจริงๆ กับประชาชนและสังคม

เมื่อกลางปี 2563 ผู้อำนวยการคนใหม่ของธนาคารออมสิน "วิทัย รัตนากร" ได้ประกาศวิสัยทัศน์ นำองค์กรสู่การเป็น Social Bank เต็มรูปแบบ พร้อมทั้งมีการจัดทัพปรับโครงสร้างองค์กร ปรับกระบวนการจัดการ รวมทั้งเสริมเรื่องนวัตกรรม เพื่อเพิ่มคุณภาพองค์กรอย่างเต็มที่ จนทำให้ล่าสุด ได้คว้ารางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award : TQA) ประจำปี 2563 ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ มาครอง ซึ่งถือเปป็นองค์กรที่ 7 ที่ได้รับรางวัลนี้

"วิทัย รัตนากร" ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวบนเวทีการประกาศรางวัลว่า รู้สึกภูมิใจอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารออมสินได้เข้ารับการตรวจประเมินตั้งแต่ปี 2558 และได้รับรางวัล TQC Plus: Operation ในปี 2562, รางวัล TQC Plus: Customer ในปี 2561 และรางวัล TQC ในปี 2560

ธนาคารออมสินเป็นธนาคารรัฐขนาดใหญ่ มีสินทรัพย์กว่า 2.9 ล้านล้านบาท มีทั้งลูกค้าสินเชื่อ และลูกค้าเงินฝาก กว่า 22 ล้านราย ส่วนใหญ่ออมสินทำธุรกิจเชิงนโยบายและเชิงสังคม ลูกค้าส่วนใหญ่ของธนาคารคือกลุ่มประชาชนที่ธนาคารพาณิชย์อาจไม่ได้สนใจ แต่ถือเป็นกลุ่มประชาชนฐานรากและเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ผู้อำนวยการธนาคารออมสินคนนี้ ต้องการให้ธนาคารออมสินทำหน้าที่ดูแลอย่างเต็มที่ ไม่ว่ากลุ่มผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการรายย่อย และองค์กรชุมชน

"การปรับองค์กร เราบูรณาการแนวคิดในเชิงระบบ มีการปรับปรุงกระบวนการจัดการ ปรับปรุงคุณภาพ ตอบสนองความต้องการของลูกค้า และปรับนวัตกรรม ตามแนวทางของ TQA ทำให้ประสิทธิภาพเราดีขึ้น การที่ออมสินเป็นองค์กรขนาดใหญ่ เมื่อองค์กรมีประสิทธิภาพ ก็สามารถสร้างอิมแพ็คให้ประเทศและสังคมได้ดียิ่งขึ้น"

"วิทัย" กล่าวว่า ปีที่แล้วได้ปรับองค์กรเป็น Social Bank ธนาคารเพื่อสังคม พร้อมทั้งทำธุรกิจควบคู่ ข้างหนึ่งของออมสิน คือ การทำหน้าที่ธนาคารในเชิงพาณิชย์ อีกข้างหนึ่ง ก็ดูแลภารกิจเชิงสังคมด้วย เชิงพาณิชย์ทำกำไรมาซัพซิไดร์ฟดูแลธุรกิจเชิงสังคม

ปีที่แล้ว ตั้งแต่ต้นปี ประเทศไทยมีปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจมีปัญหา ธนาคารออมสิน ในฐานะที่เป็นธนาคารเพื่อสังคม ที่มีเป้าหมายชัดเจนในการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาความยากจน ต้องการ “Making POSITIVE Impact on Society” จริงๆ ...ต้องการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเกิดผลลัพธ์ที่ดีจริงๆ กับประชาชนและสังคม

บูรณาการแนวคิดเชิงระบบ ผลักดันออมสิน สู่ Social Bank เต็มรูปแบบ

จากการแพร่ระบาดของโควิด -19 ทำให้ปีที่แล้วปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ และความยากจน รุนแรงขึ้นมากๆ ธนาคารออมสินนจึงเข้าไปดำเนินการตามนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี รวม 17 โครงการ ช่วยคนไป 5 ล้านคนทั้งทางตรงทางอ้อม และใส่เงินเข้าระบบ 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเงินนอกเหนือจากภารกิจปกติ มีการปรับกำไรบางส่วนลงมา เพื่อซัฟซิไดร์ฟส่วนของสังคม  

นอกจากนี้ ในแง่ของนวัตกรรม ตั้งแต่สิ้นปี 2563 ธนาคารออมสิน ได้เปลี่ยนการบริหารเข้าสู่ระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ เป็นโมบายแบงกิ้ง ปีที่แล้วมีการลอนซ์ Digital Lending เฟสหนึ่งสำเร็จ และปลายปีนี้จะเสร็จเฟสสอง และจากการลอนซ์เฟสหนึ่งไปเมื่อมกราคม 2564 ที่ผ่านมา ทำให้สามารถปล่อยสินเชื่อได้ 4 .5 แสนราย ภายใน 10 วัน ซึ่งจำนวน 4.5 แสนรายนี้ เทียบเท่ากับฐานลูกค้าของแบงก์ขนาดกลางทั้งแบงก์เลยทีเดียว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

การทำ Digital Lending ก็คือส่วนหนึ่งของภารกิจที่ "วิทัย" ประกาศไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว ในการนำธนาคารออมสินเข้าสู่ธุรกิจ Non-Bank อย่างเต็มตัว ภายใต้การมุ่งสู่ Social Bank ด้วยการสนับสนุนแหล่งเงินทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาดในปัจจุบัน เพื่อช่วยเหลือประชาชนรายย่อย/ผู้มีรายได้น้อยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยสิ่งที่มีแผนดำเนินการ อาทิ สินเชื่อบุคคล/บัตรกดเงินสด บัตรเครดิต สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ โดยมีเป้าที่จะลดภาระดอกเบี้ยของผู้กู้ลงให้ได้ 8-10%

บูรณาการแนวคิดเชิงระบบ ผลักดันออมสิน สู่ Social Bank เต็มรูปแบบ

การพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพองค์กรมาจนถึงขณะนี้ แม่ทัพคนใหม่ของธนาคารออมสิน บอกว่า ต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารภายในองค์กรอย่างมาก สิ่งที่ต้องการเปลี่ยนในวันนี้ ไม่ได้เปลี่ยนตัวตนของออมสิน เพราะออมสินมีพันธกิจในการดูแลสังคมอยู่แล้ว เพียงแต่จะทำให้มีความชัดเจนมากขึ้น และการจะทำให้ภารกิจในการดูแลสังคมชัดเจนมากขึ้นได้ ภายในองค์กรต้องมีการปรับในหลายด้าน ทั้งการลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย การปรับลดงบโฆษณาประชาสัมพันธ์

ส่วนสิ่งที่ทำดีออยู่แล้ว ก็ต้องต่อยอดให้ดีขึ้น โครงการต่างๆ ต้องดำเนินการให้เป็นรูปธรรมและมีผลต่อสังคมอย่างเห็นได้ชัด โดยการใช้ Digital Banking เป็นตัวขับเคลื่อนภารกิจ Social Bank ให้มีคุณภาพ และพุ่งเป้าสู่ความสำเร็จในที่สุด

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  หน้า 24 ฉบับที่ 3,654 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564