“จิรายุ”ชำแหละ“ศักดิ์สยาม”ตั้ง 8 อรหันต์ล้มประมูลรถไฟสายสีส้ม

18 ก.พ. 2564 | 09:38 น.

“จิรายุ”เปิด“ปฏิบัติการ 16 วันทันใจนาย” จัดหนัก “ศักดิ์สยาม”ตั้ง 8 อรหันต์ มาตรา 36 เปลี่ยนเงื่อนไขประกวดราคาล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

วันนี้(18 ก.พ.64) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นวันที่ 3  นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และสายสีส้ม มีพิรุธ มีไอ้โม่ง และมีผู้ที่ได้รับประโยชน์มากมายว่า เรื่องนี้มีตัวละครหลักหลากหลาย เสียดายที่นักกฎหมายอย่างนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และทีมเศรษฐกิจอยู่ด้วย คิดว่าจะรู้จริงแต่รู้ไม่ทันพรรคร่วมรัฐบาล

โดยเฉพาะ นายศักดิ์สยาม ที่บริหารราชการแผ่นดินโดยเห็นแก่ผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง โดยไม่คำนึงถึงผลเสียหายที่เกิดกับประเทศชาติและประชาชน เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนผูกขาด เพื่อให้มีสิทธิดำเนินงานในกิจการของรัฐ โดยไม่รักษาผลประโยชน์ของรัฐ ทุจริตต่อหน้าที่และปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในหน่วยงานที่กำกับดูแล สมคบกันเพื่อปิดบังการทุจริต เรื่องนี้ต้องถึงป.ป.ช. และหน่วยงานอื่นต่อไป เพื่อเป็นบรรทัดฐานให้ ครม. ไม่ว่าจะมายุคไหน มาจากคสช.หรือ มาจากการเลือกตั้ง เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานต่อไป

                                                            จิรายุ ห่วงทรัพย์ อภิปรายไม่ไว้วางใจ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

นายจิรายุ กล่าวว่า อย่าหาทำแบบนี้เด็ดขาดโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท ว่า การประมูลโครงการดังกล่าวมีการดำเนินการตามพรบ.ร่วมทุนฯ โดยมีการตั้งคณะกรรมการ 8 อรหันต์ ตามมาตรา 36 ส่วนใหญ่เป็นคนในกระทรวงคมนาคม และมีอำนาจสามารถแก้ไข้เปลี่ยนแปลงการประกวดราคาได้  

โดยมีการจัด “ตามปฏิบัติการ 16 วันทันใจนาย” เดิมพันที่เป็นผลประโยชน์ พร้อมใช้ทฤษฎีสมคบคิด แบ่งงานกันทำมีเจตนาพิเศษ โดยวันที่ 7ส.ค. บริษัท อิตาเลียนไทย ยื่นเรื่องขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเปิดประมูลว่าทำไม่ได้ ต่อมาวันดีเดย์ในวันที่ 21 ส.ค.63 จึงมีการแก้ไขเงื่อนไขการเปิดประมูล และได้เชิญ นายภคพงษ์ ศิริกันธรมาศ ผู้ว่าฯ รฟม.มาร่วมประชุมด้วย ซึ่งไม่ใช่คณะกรรมการตามมาตรา 36 และจากนั้นจึงมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการประกวดราคาสายสีส้มในเวลาต่อมา

จากบันทึกการประชุมในวันที่ 21 ส.ค.63 มีเนื้อหาว่า คณะกรรมการบางคน มีการทักว่าทำได้หรือไม่ และจะเอื้อประโยชน์ให้ใครหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีใครทำ และมีคณะกรรมการบางคนท้วงติงว่า เมื่อแก้ไขการประกวดราคา และเปิดประมูลไปแล้วจะขัดกฎหมายหรือไม่ แต่ผู้ว่าฯ รฟม. บอกว่าเราสงวนสิทธิ์ไปแล้วว่าเปลี่ยนแปลงได้ และการแก้ไขแล้วจะเป็นประโยชน์กับภาครัฐและเอกชน

แต่ไฮไลต์สำคัญคือ ตัวแทนจากบริษัทที่ปรึกษา เป็นตัวแปรสำคัญของเรื่องนี้ ตอบว่าเปลี่ยนเงื่อนไขการประกวดราคาได้ กระทั่งที่ประชุมมีมติแก้ไขเงื่อนไขการประมูล เว้นแต่ผู้แทนจากสำนักงบประมาณเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งตนอยากถามว่าทำไมผู้ว่าฯ รฟม. พึ่งมาคิดเปลี่ยนแปลง มีอะไรไม่ชอบมาพากลหรือไม่

ต่อมามี บีทีเอส เอกชนที่ซื้อซองประมูลไปแล้ว ได้ฟ้องศาลปกครอง ต่อมาคณะกรรมการทั้ง 8 คน ก็ล้มประมูล โดยไม่รอการตัดสินของศาล ขอบอกว่า คณะกรรมการฯ ได้ใช้เทคนิคทางการกฎหมายขอสงวนสิทธิ์ในการยกเลิก ซึ่งไม่มีใครเขาทำกัน และ ตนจะบอกว่าตัวแทนจากบริษัทที่ปรึกษา ที่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการประกวดราคา ได้ลาออกจากบริษัทที่ปรึกษาในโครงการสีส้ม กระทั่ง ต่อมาในวันที่ 1 ตุลาคม ได้เป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทอท. คุมสายงานวิศกรรมการก่อสร้าง

“บอร์ดทอท.ตั้งเป็นวาระลับ ถือเป็นเรื่องที่น่าสงสัย เพราะโครงการสีส้มเป็นโครงการใหญ่แล้วทำกันอย่างนี้หรือ นักลงทุนที่ไหนจะกล้ามาลงทุน เพราะเปิดประมูลไม่ตรงไปตรงมา แบ่งงานกันทำ และเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง โดยไม่เห็นประโยชน์ของประเทศชาติและพี่น้องประชาชนใช่หรือไม่ และอยากเตือนเอาไว้ว่า ก่อนหน้านี้ศาลก็ได้ตัดสินจำคุก 6 ปี อดีตผู้ว่าฯ รฟท.คดีแอร์พอร์ตลิงค์เอาไว้เป็นอุทาหรณ์ จึงเป็นเหตุให้ผมไม่ไว้วางใจนายกฯ และรมว.คมนาคม” นายจิรายุ ระบุ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :