IRPC ตั้งเป้ามีกำไรปี 64 หลังขาดทุน 2 ปีติด

18 ก.พ. 2564 | 12:00 น.

IRPC ตั้งเป้ามีกำไรปี 64 หลังขาดทุน 2 ปีติด ชี้ 6 เดือนแรกมีกำไรเกินเป้าหมายจากภาวะตลาด

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะกลับมามีกำไรอีกครั้งในปี 64 หลังจากที่ขาดทุนสุทธิ 2 ปีติดกัน ตั้งแต่ปี 62 และ 63 ประมาณ 1.17 พัน้ลานบาท4 ล้านบาท และ 6.15 พันล้านบาท โดยแนวโน้มธุรกิจปิโตรเคมีในปีนี้จะดีขึ้นกว่าปีก่อน ส่วนธุรกิจการกลั่น บริษัทวางเป้ากำลังการกลั่นไว้ที่ 1.9 แสนบาร์เรลต่อวัน  ซึ่งคาดว่าค่าการกลั่นในปีนี้จะดีกว่าปีก่อนเช่นกันเนื่องจากโรงกลั่นอินเดียมีการปิดซ่อมบำรุง และความต้องการใช้เบนซินในจีนที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ 6 สัปดาห์แรกของปี 64 ที่ผ่านมา บริษัทมีผลกำไรเป้าหมายมาจากภาวะตลาด และขีดความสามารถขององค์กรทำให้สามารถตอบสนองตลาดได้ทันท่วงที มั่นใจว่าไตรมาส 1 นี้ และทั้งปี 64 จะมีกำไร โดยบริษัทตั้งงบลงทุน 5 ปี (2564-68) อยู่ที่ 3.6 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนโครงการต่อเนื่อง อาทิ โครงการ Utra Clean Fuel Project (UCF) และใช้ในการซ่อมบำรุงโรงงานตามปกติ  ซึ่งเงินลงทุนดังกล่าวยังใช้เพื่อการเข้าซื้อกิจการหรือควบรวม (M&A) หากมีดีลโครงการที่น่าสนใจก็สามารถปรับเพิ่มวงเงินได้
              ส่วนการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่นั้น  บริษัทมีความพร้อมที่จะรับมือ  โดยมีการปรับเปลี่ยนทั้งโครงสร้างต้นทุน รูปแบบการทำธุรกิจและวิธีการทำงานที่เข้าใจ เข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคให้มากยิ่งขึ้นด้วยการใช้นวัตกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ พร้อมทั้งขยายขอบเขตการลงทุน สร้างความร่วมมือกับพันธมิตรและการพัฒนาธุรกิจไปยังกลุ่มธุรกิจใหม่

นายชวลิต กล่าวต่อไปอีกว่า IRPC ได้กำหนดเป้าหมายและวิธีการเดินหน้าสู่ความสำเร็จด้วยกลยุทธ์ 3 S ได้แก่ Strengthening the core คือการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจหลัก ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงโรงกลั่นและปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลตามมาตรฐานยูโร 5 ที่คาดว่าจะดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2566, Striving the growth เน้นขยายการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพ, Sustaining the future การพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน
 

บริษัทให้ความสำคัญต่อการเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง กลุ่มผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty) จากปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 13% จะเพิ่มเป็น 30% ใน 5 ปีข้างหน้า โดยเดินหน้าขยายธุรกิจด้วยความร่วมมือกับพันธมิตรสู่ปิโตรเคมีปลายน้ำ ให้ใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น เช่น การร่วมมือกับ ปตท.ในการศึกษาการผลิต Melt Blown ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 และNitrile Butadiene Latex วัตถุดิบที่นำไปผลิตเป็นถุงมือแพทย์ และการร่วมทุนกับบริษัท เจแปน โพลิโพรพิลีน คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ JPP เพื่อผลิตและจำหน่ายเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษพีพีคอมพาวด์ ให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี (EV) ทั้งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“บริษัทตั้งเป้าเพิ่มกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและภาษี (EBITDA) ที่ 1.4 หมื่นล้านบาทใน 5 ปีข้างหน้าจากการดำเนินการโครงการ Strengthen IRPC เพื่อสร้างความแข็งแกร่งธุรกิจ, โครงการ Utra Clean Fuel Project (UCF) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโรงกลั่นและผลิตดีเซลมาตรฐานยูโร 5, การใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานและสินทรัพย์ที่มีอยู่ (Infrastructure and Asset), การนำเทคโนโลยีมาใช้ลดความสูญเสียจากการปิดซ่อมโรงงานที่ไม่ได้วางแผนไว้ (Reliability Improvement) และโครงการ NOAH ที่ให้พนักงานสมัครใจออกเพื่อลดต้นทุน ช่วยกระชับขนาดองค์กรให้เล็กลงและเพิ่มความคล่องตัว”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :