‘อินโนบิก’สั่งลุย 4 ธุรกิจ สร้างรายได้ใหม่ปตท.20%

19 ก.พ. 2564 | 12:35 น.

“อินโนบิก” ลุยเดินหน้า 4 กลุ่มธุรกิจ ยา อาหารเพื่อสุขภาพ อุปกรณ์ทางการแพทย์ นวัตกรรมทางการแพทย์ ตั้งเป้า 10 ปีสร้างรายได้ใหม่เข้าพอร์ตธุรกิจขั้นปลายของ ปตท. 10-20% ลดเสี่ยงรายได้จากน้ำมันที่ผันผวน 

คณะกรรมการ(บอร์ด) บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ได้มีมติเมื่อปลายปี 2563 อนุมัติจัดตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเชีย) จำกัด ถือหุ้น 100% โดยบริษัท ปตท.โกลบอล แมนเนจเมนท์ จำกัด(PTTGM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท. ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรกไม่เกิน 300 ล้านบาท  และอนุมัติเพิ่มทุนเป็นประมาณ 2,000 ล้านบาทตามลำดับเพื่อรองรับการลงทุนของ ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ปตท. ในธุรกิจใหม่ตามกลยุทธ์ New S-Curve : Life Science

นายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเชีย) จำกัด เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานของบริษัท อินโนบิกฯ ว่า ช่วง 1-3 ปีแรก จะมุ่งเน้นเรื่องการสร้างการรับรู้  และสร้างความร่วมมือระหว่างบริษัททางด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Science) ทั้งในและต่างประเทศ โดยมองว่าเป็นธุรกิจที่มีโอกาสในการเติบโตได้ในอนาคต  บุรณิน รัตนสมบัติ

ทั้งนี้ ประเทศไทยถือว่ามีความพร้อม เนื่องจากมีความแข็งแกร่งในการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) หากสามารถต่อยอดได้ก็จะนำไปสู่เรื่องของยา รวมถึงอาหาร และการตรวจวินิจฉัยแบบอุปกรณ์ในเรื่องของการแพทย์ ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถทำเรื่องสาธารณะสุขได้แบบครบวงจร  ส่วนในระยะต่อไปก็จะมองเรื่องการพัฒนายา รวมถึงโรงงาน  สารตั้งต้นที่ใช้ผลิตยา  และการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) แบบเข้มข้นมากขึ้น  

สำหรับกลยุทธ์ดังกล่าวจะดำเนินงานใน 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1. ยา โดยจะมุ่งเน้นยาที่พ้นระยะเวลาที่มีลิขสิทธิ์  ซึ่งจะทำให้สามารถสร้างมูลค่าได้มาก โดยจะพัฒนาให้เกิดเป็นยาที่มีการจดลิขสิทธิ์เป็นลำดับแรกออกสู่ตลาด ซึ่งปัจจุบันได้มีความร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรม และสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์เรื่องโรงงานผลิตยามะเร็ง โดยล่าสุดได้มีกำหนดพื้นที่ในการก่อสร้างโรงแล้วที่นิคมอุตสาหกรรมวนารมย์ของ ปตท. หรือ PTT WEcoZi อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง  นอกจากนี้ก็จะมีความร่วมมือกับบริษัทในต่างประเทศ  เพื่อมองถึงโอกาสในการควบรวมกิจการ (M&A) ต่อไป 

2.อาหารเพื่อสุขภาพ โดยได้มีการศึกษาโอกาสทางธุรกิจไม่ว่าจะเป็นอาหารสุขภาพในรูปแบบของธรรมชาติ (Functional food) หรืออาหารแห่งอนาคต  (Future Food) ซึ่งขั้นตอนในปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรทางธุรกิจอยู่  โดยอาจจะมองเรื่องการพัฒนาสารตั้งต้น ซึ่งเป็นการต่อยอดสินค้าเกษตร นำมาทำเป็นอาหารที่สะดวก และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ   

3.อุปกรณ์ทางการแพทย์ และวัสดุสิ้นเปลือง โดยต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเคมีของบริษัท  ใช้วัสดุปิโตรเคมีในกลุ่ม ปตท. ขยับขยายมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น การร่วมมือกันในกลุ่มไม่ว่าจะเป็น บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (IRPC) และ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ในการนำวัตถุดิบที่เป็นเม็ดพลาสติกมาต่อยอด โดยทำเป็นสารตั้งต้นในการผลิตถุงมือยางสังเคราะห์เพื่อใช้ทางการแพทย์  ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนของการเจรจาทางธุรกิจ  และ  4. ธุรกิจที่สามารถเปลี่ยนแปลง หรือยกระดับ หรือการวินิจฉัยโรค  โดยปัจจุบันอินโนบิกได้มีการร่วมมือกับสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) พัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคโควิด-19 (COVID-19) 

“โจทย์ที่สำคัญของอินโนบิก อย่างน้อยต้องมีโปรดักส์แชมป์เปี้ยน หรือบิสซิเนสแชมป์เปี้ยน  เพื่อให้ภายนอกได้เห็น โดยผลิตภัณฑ์ที่ออกมาจะมุ่งเน้นเรื่องของนวัตกรรม  เป็นผลิตภัณฑ์ที่แตกต่าง ทั้งนี้ธุรกิจข้างต้นถือเป็นธุรกิจใหม่ โดยในภาวะที่ธุรกิจปิโตรเคมี หรือโรงกลั่นมีความผันผวน และอาจจะเป็นช่วงที่มีโอกาสถูกแทนที่ได้ ซึ่งธุรกิจที่กล่าวมาจะช่วยเสริมให้พอร์ตของธุรกิจปิโตรเคมีและปิโตรเลียมขั้นปลายมีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งใน 10 ปีข้างหน้าตั้งเป้าหมายว่าพอร์ตโฟลิโอของธุรกิจขั้นปลายจะต้องมีอย่างน้อย 10-20% ที่มาจากธุรกิจใหม่ โดยจะไม่ใช่แค่เรื่องยาหรือวัตถุดิบชนิดพิเศษ ซึ่งปตท. จะมีรายได้ที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ได้พึ่งพาแต่เรื่องนํ้ามันกับก๊าซ” 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,654 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564